วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกาะแกะ

หลังจากได้เห็นความน่ารักน่าหยิกของลิงที่เกาะแม่นิ่มๆ กับความเศร้าแซ้ดของลิงที่เกาะแม่แข็งๆ ไปแล้ว นายฮาร์โลวยังสังเกตอะไรอีกอยากนึง ไอ้ลิงที่ได้เกาะแม่นิ่มๆ มันจะชอบออกไปเดินเพ่นพ่านดูโน่นดูนี่ โลดโผน โจนทะยานไปเรื่อย แต่ว่าไอ้ลิงที่เกาะแม่แข็งจะไม่เซลฟ์เท่า จะออกไปเขย่อแขย่ง ไม่ค่อยกล้าออกไปผจญภัยเท่าไร นายฮาร์โลวเลยไปคุยกับนักจิตวิทยาพัฒนาการแล้วถามว่าเด็กมันเป็นอย่างนี้เหมือนกันรึเปล่า อื่ม... นักจิตวิทยาพัฒนาการก็ออกบอกว่า เอ ก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน แต่ว่าเป็นธรรมชาติของเด็กที่จะออกไปวิ่งเล่น ผจญภัยไปเรื่อย แต่อาจเป็นเพราะว่าเด็กที่เห็นคือเด็กที่มีพ่อแม่ปกติทั่วไป อื้ม ลองมาทำการทดลองดีกว่า มากันดิ๊ว่าเด็กจะทำตัวยังไงถ้าจู่ๆ พ่อแม่หายไปแว้บนึงแล้วกลับเข้ามา เด็กยังจะคลานออกไปเล่น คุ้ยเขี่ยอะไรอยู่เหมือนเดิมรึเปล่า

การทดลองนี้คลาสสิคทีเดียว การทดลองนี้ดังมากมีชื่อว่าสถานการณ์แปลกวิสัย (Strange situation) การทดลองนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนขนาดนั้น แต่ว่าอาศัยมีการจัดฉากเล็กน้อย
ฉากแรก
แม่อุ้มเด็กเข้ามาในห้องที่มีของเล่นมากมาย ปล่อยเด็กให้คลานไปเอาของเล่นมาเล่น กลิ้งไปกลิ้งมา
ฉากที่สอง
แม่ก็บอกว่า ลูกจ๋าเดี๋ยวสักพักแม่กลับมานะจ๊ะ ว่าแล้วพี่เลี้ยงที่เป็นผู้ช่วยนักจิตวิทยาก็เดินเข้าเปลี่ยนมือกับแม่
ฉากที่สาม
ปล่อยให้เด็กอยู่กับพี่เลี้ยงคนนั้นไปสักแป๊บนึง
ฉากที่สี่
แม่กลับเข้ามาเปลี่ยนมือกับพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงก็แอบย่องออกไปปล่อยให้แม่กับเด็กอยู่ด้วยกันสองคน

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้นักจิตวิทยาก็แอบมองผ่านกระจกแล้วก็จดๆ พฤติกรรมเด็กในแต่ละฉาก การทดลองแบบนี้เป็นการทดลองแบบสำรวจ ไม่มีการทำสถิติหรืออะไรอย่างการทดลองที่เคยผ่านมา นักจิตวิทยาก็แค่ดูเฉยๆ แล้วก็สรุปว่าเห็นอะไรบ้าง เอ้าเห็นอะไรบ้างล่ะ

ฉากแรก
เด็กก็วิ่งพล่านไปทั่วหยิบหาของเล่นมาเล่นกับแม่อะไรก็ว่าไป ดูความสุขน่ารักคิกขุไปงั้นเอง
ฉากที่สอง
เด็กเริ่มเหวอ หวา แม่หายไปแล้ว ไปไหนล่ะเนี่ย ไปไหนละเนี่ย
ฉากที่สาม กับฉากที่สี่นี่แหละครับที่น่าสนใจ เด็กแต่ละคนก็ต่างกันไปแต่ว่า ดูเหมือนว่าพฤติกรรมจะมีอยู่สามรูปแบบด้วยกัน

รูปแบบแรก: เกาะติดเหนียวแน่น (Secure)
เพราะแม่หายไปก็เหวอเล็กน้อย ไม่ยอมเล่นของเล่นอีกต่อไป พี่เลี้ยงมาปลอบก็ไม่ฟังไม่สนใจ พอแม่กลับเข้ามาก็รีบกระโดดเกาะแม่ ให้แม่อุ้มว่าเข้าไปนั่น เด็กประมาณ 70% แสดงพฤติกรรมอยู่ในรูปแบบแรก อื่มก็คือเด็กส่วนใหญ่บ้านๆ ทั่วไปนั่นเอง แล้วอีก 30% ที่เหลือล่ะ..

รูปแบบที่สอง:  เกาะติดไม่เหนียวแบบปลีกตัว (Insecure-avoidant)
เด็กกลุ่มนี้ครับ พอแม่หายไปปุ๊บก็ร้องไห้ลั่นเลย แต่ว่าพอแม่กลับเข้ามาก็ทำเป็นหยิ่งไม่มองหน้า หันหลังเข้าใส่ ดูรมณ์บ่จอย ไม่พอใจเท่าไร... เด็ก 20% อยู่ในกลุ่มนี้ อื่มแปลกดี

รูปแบบที่สาม: เกาะติดไม่เหนียวแบบต่อต้าน (Insecure-resistant)
เด็กพวกนี้เป็นพวกไม่เหนียวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพอแม่หายไปปุ๊บก็ร้องลั่นเหมือนกัน แต่พอแม่กลับเข้ามา จะมาโอ๋มาอุ้มก็ไม่ให้อุ้มดิ้น คลานหนีตลอด เด็ก 10% ที่เหลืออยู่ในกลุ่มนี้ครับ

นักจิตวิทยาก็ตั้งสมมติฐานกันต่อไปว่า สไตล์การเกาะติดนี่ส่งผลไปถึงตอนโตด้วยรึเปล่า ผลปรากฎว่าเด็กที่เกาะติดแบบเหนียวแน่นจะมีเพื่อนเยอะ เข้าสังคมได้เป็นปกติ มีคนรักใคร่ ปรับตัวเข้ากับผู้คนได้ เวลามีปัญหาก็คุยกับพ่อแม่ คนรัก เพื่อนฝูงเพื่อให้ช่วยหาทางแก้ปัญหา
แต่เด็กในรูปแบบที่สอง โตขึ้นแล้วคบแฟนกี่คนๆ ก็เข้ากันไม่ได้สักที เพราะว่าไม่ค่อยอยากทุ่มเทอารมณ์ความรักความรู้สึกให้คนรอบตัวเท่าไร เพื่อนก็จะมีไม่มาก ความรักก็ไม่ค่อยมี เวลามีปัญหาอะไรก็จะไม่ค่อยบอกให้คนอื่นรู้
เด็กในรูปแบบที่สาม โตขึ้นจะไม่ค่อยอยากสนิทสนมกับใคร กังวลว่าคนอื่นไม่ชอบเรา รังเกียจเรา พอเพื่อนตีตัวออกห่างหน่อยนึง หรือเลิกกับแฟนก็จะเครียดมาก

แน่นอนครับว่าคนเรามันเปลี่ยนแปลงกันได้ เด็กอายุขวบนึงกว่าจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็ใช้เวลานานอยู่ ก็ได้เรียนรู้จากการพูดคุย คลุกคลีกับผู้คนรอบตัว อาจทำให้นิสัยและบุคลิกภาพเปลี่ยนไปได้ แต่ว่าการผลการวิจัยได้สรุปว่าคนส่วนใหญ่นั้นสไตล์การเกาะติดไม่ค่อยเปลี่ยนไปมากเท่าไรเลย

แต่ว่าแค่เราเห็นบุคลิกภาพเด็กอายุแค่ขวบนิดๆ ก็พอจะเดาอนาคตได้แล้วเหรอเนี่ย แล้วสาเหตุของบุคลิกภาพพวกนี้มาจากไหนกันล่ะ ได้มาตั้งแต่เกิด หรือว่าได้มาหลังเกิด เดี๋ยวมาคุยให้ฟังตอนหน้าครับ

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

อุ่น

ถ้าวันนึงมีคนมาเคาะประตู แล้วบอกว่า พี่ครับ ช่วยเลี้ยงข้าวผมหน่อยหิวเหลือเกิน คุณก็อาจจะอะหยวนๆ สงสารมันเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แต่พออีกวันนึง มาเคาะประตูอีก แล้วบอกว่า พี่ครับ ช่วยเลี้ยงข้าวผมสามมื้อต่อวันหน่อยนะครับ แล้วก็หาที่นอนให้ด้วย ขอเสื้อผ้าให้ด้วย แล้วก็ขอหนังสือให้อ่าน เอิ่ม แต่พี่อาจจะไม่รู้ว่าผมชอบเสื้อผ้าแบบไหน ชอบอ่านหนังสืออะไร งั้นผมขอตังค์ใช้แทนละกันนะครับ ของี้สักยี่สิบปีก็พอครับ
อุ้ย..งง... เอางี้เลยหรอ

ที่จริงฟังดูแล้วไม่ค่อยน่าแปลกใจสักเท่าไรนะเนี่ย พอเกิดมาเราก็เคาะประตูขอพ่อแม่เราแบบนี้ทั้งนั้นเลย ผมคิดทีไรก็ยังงงอยู่ดีว่าผมจะทำใจเลี้ยงคนอีกคนนึงยี่สิบกว่าปีได้ยังไง (อาจจะมากกว่ายี่สิบปีด้วยซ้ำถ้าลูกขี้เกียจหางานทำ)

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตอนเกิดมาต้องการความดูแลจากใครสักคนนึง ไม่เหมือนเต่าที่แม่ไข่ไว้ตามหาดแล้วก็แฉล็บเดิน เชิดหน้าหนีไม่สนใจ

หื่ม... แปลกจังเรามักจะนึกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่เหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่น แต่ว่าทำไมเวลาเราเกิดมาแล้วทำไมถึงไม่มีความสามารถที่จะเอาตัวรอดด้วยตัวเองได้ล่ะเนี่ย ที่จริงแล้วการที่เกิดมาช่วยตัวเองยังไม่ได้นี่แหละ ที่ทำให้มนุษย์น่าสนใจกว่าเต่่ากว่าปลา

คนเราเกิดมาอย่างแรกที่เราต้องการคือความสนใจจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ก็ไม่อยู่ก็ร้องไห้ แหกปาก แต่ว่าหน้าที่ของนักจิตวิทยาคือพยายามศึกษาว่าอะไรเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมที่เราเห็น ทำไมถึงร้องไห้แหกปากอย่างงั้นล่ะเนี่ย

อื่ม... ลองคิดกันง่ายๆ เด็กอาจจะคิดว่า อะจ้าก ถ้าพ่อแม่หนีไปฉันตายชัวร์เลย จะไปหานมกิน ข้าวกินยังไงน่ะเนี่ยก็เลยกลัว หื่ม... จริงเหรอเนี่ย มีนักจิตวิทยากลุ่มนึงสงสัยว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนยึดติดผูกพันกับพ่อแม่พี่เลี้ยงตอนยังเป็นเด็ก ทฤษฎีที่นักจิตพวกนี้ตั้งขึ้นมาเรียกว่าทฤษฎีการยึดติดผูกพัน (Attachment Theory) การทดลองแรกๆที่เกี่ยวกับทฤษฎีนี้มาจากห้องแล็บของนายแฮรี ฮาร์โลว (Harry Harlow) นายฮาร์โลวคิดว่าถ้าลองให้เด็กเลือกอยู่กับพ่อแม่ที่ให้แต่อาหารอย่่างเดียว แต่ไม่ให้ความรักความอบอุ่นเช่นไม่กอด ไม่อุ้ม ไม่ห่มผ้าให้ กับพ่อแม่ที่ให้ความอบอุ่นอย่างเดียว แต่ไม่ให้อาหารเด็กจะเลือกแบบไหน และจะส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็กในอนาคตยังไง

นายฮาร์โลวก็เลยจับเด็กมาให้เลือกระหว่างพี่เลี้ยงสองคน คนแรกให้ผ้าห่ม กอดรัด ให้ความรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย ส่วนพี่เลี้ยงอีกคนป้อนนมให้อย่างเดียว เด็กจะเลือกแบบไหน เอ...ฟังทะแม่งๆ ถ้าทำงี้กับคนจริง ก็แย่เหมือนกันนะเนี่ย กฎหมายเรื่องการเอามนุษย์มาทดลองที่เมกามันเคร่งมาก การทดลองแบบนี้ผิดกฎหมาย ทำไปถูกขังคุก นายโบวลบีเลยใช้ลูกลิงแทน เพราะว่าลิงใกล้กับคนมาก มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เราศึกษาจากคนไม่ได้เพราะว่ามันโหดเกิน แต่ว่ากฎหมายปล่อยให้เราโหดกับลิงได้ เพราะฉะนั้นมีนักจิตบางกลุ่มที่ไม่ใช้คนในการทดลองเลยใช้ลิงเพื่อศึกษาคนนั่นเอง เดี๋ยวจะได้เห็นตัวอย่างอีกเยอะตอนพูดถึงประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience)

นายฮาร์โลวแย่งลูกลิงมาจากแม่จริงแล้วก็ฝากลิงไว้กับแม่เลี้ยงสองตัว แม่ตัวแรกทำมาจากผ้านุ่มๆซุกกอดแล้วก็รู้สึกอบอุ่นขยุ่นขยี้ ส่วนแม่อีกตัวทำจากลวดแต่ว่ามีขวดนมโผล่ออกมาทำให้เหมือนเต้านมลิง แต่ว่าแม่ทั้งสองตัวไม่ใช่ลิงแต่ว่าเอามาแต่งให้เหมือนลิง แบบรูปข้างล่าง



ผลการทดลองก็เห็นๆกันอยู่ในรุปครับลิงชอบแม่ที่ทำจากผ้ามากกว่า ถึงแม้ว่าบางทีจะแฉล็บไปขโมยนมจากแม่อีกตัวนึงบ้างเป็นระยะๆ แต่ว่าพอมีเสียงดัง มีอะไรกระทบกรงหน่อย เจ้าลูกลิงก็จะกระโดดหาแม่ที่ทำจากผ้าทันที พอแกล้งเอาแม่ที่ทำจากผ้าไปซ่อน ลูกลิงก็คลั่งหาแม่ร้องไห้ ดูดนิ้ว วิ่งพล่านหาแม่ เพราะฉะนั้นทำให้เรารู้ว่าลูกลิงยึดติดผูกพันกับกับแม่ที่ให้ความอบอุ่น เพราะฉะนั้นเราจึงแอบสรุปไปได้ว่า ตอนเราเด็กๆที่เรายึดติดผูกพันกับพ่อแม่ไม่ก็พี่เลี้ยงก็เพราะว่าเราได้รับความรัก ความอบอุ่น ไม่ใช่เพราะว่าพ่อแม่พี่เลี้ยงหาข้าวให้กินเพียงอย่างเดียว

นายฮาร์โลวยังไม่หยุดแค่นั้น นายคนนี้ยังสงสัยต่อไปอีกว่าทำไมลูกลิงถึงอยากได้ความรักความอบอุ่น ไม่ได้ก็ไม่ตายนิ่ แต่ว่าถ้าไม่ได้อาหารนี่ตายแน่นอน นายฮาร์โลวเลยเอาลิงมาอยู่กับแม่ที่ทำจากลวดเหล็กแล้วมีขวดนมติดไว้ แล้วมาดูว่าตอนโตมาแล้วจะเป็นยังไง

ปรากฎว่าลูกลิงที่ขาดความอบอุ่นแต่เล็กๆ จะไม่ค่อยไปเล่นกับลิงตัวอื่นๆ ขี้กลัว เห็นอะไรก็จะหวาดระแวงไปหมด กินข้าวก็ไม่ค่อยลง แล้วก็ท้องเสียบ่อยกว่าลิงปกติด้วย

ผลการทดลองจากนายฮาร์โลวเป็นการทดลองแรกที่พิสูจน์ว่าความรัก ความผูกพันในวัยเด็กนั้นสำคัญมากต่อการที่เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต ผมคิดถึงการทดลองนี้ทีไรก็รู้สึกจั๊กจี๋ใจขึ้นมาทุกทีเลย รู้สึกว่าโชคดีที่มากเกิดเติบโตมามีพ่อแม่รักผมประคบประหงมอย่างดีมาโดยตลอดมาเลย แล้วลองนึกถึงเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าสิครับ เด็กเหล่านั้นได้กินข้าวบ้าง ไม่ได้กินบ้างรึเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ แต่ว่าสิ่งที่ชัดเจนคือ เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงหรือใครเลย ผลการทดลองนี้อาจจะช่วยสะท้อนว่าสังคมหยิบยื่นอะไรที่ขาดไปรึเปล่าสำหรับเด็กเหล่านี้

รักพ่อแม่มากๆนะครับ :)

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ห้าเจ้าพ่อ ตอนสาม

หลังจากนั่งเก็บข้อมูล ทำสถิติกันมาหลายสิบปี นักจิตวิทยาก็ได้เครื่องมือหลักในการวัดบุคลิกภาพเป็นที่เรียบร้อย เอ... งานวิจัยพวกนี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้นเลยนิ่ จะวัดบุคลิกภาพคนทีนึงก็ต้องมานั่งแปลความ ตีความกัน ก่อนที่แบบสอบถามพวกนี้จะเอามาใช้แพร่หลายได้ นี่คือปัญหาหลักขององค์ประกอบทั้งห้า อย่าลืมว่าองค์ประกอบทั้งห้าเริ่มต้นมาจากนายกอร์ดอน ออลพอร์ทกล่าวว่าบุคลิกภาพนั้นต้องถอดรหัสออกมาจากภาษา ตอนนี้ถอดรหัสมาจากภาษาอังกฤษแล้ว ต้องมาถอดรหัสจากภาษาอื่นกันต่ออีก ตอนนี้ขอข้ามทวีปมาดูงานวิจัยบ้านเราดีกว่า

ขอทบทวนอีกทีว่าแบบสอบถามนี้ได้มายังไง ได้มาจากการเอาคำจากดิกทั้งหมดมาย่อยให้เหลือ 17,000 คำ เสร็จแล้วย่อยลงมาให้เหลือน้อยกว่านั้นอีกโดยดูว่าคำไหนใช้บ่อยในชีวิตจริง แล้วทำแบบสอบถามขึ้นแล้วมาทดสอบกับคนทุกกลุ่มอายุ ทุกอาชีพ แล้วค่อยสรุปว่าแบบทดสอบนั้นมีมาตรฐานเชื่อถือได้จริง เฮ่อ ฟังแล้วก็น่าเหนื่อยแต่โชคดีครับว่าคนไทยไม่ต้องไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น เราไปหยิบแบบสอบถามที่ใช้วัดห้าเจ้าพ่อองค์ประกอบบุคลิกภาพมาจากฝรั่งเค้า ที่นิยมสุดก็คือ NEO-FFI (หลายคนคงเคยได้ทำกันในคาบแนะแนว) เสร็จก็เอามาแปลเลยครับ เอามาแปลให้ดีๆ เนี้ยบๆ เสร็จแล้วคราวนี้ก็ต้องเอามาทดสอบกับคนทุกกลุ่มทุกอายุ... แปลแบบสอบถามแป๊บเดียวก็เสร็จเพราะมีอยู่แค่ประมาณหกสิบข้อ แต่ว่าเก็บข้อมูลอันนี้น่าเหนื่อยครับ เพราะต้องไปหาคนมา แล้วก็ต้องหาเพื่อนๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองมาอีก ตอนนี้ NEO-FFI มีแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้วแต่ว่าการวิจัยยังดำเนินต่อไปครับ เพราะว่ายังเก็บตัวอย่างได้ไม่ครบ ไม่เต็มที่ อันนี้ก็ต้องรอกันต่อไป

วัดบุคลิกภาพ วัดไปทำไมกัน ไม่ได้วัดไปสนุกๆครับ เราอยากรู้ว่าบุคลิกภาพคนมีผลต่อชีวิตภายภาคหน้าของคนในด้านไหนบ้าง มากน้อยแค่ไหน ห้าเจ้าพ่อนี่เจ๋งมากครับเพราะว่าได้ผลออกมาเป็นตัวเลขคะแนนของแต่ละมิติ เพราะฉะนั้นสามารถเอามาดูเปรียบเทียบกับอย่างอื่นได้ เช่น มีคนเคยศึกษาว่า คนที่ได้คะแนนจาก Neuroticism (ความหวาดระแวง อารมณ์ไม่สม่ำเสมอ) สูง และคะแนนจาก Openness (ความเปิดอกเปิดใจ) ต่ำมีโอกาสเป็นโรคทางประสาทสูง เพราะฉะนั้นมีประโยชน์สำหรับพวกนักจิตวิทยาคลินิคไว้ตรวจคนไข้ได้ อีกตัวอย่างนึงก็คือคนที่ได้คะแนนจาก Conscientiousness (การรู้สติ รู้ผิดชอบ) สูงและ Openness สูงมีโอกาสประสบความสำเร็จทางการเรียนสูง อะไรอย่างงี้ ครูแนะแนวเลยสามารถเอามาใช้ได้ พวกนักบริหารทรัพยากรบุคคลก็เอาใช้ได้

แต่ว่าชีวิตคนไม่ราบรื่นเสมอไป ต้องมีคนออกมาแย้ง คราวนี้ใครออกมาครับ แอ่นแอ๊น นักจิตวิทยาสังคมนั่นเอง มีนักจิตวิทยาสังคมนายนึงออกมาพูดว่า ..อื่ม ลองเดาสิว่าพูดว่าอะไร บุคลิกภาพวัดไม่ได้โดยตรง เพราะว่าบุคลิกภาพนั้นขึ้นอยู่กับคนรอบข้างและสถานการณ์รอบตัว เพราะฉะนั้นจะจับคนมานั่งทำแบบสอบถามแบบนี้ไม่เวิร์คแน่นอน

แต่ว่าลองคิดง่ายนะครับ คนทั้งโลกมีเยอะมาก แค่แบบสอบถามไม่กี่ข้อ จะแยกคนได้แค่ไหนกันเชียว แปลว่าอะไร แปลว่าถ้าเกิดจับคนมั่วๆ มาร้อยคนมาทำแบบสอบถามที่มีไม่กี่ข้อ ผลออกมาคือจะมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะได้คนที่มีบุคลิกภาพเหมือนกันเป๊ะสองคน สองคนจากร้อยคน อะโหยบ้าคลั่ง ถ้างี้ทั้งประเทศก็มีคนมีบุคลิกภาพเหมือนกับเราเป๊ะหกแสนกว่าคนเลยเรอะ ไม่ประหลาดไปหน่อยหรือเนี่ย เอแต่ว่าไอ้แบบสอบถามเนี่ยก็ทดสอบกันมาตั้งเยอะตั้งแยะนิ่หน่าไม่น่าจะผิด

สรุปได้ก็คือว่า แบบสอบถามที่มาจากหลักขององค์ประกอบห้าเจ้าพ่อนั้นค่อนข้างหยาบอยู่ สามารถแยกคนได้ในระดับนึงแต่ว่าไม่ได้เยอะขนาดนั้นเพราะว่าบุคลิกภาพคนมันซับซ้อนมาก อิทธิพลของสถานการณ์ก็มากระทบอีก ทำให้เราต้องมาดูว่าบุคลิกภาพโต้ตอบกับสถานการณ์ยังไงบ้าง
แล้วก็จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ แบบทดสอบนั้่นใช้ภาษาคน คนเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นจะตั้งใจตอบให้เป็นอีกทางนึงไปเลยก็ได้ ถึงแม้แถบด้านบนกระดาษจะเขียนว่า กรุณาตอบให้ตรงความจริงที่สุด

พวกนั้นคือข้อด้อยที่เราเห็นได้จากการเอาแบบสอบถามไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ถ้าเราตั้งคำถามใหม่ว่า บุคลิกภาพด้านต่างๆพัฒนาช่วงไหนของวัย อันนี้ฟรอยด์ยิ้มเลยครับ เพราะว่าทฤษฎีของฟรอยด์พูดตรงๆ เลยว่าบุคลิกภาพตอนโตได้มาจากไหน เพราะอะไร ตอนไหน แต่ว่าทฤษฎีของห้าเจ้าพ่อบอกอะไรไม่ได้เลยครับ

อีกประเด็นก็คือ เด็กครับ เด็ก เด็กทารก เด็กแต่ละคนร้องไห้ไม่เท่ากัน ดื้อไม่เท่ากัน แสดงว่าเด็กมีบุคลิกภาพตั้งแต่เกิดมาแล้ว จะเอาอะไรมาวัดบุคลิกภาพล่ะเนี่ย เด็กยังพูดไม่ได้ อ่านไม่ออกเลย จะจับมาทำแบบสอบถามก็ไม่ได้ จะจับมาคุยลุงฟรอยด์ก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ตอนหน้าดูกันว่าเราจะศึกษาบุคลิกภาพเด็กกันได้ยังไง

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ห้าเจ้าพ่อ ตอนสอง

รู้สึกว่าตอนที่แล้วแอบรวบรัดตัดความไปนิดนึงว่าจู่ๆจับพลัดจับผลูมาเป็นห้าเจ้าพ่อ หรือชื่อตามหนังสือเรียกว่าองค์ประกอบทั้งห้า (Big Five หรือ Five Factors) ตอนนี้จะขอถอยหลังกลับนิดนึงครับ กลับไปยุคที่นักจิตวิทยาเริ่มหยิบๆคำจาก 17,000 คำมาย่อยๆ ให้มันเป็นเหลือน้อยลง แล้วทำแบบทดสอบขึ้นมา แบบทดสอบก็ถามง่ายๆว่า ในแต่ละคำต่อไปนี้ คุณคิดว่าตรงกับบุคลิกภาพของคุณมากแค่ไหน เพื่อจะทดสอบว่าแบบทดสอบน่าเชื่อถือได้แค่ไหนก็ต้องให้ลองทำแบบทดสอบหลายๆครั้ง แล้วดูว่าผลออกมามันเหมือนเดิมรึเปล่า แต่ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้สิ เพราะว่าสมมติเราทำแบบทดสอบไปแล้ว ให้ทำอีกทีก็แอบจำคำตอบได้ ผลออกมาก็ต้องเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นวิธีที่นักจิตวิทยาบุคลิกภาพชอบมากคือให้เพื่อนฝูง เจ้านาย พ่อแม่ จิตแพทย์ประจำตัว ลองทำแบบทดสอบด้วย แล้วดูว่าผลออกมาตรงกับเจ้าตัวมั้ย แล้วก็ลองทำแบบนี้กับคำหลายๆกลุ่ม ตาสี ตาสา ช่างก่อสร้าง แม่ค้าตลาด นักเรียน ทหาร ตำรวจ และอื่นๆ อีกมาก นักจิตวิทยากลุ่มนี้เก็บข้อมูลมาเป็นตั้งๆ เยอะๆ ทีเดียว

อื่มตอนนี้มีข้อมูลเยอะแยะใส่ในคอมพิวเตอร์ (เทคโนโลยีใหม่ของยุค) แล้วทำยังไงต่อล่ะ มีนักจิตวิทยาอีกสาขาที่เรียกว่า นักจิตวิทยาเชิงคำนวณ (Quantitative psychologists) ที่คอยคิดเทคนิควิธีทางสถิติที่จะมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางจิตวิทยาโดยเฉพาะ มีนักจิตเชิงคำนวณกลุ่มนึงคิดค้นวิธีที่ชื่อว่า การวิเคราะห์องค์ประกอบแฝง (Factor analysis) เป็นวิธีการที่ใช้พวกทฤษฎีเมทริกซ์ (Matrix theory) ลองยกตัวอย่างดีกว่าว่านักจิตบุคลิกภาพเอามาใช้วิเคราะห์ข้อมูลกองเบ้อเริ่มยังไง

ไอเดียแรก ก็คือคนมีความหลากหลาย คนแต่ละคนไม่เหมือนกัน(คนมีบุคลิกภาพเป็นของตัวเอง) เราอยากรู้ว่าคำถามไหนสามารถช่วยแยกแยะคนออกจากกันได้ ถ้าแบบสอบถามแยกแยะคนไม่ได้ แล้วจะให้ทำไปทำไมตัวเองนั่งทำเองอยู่บ้านก็ได้คำตอบเหมือนกับให้คนอื่นทำ ทั้งๆที่บุคลิกภาพของเรากับของคนอื่นต่างกัน

ไอเดียที่สอง ก็คือความหลากหลายของคนสามารถแยกออกมาได้เป็นองค์ประกอบย่อยๆ เราอยากรู้ว่าคำถามไหนแยกแยะคนในมิติเดียวกัน ว่าง่ายๆ ก็คือคำถามที่แยกคนในมิติเดียวกันมีองค์ประกอบของความหลายหลายเดียวกัน เช่น ถ้ามีสี่คำถาม

คุณชอบทักษิณมากน้อยแค่ไหน
คุณชอบกินไอติมมากน้อยแค่ไหน
คุณชอบกินคุกกี้มากน้อยแค่ไหน
คุณชอบสนธิมากน้อยแค่ไหน

คำถามที่ 1 กับ 4 มีอำนาจในการแยกแยะคนในมิติของการเมือง เพราะดูคำตอบแล้วเราแยกแยะคนในองค์ประกอบของความคิดเห็นทางการเมืองของคนกลุ่มนั้น
คำถามที่ 2 กับ 3 มีอำนาจในการแยกแยะคนในมิติของขนมหวาน เพราะดูคำตอบแล้วเราแยกแยะคนในองค์ประกอบของความคิดเห็นทางความหวานของคนกลุ่มนั้น


นั่นคือสองไอเดียหลักของการแยกองค์ประกอบ เทคนิคนี้ช่วยให้เรารู้ว่าคำถามไหนบ้างมีอำนาจในการแยกแยะคนในมิติเดียวกัน แล้วก็สามารถแยกแยะคนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าใช้เทคนิคนี้กับข้อมูลที่ได้มาจากการให้คนตอบแบบสอบถามทางจิตวิทยาที่เราเก็บมา เราก็จะรู้ว่าคำศัพท์คำไหนบ้างในแบบสอบถามที่แยกแยะคนในมิติเดียวกับ มีอำนาจในการแยกแยะคนมากแค่ไหน

ปรากฎว่าจากคำศัพท์ตั้งเยอะตั้งแยะเราสามารถแยกออกมาได้เป็นห้าองค์ประกอบที่สามารถอธิบายความหลากหลายของบุคลิกภาพคนได้ ห้าองค์ประกอบนั้นก็คือห้าเจ้าพ่อที่เรารู้ๆกันนั่นเอง จากนั้นมาก็มีนักจิตหลายกลุ่มที่ทดสอบแบบสอบถามทางจิตวิทยาของตัวเองแล้วลองใช้การแยกองค์ประกอบ แล้วก็ได้ห้าเจ้าพ่อ ทำกี่ทีๆ กี่แบบก็ได้ห้าเจ้าพ่อ ทำให้เรารู้ว่าองค์ประกอบหลักๆของบุคลิกภาพคนสามารถแยกออกมาได้ห้าองค์ประกอบครับผม

อื่มฟังดูดี แต่ว่าทุกอย่างในโลกมีข้อเด่น ข้อด้อย ตอนหน้ามาดูกันว่าทำไมคนถึงใช้ห้าเจ้าพ่อกันเยอะแยะ แต่ว่าไม่เยอะขนาดนั้น

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ห้าเจ้าพ่อ

ความพยายามที่จะค้นหา แกะ ชำแหละบุคลิกภาพมนุษย์ยังคงดำเนินต่อไป ตั้งแต่ทฤษฎีของฟรอยด์ ไปถึงแต้มหมึกรอชแชช ดูเหมือนนักจิตไม่ค่อยพอใจกับงานศึกษาด้านบุคลิกภาพซะเลย เลยมีนักจิตอีกคนยังไม่ยอมถอยครับ ชื่อว่านายกอร์ดอน ออลพอร์ท (Gordon Allport) นายกอร์ดอนคิดได้ว่าไม่ว่าจะใช้ทฤษฎีไหนก็ตามในโลกที่พยายามจะอธิบายลักษณะนิสัยบุคลิกภาพคนก็ต้องใช้คำศัพท์ขึ้นมาอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นเห็นแก่ตัว บ้า มองโลกในแง่ร้าย ติงต๊อง ต้องใช้คำทั้งนั้น ว่าง่ายๆคือ ภาษากับบุคลิกภาพเป็นของที่คู่กันกับมนุษย์ เพราะฉะนั้นภาษาจะต้องเป็นสิ่งที่แปลรหัสบุคลิกภาพของมนุษย์ ข้อสังเกตอันนี้ชื่อว่า สมมติฐานพจนานุกรม (Lexical hypothesis) นายกอร์ดอนเลยคิดว่าการวัดผลทางบุคลิกภาพนั้นก็เป็นแค่การหาคำที่เหมาะสมมาใช้อธิบายบุคลิกภาพแค่นั้นเอง คำศัพท์ทุกคำของมนุษย์นั้นอยู่ในพจนานุกรม ถึงแม้มันจะมีเยอะเหลือเกิน แต่ว่าถ้าเราศึกษามันทุกคำ เราจะต้องเข้าใจบุคลิกภาพมนุษย์ได้แน่ๆ เลย เอแต่ว่าถ้ามานั่งทำเองคนเดียวคงไม่ไหว ทำยังไงดีนะ

วันรุ่งขึ้น นายกอร์ดอนเดินไปซื้อพจนานุกรมมา แล้วเอามาแจกให้นักเรียนปริญญาเอกในอาณัติ นักเรียนปริญญาเอกพวกนั้นก็งงกันใหญ่อะไรวะเนี่ย คิดว่าพวกเราอ่านหนังสือไม่ออกหรือยังไงกันเลยเอาพจนานุกรมมาให้ เพี้ยนรึเปล่าเนี่ย แต่ว่าหารู้ไม่ชะตากรรมของนักเรียนปริญญาเอกน่าสงสารเหล่านั้นดูไม่ค่อยดีเอาเสียเลย วันนั้นนายกอร์ดอนบอกว่าให้นักเรียนปริญญาเอกไล่คำศัพท์จากเอถึงแซด แล้วไว้ลอกคำศัพท์ที่สามารถอธิบายบุคลิกภาพในภาษาอังกฤษทุกคำแล้วเอาส่ง ไม่งั้นจะไม่ให้จบเอก

วันแล้ววันเล่าปีแล้วปีเล่า นักเรียนเหล่านั้นไล่คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เก้าแสนกว่าคำ เพื่อหาคำบรรยายบุคลิกภาพ นับออกมาแล้วได้ หนึ่งหมื่นเจ็ดพันคำด้วยกัน หลังจากผมได้ฟังเรื่องนี้แล้ว ก็รู้สึกเสียวสันหลังเหมือนกันตอนสมัครปริญญาเอก เพราะไม่รู้ว่าอาจารย์จะให้ทำอะไรบ้าง...

นายกอร์ดอนก็รู้สึกปลาบปลื้มดีใจมากว่าได้คำทุกคำที่น่าจะสามารถแกะรหัสบุคลิกภาพมนุษย์ได้ แต่... เฮ้ย หมื่นเจ็ดพันก็เยอะอยู่นะเนี่ยจะทำยังไงดีล่ะเนี่ย... นายกอร์ดอนก็ทำอะไรไม่ค่อยถูกเหมือนกันก็ได้แต่หยิบเอาคำโน้นคำนี้มาจับเป็นกลุ่มๆ แล้วก็ตีความไปว่ากลุ่มคำศัพท์พวกนั้นสามารถใช้วัดบุคลิกภาพคนได้ แยกแยะคนตามกลุ่มบุคลิกภาพไปได้ แต่ว่าไม่ค่อยมีใครยอมรับเท่าไร เพราะว่าเล่นหยิบคำศัพท์มาตามใจชอบ

จากนั้นมาคำศัพท์หมื่นเจ็ดพันคำพวกนั้นก็แพร่ระบาดที่นักจิตมีเยอะเชียว นักจิตก็พวกนี้ก็ใช้วิธีเดิมๆ หยิบคำมั่วๆ มาจับกลุ่ม ทำอะไรคล้ายๆกันนี้สักประมาณสามสิบ สี่สิบปีได้ จนกระทั่งมาถึงยุคนึงที่การศึกษาบุคลิกภาพมนุษย์เริ่มไฮเทคขึ้น เริ่มเป็นระบบมากขึ้น และสามารถทำอะไรถึกๆได้มากขึ้นโดยไม่ต้องให้นักเรียนปริญญาเอกมานั่งเปิดดิกไล่หาคำศัพท์ มีนักจิตรายนึงคิดวิธีทางสถิติที่จับเอาภาษาของคนจริงในหนังสือพิมพ์ หนังสือนิยาย นิตยสารมารวมกันกับคำศัพท์หมื่นเจ็ดพันคำ รวมกับข้อมูลจากแบบสอบถามเก่าๆ ที่นักจิตคนก่อนๆเก็บไว้คร่ำครึ จับทั้งหมดนี้ยัดใส่คอมพิวเตอร์คำนวณออกมาปรากฎว่ามีคำศัพท์อยู่ ห้ากลุ่มใหญ่ด้วยกันที่อำนาจในการแยกแยะบุคลิกภาพมนุษย์ได้ เรียกว่า Big Five หรือ ห้าเจ้าพ่อ เจ้าทั้งห้านั้นก็คือ

Openness ความเปิดใจ เปิดอก
Conscientiousness การรู้สติ รู้สำนึก
Extraversion การเข้าสมาคม เข้าสังคม
Agreeableness ความน่ารัก น่าคบ
Neuroticism การหวาดวิตก หวาดระแวง

นี่นับว่าเป็นหนึ่งในผลงานยิ่งใหญ่ของวงการจิตวิทยาก็ว่าได้ครับ นักจิตกลุ่มนี้เอาคำที่อยู่ในห้าเจ้าพ่อมาทำเป็นแบบสอบถามจิตวิทยา โดยทฤษฎีของแบบสอบถามนี้ต่างจากแบบทดสอบแต้มหมึกกับวิธีของฟรอยด์ตรงที่ว่าทฤษฎีนี้คิดว่าบุคลิกภาพเป็นสิ่งที่คนสามารถเข้าถึงได้โดยที่ยังรู้สึกตัวอยู่ ไม่ต้องล้วงเข้าไปในจิตไร้สำนึกที่เรายังไม่ค่อยแน่ใจด้วยซ้ำว่ามีจริงรึเปล่า แบบสอบถามนี้ก็ตรงไปตรงมาครับ ก็ถามกันตรงๆว่า คุณคิดว่าคำแต่ละคำตรงกับบุคลิกภาพของคุณมากแค่ไหนหรืออะไรประมาณนั้น จากนั้นก็เอาใส่คะแนนว่า บุคลิกภาพของคนนั้นตรงกับแต่ละเจ้าพ่อ ในห้าเจ้าพ่อได้มากน้อยแค่ไหน

ห้าเจ้าพ่อก็ยังไม่วายโดนจับตามองครับ ตอนหน้ามาดูต่อกันว่าทำไมห้าเจ้าพ่อถึงกลายทฤษฎีใหญ่ยักสมชื่อจนถึงทุกวันนี้ แต่ละเจ้าพ่อมันแปลว่าอะไร ใช้ได้จริงรึเปล่า ตอนหน้าครับ

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แต้มหมึก

ย้อนไปเมื่อ หกปีที่แล้ว ผมเพิ่งเรียนจบม.หก แม่ผมตระเตรียมเอกสารอยู่ปึกนึง จับผมขึ้นรถแล้วบึ่งไปโรงพยาบาลบ้า พอถึงแล้วผมถูกขังอยู่ในห้องกับนักจิตวิทยาคนนึง นักจิตคนนั้นก็ให้ผมดูภาพๆ นี้ แล้วถามว่าเห็นอะไรบ้าง



อื่ม... ซุปเปอร์ไซย่า ต้นไม้ ต้นหญ้า ปูนึ่ง หมี ปอด แล้วให้ภาพอื่นมาแล้วก็ถามคำถามเดียวกันภาพอื่นๆ ที่ดูแล้วไม่ค่อยจะเห็นอะไรมีความหมายเท่าไร เสร็จแล้วผมเดินออกจากห้องตรวจ แล้วนักจิตนั้นก็บอกว่าผมผ่านการทดสอบทางจิตวิทยา ให้เอาเอกสารไปยื่นให้กอพอ เตรียมตัวรับทุนไปเรียนได้ สองปีต่อมาแต้มหมึกมั่วๆ ที่ผมเห็นเมื่อตอนนั้นก็มาปรากฎบนสไลด์ในวิชาจิตวิทยาเบื้องต้นตอนปีหนึ่ง ภาพแต้มหมึกที่ว่านั้นเรียกว่า แบบทดสอบแต้มหมึกรอชแชชตามชื่อเจ้าของแบบทดสอบ

แต้มหมึกรอชแชชคือผลจากความพยายามและหยาดเหงื่อแรงงานของนักจิตวิทยาบุคลิกภาพที่พยายามจะเรียนรู้บุคลิกภาพของคน รวมถึงโรคจิตที่เกิดจากบุคลิกภาพที่คนไม่ปรารถนา แต่นายซิกมันด์ ฟรอยด์ไม่ได้มาเกี่ยวอะไรครับ เลยไม่มีอวัยวะเพศของใครมาเกี่ยวข้อง แต่ว่าหลักมันเหมือนกันตรงที่ว่าต้องการให้คนปล่อยบุคลิกภาพของมาโดยทางอ้อม ทฤษฎีของนายฟรอยด์ให้คนปล่อยบุคลิกภาพบอกมาโดยให้พูดถึงความปรารถนาที่ไม่สมหวังในวัยเด็ก หรือก็ตามที่ถูกเก็บกดไว้

แต่ว่าหลักของแบบทดสอบแต้มหมึกคือให้คนมองภาพที่ไม่มีโครงสร้างชัดเจน รายละเอียดครุมเครือ แล้วให้คนปล่อยบุคลิกภาพออกมาการตีความภาพนั่นเอง นักจิตวิทยาก็จะจดคำตอบไว้ แล้วก็เอาไปวิเคราะห์ นายรอชแชชก็ทำแต้มหมึกที่คล้ายๆกันนี้มาเยอะแยะเลย แล้วก็เก็บข้อมูลจากคนปกติ และคนไข้ แล้วเลือกออกมาสิบภาพที่เค้าคิดว่าสามารถเอามาใช้วินิจฉัยบุคลิกภาพคนได้

ตอนนี้คนสงสัยกันว่าเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ยังไง วิธีวิเคราะห์นั้นซับซ้อนมากต้องให้คนมาฝึกฝนเป็นปีถึงจะใช้แบบทดสอบนี้ได้ถูกต้อง สรุปก็คือผมก็ไม่ค่อยรู้เหมือนกัน แต่ว่าหลักๆก็คือ แต่ละภาพจะมีสื่งที่นำมาใช้พิจารณาต่างๆกันไป บางทีก็ให้นับว่าคนที่ตอบคำถามให้คำตอบมากี่ข้อ อะไรอย่างงี้เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่คือให้นักจิตวิทยาตีความคำตอบ

นักจิตวิทยาใช้แบบทดสอบนี้กันมาเกือบร้อยปีแล้วครับ ถือว่าน่านับถือทีเดียว แต่ว่ามีนักจิตวิทยาหลายกลุ่มที่คิดว่าแบบทดสอบนี้เป็นวิทยาศาสตร์จอมปลอม เกณฑ์ที่คนใช้ตัดสินความเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ ถ้าทำการทดสอบซ้ำๆแล้ว จะต้องได้ผลการทดสอบเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ปรากฎว่าบางทีผลการทดสอบจากนักจิตวิทยาคนละคนกันบางทีให้ผลออกมาไม่เหมือนกัน เพราะว่าผลการทดสอบเกิดจากการให้นักจิตวิทยามานั่งแปลความ ผลมันก็เลยออกมาแกว่งไปแกว่งมา ไม่ค่อยคงเส้นคงวาเท่าไร ประเด็นนี้พวกนักจิตวิทยาก็ยังตบตี ถกเถียงกันต่อไป
อ่าแต่ก็เป็นไปได้ว่านักจิตวิทยาคุณภาพมันไม่เท่ากันทุกคนนิ่ คนที่มันไม่ค่อยเก่งอาจจะตีความได้ไม่โดนเท่านักจิตวิทยาตัวจริงก็เป็นได้ แต่ว่ามีอีกสาเหตุที่นักจิตบางกลุ่มคิดว่าไอ้แต้มหมึกนี่เป็นวิทยาศาสตร์เทียม ชัดๆว่าถ้าแบบทดสอบนี้ดีจริง ผลวินิจฉัยจะต้องถูกต้อง คิดง่ายๆ ก็คือถ้านำคนไข้โรคจิตมาทำการทดสอบนี้ ผลการทดสอบต้องบอกว่าคนๆนี้เป็นคนไข้จริงๆ ปรากฎว่าผลการทดสอบมันเชื่อถือไม่ค่อยได้เท่าไร เพราะว่าบางทีผลออกมาไม่ถูกต้อง แต่ว่าประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ตบตีถกเถียงกันต่อไป

ที่น่าเป็นห่วงก็คือว่าแบบทดสอบนี้ไม่เหมือนกับดูดวงในสนุกดอทคอม หรือควิซในเฟสบุ๊ค ผลจากแบบทดสอบแต้มหมึกนี้ถูกเอามาใช้ในชั้นศาล ถ้าตอนนั้นนักจิตคนนั้นบอกว่าผมมีอาการทางจิต เท่านั้นแหละผมอาจจะหมดสิทธิรับทุนรัฐบาลเลยก็ได้ อ่าแต่นั่นอาจจะไม่สำคัญเท่าไร ผมอดมาทุนประเทศชาติก็คงไม่ได้เจริญน้อยลงหรือแย่ลง แต่ว่าถ้านักจิตใช้แบบทดสอบนี้วินิจฉัยผุ้ต้องหา แล้ววินิจฉัยผิด บอกว่าผู้ต้องหามีอาการจิต คราวนี้ถือว่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวลไป ซือกงเห็นแล้วกลุ้มใจ

ยังไม่พอครับ ตำราวิธีการวิเคราะห์ผลการทดสอบนั้นสามารถหาซื้อตามแผงหนังสือแถวบ้านทั่วไป ถ้าเกิดคนธรรมดาไปซื้อมาอ่าน แล้วตอบแบบทดสอบเพื่อแกล้งเป็นคนมีอาการทางจิตก็เป็นไปได้เหมือนกัน

สรุปก็คือนักจิตบางกลุ่มเห็นว่าแบบทดสอบนี้ยังมีรอยรั่วอยู่เยอะเลยไม่คิดเอามาใช้ แต่ว่านักจิตบางกลุ่มยังใช้อยู่เป็นชีวิตจิตใจ อันนี้ก็ยังต้องถกเถียงกันต่อไปครับ ผมจะพูดถึงแบบทดสอบแต้มหมึกอีกที ตอนที่เราพูดถึงจิตวิทยาคลินิก ตอนต่อไปมาดูกันต่อครับว่านักจิตจะงัดไม้ตายไหนมาตรวจสอบบุคลิกภาพคนอีก

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การผจญภัยของน้องแน็ต (จู๋ จิ๋ม และซิกี ตอนสอง)

สมมติเพื่อนข้างบ้านคลอดลูกพอดี ชื่อว่าน้องแน็ต น้องแน็ตเกิดมาในครอบครัวบ้านๆ ที่อาศัยอยู่น่าปากซอยบ้านคุณ น้องออกมากลิ้งเล่นบนเปล และเกิดสงสัยว่าเอ... กว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่จะต้องเผชิญอะไรบ้างนะ... โชคร้ายว่าน้องแน็ตเป็นคน การที่โตจากคนตัวเล็กๆ เป็นคนตัวใหญ่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มาดูกันดีกว่าน้องแน็ตจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างกว่าโตขึ้นมาได้

แน่นอนตามหลักของลุงซิกี ฟรอยด์ น้องแน็ตต้องเผชิญกับจู๋และจิ๋ม เริ่มกันเลย

ลุงซิกีตั้งทฤษฎีการพัฒนาทางเพศและจิต โดยอาศัยหลักที่ว่าการพัฒนาทางเพศและจิตนั้นเป็นของคู่กัน และการพัฒนาการนี้มีอยู่ห้าระดับด้วยกัน ว่าง่ายๆ คือ แต่ละระดับและช่วงวัยน้องแน็ตจะมีเริ่มหมกมุ่นในวัตถุของความสุขที่ต่างๆกันไป ถ้าไม่ได้รับความสุขในระดับนั้นๆ การพัฒนาการของน้องแน็ตจะถูกตรึงเอาไว้้ในระดับนั้น (fixation) ความขัดแย้งขัดเคืองในใจก็จะซุกอยู่ในจิตไร้สำนึกและจะโผล่ออกมาในรูปของนิสัยที่พิลึกๆ มาดูกันเลย เพราะฉะนั้นน้องแน็ตจะโตขึ้นมาเป็นยังไงก็อยู่กับการพัฒนาในช่วงระดับต่างๆ นั้นเอง

ระดับแรกคือระดับปาก (oral phase) น้องแน็ตชอบเอาของเข้าปาก กัดเล็บ ดูดขวดนม หรือ ดูดนมจากเต้าของแม่เมามันส์มาก ในช่วงระดับนี้น้องแน็ตต้องการที่จะเรียนรู้ว่าเราไม่สามารถได้สิ่งที่อยากได้เสมอไป ถ้าสังคมตามใจน้องแน็ตมากๆ ในช่วงนี้มากๆ เช่น ร้องเมื่อไรก็ให้ขนม น้องแน็ตจะถูกตรึงในระดับปาก (oral fixation) โตขึ้นมาก็จะมีนิสัยเอาแต่ใจ ถ้าสังคมไม่ยอมตามใจเด็กในระดับที่เหมาะสม เช่น นมก็ไม่ให้กิน ไม่ยอมให้ของเล่นมากับขบเล่น น้องแน็ตก็จะถูกตรึงในระดับปากเช่นกัน พอโตขึ้นมาจะมีนิสัยชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง สูบบุหรี่ หรือกินจุ

พอน้องแน็ตโตมาได้ขวบกว่า น้องแน็ตต้องเผชิญด่านต่อไป ด่านที่สองคือระดับตูด (anal phase) ช่วงนี้น้องแน็ตเริ่มเบื่อเอาของเข้าปากกัดเล่นแล้ว น้องแน็ตหันมาเล่นตูดเล่นขี้แทน อื้อมันเหลืองข้นหนีบสะใจเหลือเกินอะโหย พ่อแม่น้องแน็ตก็เริ่มส่ายหัวพยายามให้น้องแน็ตเลิกเล่นขี้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่เลยพยายามสอนน้องแน็ตใช้ห้องน้ำให้ถูกต้อง ขี้ให้ถูกที่ และก็พยายามให้เลิกเล่นขี้ ถ้าพ่อแม่จู่ๆหักดิบไม่ให้เล่นขี่้ หรือด่าน้องแน็ตไม่เหลือซาก ตอนที่น้องแน็ตพยายามทำใจให้หย่าการเล่นขี้ให้ได้ น้องแน็ตก็จะตรึงอยู่ในระดับตูด (anal fixation) โตขึ้นมาจะมีนิสัยเรื่องมาก เจ้าระเบียบ ในทางกลับกันถ้าพ่อแม่ไม่ค่อยสนใจปล่อยให้เล่นขี้ไปซะงั้น น้องแน็ตโตขึ้นมาก็เล่นขี่้เหมือนเดิม... เอ้ยไม่ใช่ โตมาก็จะมีนิสัยรกรุงรัง ไม่ค่อยดูแลตัวเอง ดูแลความสะอาด ซุ่มซ่ามเบ๊อะบ๊ะ แต่ถ้าพ่อแม่พยายามช่วยน้องแน็ตปรับตัว ใช้ห้องน้ำได้ถูกต้อง น้องแน็ตก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ควบคุมตัวเองได้ บันยะบันยังได้

ตอนนี้น้องแน็ตเริ่มโตขึ้นมาแล้ว ประมาณสามขวบกว่า ระดับที่สามคือระดับจู๋ ใช่แล้วครับจู๋ในความหมายชาวบ้านๆ นี่แหละ น้องแน็ตเริ่มเล่นจู๋ อะโหยสนุกเหลือเกิน เริ่มเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นผู้ชาย และมีจู๋ และจู๋สามารถตั้งแข็งขึ้นมาได้ น้องแน็ตช่วงนี้เริ่มอยากได้แม่มาครอบครองคนเดียว ก็เลยอิจฉาพ่อเพราะพ่ออยู่กับแม่ นอนกับแม่ตลอดเลย ปมปัญหานี้เรียกว่า ปมเอดิปัส (Oedipus complex) ปัญหาจริงๆ ก็คือพ่อตัวใหญ่แข็งแรงเหลือเกิน แย่งแม่มาจากพ่อไม่ไหว เลยกลัวไปอีกว่าพ่อจะมาตัดจู๋ทิ้ง ถ้าถูกตัดจู๋ ก็ไม่รู้จะเล่นกับอะไร อดสืบพันธุ์อีกต่างหาก น้องแน็ตเลยหวาดวิตกมากไม่รู้ทำไงดี เลยพยายามทำให้พ่อเป็นต้นแบบ และเรียนรู้ลักษณะนิสัยต่างๆจากพ่อ เพื่อให้ตนเองพ้นจากการถูกตัดจู๋ ถ้าเกิดปมนี้ไม่ถูกแก้ เหะเหะมุขเดิม น้องแน็ตจะถูกตรึงในระดับจู๋ พอโตขึ้นมาก็จะมีนิสัยหยิ่งผยอง เพื่อชดเชยกับการที่ไม่ได้แม่มาครองในช่วงระดับจู๋
เอ แต่ถ้าน้องแน็ตเป็นผู้หญิงล่ะ ผู้หญิงไม่มีจู๋ล่ะ จะมีปมอะไรบ้างมั้ย คำตอบคือ มี เรียกว่าปมอิเล็กตรา เด็กผู้หญิงก็อยากได้แม่มาครอบครองแต่เพียงผู้เดียวเหมือนกัน แต่ว่าเด็กผู้้หญิงไม่มีจู๋เลยคิดว่าคงเอาแม่มาครองคนเดียวไม่ได้ถ้าไม่มีจู๋ เลยเกิดอิจฉาจู๋พ่อขึ้นมา เด็กผู้หญิงเลยแก้ปัญหาโดยพยายามทำให้แม่เป็นต้นแบบ เพราะว่าแม่ก็ไม่มีจู๋เหมือนกัน แต่ว่าเด็กห่างเหินแม่ ไม่มีโอกาสได้เห็นแม่เป็นแบบอย่างก็จะถูกตรึงไว้ โตขึ้นมาก็จะร่านอยากได้จู๋ นอนกับผู้ชายไม่เลือก หรือไม่ก็พยายามทำให้ตัวเองเหนือกว่าผู้ชายให้ได้

เฮ่อ น้องแน็ตบอก...เหนื่อยโว้ยไหนจะห้ามไม่ให้เล่นขี้ ไหนจะกลัวถูกตัดจู๋ ลุงซิกีเลยให้น้องแน็ตพักนิดนึง ระดับต่อไปคือระดับเฉื่อย ใช่แล้วครับ ระดับเฉื่อย ช่วงนี้น้องแน็ตได้ปิดเทอมนิดนึง ก่อนที่จะก้าวสู่ระดับต่อไป ในระดับเฉื่อยไม่มีปมประหลาดอะไรให้น้องแน็ตต้องแก้

น้องแน็ตสิบขวบเลย เหลือด่านสุดท้าย นั่นก็คือระดับความต้องการทางเพศ เฮ่อเพศอีกแล้ว แต่ว่าคราวนี้น้องแน็ตโตแล้ว ความคิดอ่านเริ่มถูกควบคุมโดยอีโกได้เต็มที่ แต่ว่าระดับสุดท้ายนี้น้องแน็ตต้องพยายามเริ่มไม่พึ่งพาพ่อแม่ และพยายามเสาะแสวงหาความสุขทางเพศจากคนรอบๆตัว แต่ว่าน้องแน็ตเริ่มโตแล้วความสุขทางเพศไม่ได้มาจากการนอนกับผู้หญิงที่โรงเรียนแต่อย่างเดียว ความสุขนั้นมาจากการที่เพื่อนที่โรงเรียนยอมรับ เพื่อนฝูงรักใคร่ ถ้าเกิดไม่ได้ระดับการยอมรับจากเพื่อนๆที่โรงเรียนหรือคนอื่นในสังคม น้องแน็ตโตขึ้นมาก็จะมีชีวิตรักที่กระท่อนกระแท่น เป็นคนเย็นชา หรือไม่ก็กลายเป็นคนไร้สมรรถภาพทางเพศหรือนกเขาไม่ขันไปซะงั้น

อื่ม... จบแล้ว

เอ ฟังดูทะแม่งๆ ทำไมคราวนี้ไม่เห็นมีการทดลองอะไรเลย ทฤษฎีพวกนี้มาจากไหน นายซิกีเอาเด็กมาจับไว้แล้วลองห้ามพ่อแม่สอนลูกใช้ห้องน้ำ แล้วมาวัดนิสัยกันตอนโตอย่างงั้นเรอะ ไม่ได้ๆๆ ทำแบบนั้นไม่ได้เพราะว่ามันผิดหลักศีลธรรม เอาเด็กมาทดลองแบบนั้นไม่ได้ เอ...แล้วนายซิกีไม่นั่งเทียนเอาทฤษฎีประหลาดมาจากไหนเนี่ย คำตอบก็คือ ใช่แล้วครับนายซิกีนั่งเทียนเอา คือหลักฐานจากประสบการณ์นั่งฟังคนไข้ที่เข้ามาปรึกษามาเล่าให้ฟัง แล้วก็ตีความเอามาเป็นหลักการทฏษฎีซะงั้น แต่ว่าทฤษฎีนี้มันเหมือนฟังนิทานโป๊ ฟังแล้วสนุกดีก็เลยฮิตติดชาร์ทไป นักจิตวิทยาสมัยใหม่เลิกศึกษาทฤษฎีของนายซิกีไปเรียบร้อยแล้ว เพราะว่ามันไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์เอาซะเลย

แต่ว่ามีนักวิชาการกลุ่มนึงครับที่นิยมประยุกต์หลักของนายซิกีอยู่เรื่อยๆ คนกลุ่มนั้นคือนักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ครับ เช่นลองอ่านหนังสือวรรณกรรมแล้วลองมาวิเคราะห์นิสัยตัวละครโดยใช้หลักพัฒนาการทางเพศและจิต เช่น ตัวละครตัวนี้ตอนเด็กๆ มีปัญหากระทบกระทั่งกับพ่อ พ่อชอบตบตีแม่ ตัวละครเลยถูกตรึงในระดับจู๋ ซึ่งส่งผลในท้องเรื่องตอนหลังตัวละครตัวนี้กลายเป็นเลยเย่อหยิ่งจองหอง... เฮ่อว่ากันเข้าไปนั่นไม่จบไม่สิ้นสักที

ตอนที่ผมเรียนทฤษฏีนี้ตอนปริญญาตรี เค้าไม่เน้นเลยให้เราเข้าใจเนื้อหาทฏษฎีของฟรอยด์โดยละเอียด(ตอนผมเริ่มเขียนผมต้องมาเปิดวิกิ มาเปิดตำราเก่าดู) แต่ว่าเค้าหยิบขึ้นมาสอนเพื่อชี้ให้เห็นว่านักจิตวิทยาสมัยใหม่นั้นใช้เพียงแค่วิธีการทางวิทยาศาสตร์และสถิติเท่านั้น อะไรที่ไม่มีหลักฐานการทดลองมายืนยัน เราไม่ถือนั่นคือความรู้ เป็นแค่ทฏษฎีมีพูดขึ้นมาลอยๆ เฉยๆ

บางทีผมก็อดขำไม่ได้ครับ เวลาคนพูดว่า อยากเรียนจิตวิทยาเพราะอยากเก่งแบบซิกมันด์ ฟรอยด์ ตอนนี่้ทุกคนคงเข้าใจผมแล้วนะครับ

ตอนหน้ามาดูกันว่านักจิตวิทยาสมัยใหม่ใช้วิธีอะไรในการศึกษาบุคลิกภาพของคน โทษทีตอนนี้ยาวมากๆเลย ยาวที่สุดเท่าที่เคยเขียนมา

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จู๋ จิ๋ม และ ซิกี ตอนหนึ่ง

สมมติว่ามีแกะอยู่หน้าบ้านอยู่ฝูงนึง แต่ว่าแกะฝูงนี้เป็นแกะพิเศษ แกะบางตัวชอบศึกษาจิตวิทยามาก เลยเขียนบทความจิตวิทยา ลงวิแกะพีเดียเต็มไปหมดเลย คุณนึกสนุกเลยอยากรู้ว่าจิตวิทยาแกะต่างจากจิตวิทยาคนยังไงบ้าง เลยคลิกเข้าไปที่วิแกะพีเดียแล้วลองหาจิตวิทยาแกะ โอ้วปรากฎว่าแกะนั้นมีความรู้ทางจิตวิทยามีครบทุกสาขาย่อยเลย อะโหยแกะพวกนี้ล้ำมาก แต่เผอิญคุณจำได้ว่าบล๊อกจิตสัญญาว่าจะพูดเรื่องจิตวิทยาบุคลิกภาพ คุณอดใจไม่ไหวเลยอยากลองอ่านจิตวิทยาบุคลิกภาพแกะ ลองกดหาดู ... ไม่มี... ไม่มีครับ เพราะว่าแกะทุกตัวเหมือนกันอย่างกับแกะ ที่คนสนใจศึกษาจิตวิทยาบุคลิกภาพก็เพราะว่าคนทุกคนมีบุคลิกภาพต่างกัน มีลักษณะท่าทาง ความคิด นิสัย ใจคอ อารมณ์ไม่เหมือนกันเลยสักคนเดียว เพราะฉะนั้นอีกจุดหมายนึงของนักจิตวิทยาคืออยากรู้ว่าอะไรกันที่ทำให้คนมีบุคลิกภาพไม่เหมือนกัน ทำยังไงเราถึงจะวัดบุคลิกภาพของคนได้

คำถามพวกนี้น่าสนใจทีเดียวเพราะว่าบุคลิกภาพเป็นสิ่งที่มนุษย์ภูมิใจว่าดีกว่าสัตว์แน่นอน มนุษย์เด่นกว่าสัตว์ตรงที่ว่าเราไม่เหมือนกันเลยเนี่ยแหละ ถ้าเราสามารถเข้าใจว่าอะไรทำให้เราไม่เหมือนกันก็จะทำให้เราเข้าใจเพื่อนมนุษย์กันมากขึ้น แต่ถ้าความไม่เหมือนกันเป็นเรื่องที่ไม่ดีเช่น มีนิสัยจับคนไปกินตับ เราก็จะได้สามารถแก้ไขอะไรได้ทัน อีกหนึ่งประโยชน์ที่ชัดๆ ก็คือถ้าเราสามารถวัดบุคลิกภาพของคนได้ เราก็จะช่วยคนหาคณะเรียนที่คลิกถูกใจ หางานที่เหมาะเหมงได้

มาเริ่มจากทฤษฎีเก่าแก่คลาสสิกเลยดีกว่า ทฤษฎีจิตพลวัตรของนายซิกมันด์ ฟรอยด์ หรือชื่อเล่นว่าซิกี้ ไม่มีใครไม่รู้นักจิตวิทยารายนี้ เพราะว่าทฤษฎีของนายซิกี้ดังมาก ไอเดียก็คือจิตมีพลวัตร ซึ่งแปลว่ามีความเคลื่อนไหว มีแรงขับเคลื่อนถึงแม้ว่าเราจะมองไม่เห็นก็ตาม ทฤษฎีนี้บอกไว้ว่าสิ่งที่ควบคุมจิตและพฤติกรรมเปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง



สิ่งที่เราเห็นก็แค่ปลายเล็กๆที่อยู่เหนือน้ำนั้นเปรียบเหมือนกับจิตสำนึก คือเรารู้ตัวว่าเราคิดอะไรอยู่ สามารถปรับความคิดได้โดยใช้เหตุผลและความรู้ต่างๆ อันนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักของทฤษฎี ทฤษฎีนี้บอกไว้อีกว่าจิตพลวัตรของคนนั้นส่วนใหญ่อยู่ใต้สำนึก ส่วนนั้นเปรียบเหมือนก้นมหึมาของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำที่ใหญ่กว่ายอดภูเขาน้ำแข็งมาก (ก็เพราะงี้แหละเรือไททานิคถึงจม) จิตใต้สำนึกแบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกัน

ส่วนที่จมอยู่ใต้ก้นสุดก็คือ อิด(Id) อิดเป็นตัวแสดงถึง ความกระหื้นกระหายความสุขของมนุษย์ ทำยังไงก็ได้ที่จะได้มาซึ่งความสุข หรือความผ่อนคลาย อิดเป็นส่วนของจิตที่พัฒนาขึ้นมาก่อนตอนคนเกิด คือเหมือนเด็กเพิ่งเกิดอยากได้อะไรก็ร้องไห้ อยากได้อะไรก็ร้องหาแม่ตีหนึ่งตีสองก็ร้องไม่มีเกรงใจอะไรทั้งนั้น

ส่วนที่ถัดขึ้นมาก็คือ อีโก (ego) แสดงถึงส่วนของจิตที่อิงหลักความจริง เช่น พอเด็กโตขึ้นมา พอรู้ว่าที่จริงใช่ว่าร้องไห้แล้วจะได้ทุกอย่าง อยากได้ของเล่นก็ใช่ว่าจะตื๊อพ่อแม่ก็ซื้อให้ได้เสมอไป ว่าง่ายๆ ก็คือเริ่มเห็นหลักความเป็นจริงว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขเสมอไป
ถัดมาส่วนที่อยู่เหนืออิด กับ อีโก ก็คือ ซุปเปอร์อีโก (superego) อันนี้แสดงถึงส่วนของจิตที่อิงหลักอุดมการณ์ เช่นเด็กโตขึ้นมาอีกก็เริ่มคิดได้ว่ามีความสุขอยู่คนเดียวไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ทุกๆคนต้องมีความสุขเหมือนกับเรา ส่วนของจิตนี้ก็คือพวกศีลธรรม จรรยาต่างๆ นั่นเอง ซุปเปอร์อีโกผลักดันให้เราทำสิ่งต่างๆเพื่อสนองอุดมการณ์ที่อยู่เหนือแค่ตัวเราขึ้นไป แต่ว่าเราจู่ๆ จะขายบ้าน ขายรถ บริจาคให้การกุศลหมดเลยก็ไม่ได้ อีโกเลยต้องช่วยฉุดลงมาให้มันพอดีๆ

ฟรอยด์บอกว่าลักษณะนิสัยของคนขึ้นอยู่กับการโต้ตอบกันของสามส่วนของจิตนี้ ถ้าจิตเติบโตขึ้นมาโดยที่อิดมีอำนาจเหนือกว่าอีโก กับซุปเปอร์อีโก ก็จะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ แต่ว่าถ้าซุปเปอร์อีโกแรงมากๆ เราก็จะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เห็นคนอื่นแย่ไปหมด เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครมีมาตรฐานศีลธรรมจรรยา สูงเท่าตัวเอง

เอ พูดแต่ภูเขาน้ำแข็งมาตั้งนาน ยังไม่ได้พูดถึงจู๋ ถึงจิ๋มเลย จะใช่ฟรอยด์ได้ยังไง รอฟังอยู่ตั้งนาน ตอนหน้ามีจู๋ มีจิ๋มแน่นอน ติดตามตอนต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ทำสถิติ

อาซิ่มเพื่อนแม่ “ไปร่ำเรียนมถึงเมกานี่ เรียนสาขาไหนเนี่ย”
เต้ “เรียนจิตวิทยาครับ”
อาซิ่มเพื่อนแม่ “จะดีหรอ อย่างนี้ก็ต้องอยู่กับคนบ้าตลอดเลยสิ”
เต้ “...”
ผมเจอประจำครับ เจอถามแบบนี้ทีไรก็ตอบไม่ค่อยถูก ใจจริงอยากจะอธิบายให้อาซิ่มฟังว่า...

นักจิตวิทยาทุกคนไม่ได้เรียนมาด้านจิตวิทยาบำบัด ที่จริงแล้วนักจิตวิทยาส่วนใหญ่คือนักจิตวิทยาทดลองอย่างที่เห็นตัวอย่างจากตอนที่แล้ว จับคนมาทำอะไรสักอย่างนึงแล้วอยากรู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้คนทำสิ่งนั้นลงไป จิตวิทยาเป็นสาขาที่เอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาศึกษาประเด็นต่างๆ ทางสังคมศาสตร์ หรือทางปรัชญา
วิธีการทางวิทยาศาสตร์คืออะไร คงไม่ต้องอธิบายมากมาย ในการทดลองนึงจะอย่างน้อยสองกลุ่มการทดลองสองกลุ่มนี้มีสิ่งที่ต่างกันอยู่นึงอย่างเรียกว่าตัวแปรอิสระ นอกนั้นทุกอย่างเหมือนกันหมด เสร็จแล้วเราก็เปรียบเทียบผลจากทั้งสองกลุ่ม ถ้าได้ผลต่างกันเราสรุปว่าสิ่งที่ต่างกันนั้นเป็นผลมาจากตัวแปรอิสระ แค่นี่แหละ การทดลองทางจิตวิทยาทุกการทดลองมีหลักแค่นี้ (ยกเว้นการทดลลองคุกแสตนฟอร์ดของซิมบาร์โด อันนั้นไม่ใช่วิทยาศาสตร์)

แต่ปัญหาก็คือ เรารู้ได้ยังไงล่ะผลจากทั้งสองกลุ่มนั้นต่างกันจริงๆ ลองนึกดูเล่นๆ ว่าเราทำการทดลองกับตัวเองโดยต้องการอยากรู้ว่าจากบ้านไปมหาลัยระหว่างขับรถไป หรือนั่งรถเมล์ไปต่อรถไฟฟ้าแล้วเดินอันไหนเร็วกว่ากัน
วันแรก ขับรถไป ใช้เวลา 60 นาที
วันที่สอง ไม่ขับรถไป ใช้เวลา 53 นาที
โอเคเย่ สรุปเลยว่าไม่ขับรถไปจะดีกว่า อื่มแตลองนึกอีกที วันแรกที่ขับไปรถติดมากเพราะว่าติดขบวนเสด็จ เพราะฉะนั้นยังสรุปไม่ได้ ครูสอนที่โรงเรียนว่าเวลาทำการทดลองให้ทำหลายๆครั้งแล้ว เลยตัดสินใจว่าเดือนหน้าก่อนออกจากบ้านจะดีดเหรียญ ถ้าออกหัวจะขับรถไป ถ้าออกก้อยจะไม่ขับไป แล้วก็จดไว้ทุกครั้งว่าใช้เวลาเท่าไรตอนถึงคณะ
วันที่ขับรถไป : 60 33 46 48 38 66 55 57 54 57 เฉลี่ย 51.4
วันที่นั่งรถเมล์ไปต่อรถไฟฟ้าแล้วเดิน : 53 60 57 64 61 37 60 60 47 51 เฉลี่ย 55.0
เย่สรุปแล้วเราค้นพบแล้วว่าขับรถไปเร็วกว่าสี่นาทีโดยเฉลี่ย แต่ว่าถ้าเอาข้อมูลนี้ไปให้นักจิตวิทยาดู นักจิตวิทยานายนั้นจะตอบว่าเรายังสรุปไม่ได้ แล้วเมื่อไรจะสรุปได้ล่ะอุตส่าห์นั่งจดเวลามาเป็นเดือน

เวลาวิเคราะห์ผลการทดลองนักจิตวิทยา(และนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ) จะใช้เวทย์มนต์ยุทโธปกรณ์ที่เรียกว่าการตรวจสอบสมมติฐาน การตรวจสอบสมมติฐานทุกชนิดใช้ประโยชน์จากการกระจายของความน่าจะเป็น อันนี้เข้าใจไม่ยาก การกระจายของความน่าจะเป็นเป็นสิ่งที่บอกเราว่าเรามีโอกาสได้เห็นสิ่งที่เราสนใจด้วยความน่าจะเป็นเท่าไร ดูตัวอย่างการกระจายของความน่าจะเป็นของลูกเต๋า ทอยลูกเต๋าไปหนึ่งครั้งมีโอกาสได้หนึ่งแต้มเท่าไร ลูกเต๋ามีหกด้าน เพราะฉะนั้นความน่าจะเป็นที่จะได้หนึ่งแต้มคือ หนึ่งในหก ถ้าถามใหม่ว่าทอยลูกเต๋าไปหนึ่งครั้งมีโอกาสได้มากกว่าสี่แต้มเท่าไร คำตอบคือ สองในหก (ได้ห้าแต้ม หรือได้หกแต้ม) อื่มแล้วทำไมถึงเรียกว่าการกระจายของความน่าจะเป็นล่ะ ลองดูภาพข้างล่างดู จะเห็นความน่าจะเป็นมันกระจายไปยังแต่ละด้านของลูกเต๋า โอเคเข้าใจแล้วว่าการกระจายของความน่าจะเป็นแปลว่าอะไร


กลับมาที่การตรวจสอบสมมติฐาน ก่อนอื่นเลยเราต้องหาสมมติฐานขึ้นมาสองอัน สมมติฐานแรกคือทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่าง ขับรถไป หรือไม่ขับรถไปใช้เวลาพอกัน ตำราฝรั่งเรียกว่า null hypothesis ตามตำราไทยเรียกว่าสมมติฐานหลัก แต่ผมเรียกว่าสมมติฐานโมฆะเดี๋ยวจะบอกทีหลังว่าทำไม สมมติฐานที่สองคือทั้งสองกลุ่มต่างกัน ขับรถไปใช้เวลาไม่เท่ากับไม่ขับรถไป ตำราฝรั่งเรียกว่า alternative hypothesis ตามตำราไทยเรียกว่าสมมติฐานรอง แต่ผมเรียกว่าสมมติฐานทางเลือกใหม่ พอได้สมมติฐานทั้งสองอันนี้แล้ว เราจะหาค่าที่เรียกว่าค่าสถิติของข้อมูล ค่าสถิตินี้ได้มาจากการเอาข้อมูลมาบวกลบคูณหารกัน แต่ว่าไม่ได้ทำมั่วๆ ค่าสถิตินี้เรารู้คร่าวๆว่าการกระจายของความน่าจะเป็นของมันเป๊นยังไงเวลาที่สมมติฐานโมฆะนั้นเป็นจริงแล้วเราดูว่ามีโอกาสเท่าไรที่จะได้เห็นค่าสถิติที่เราได้มาเวลาที่สมมติฐานโมฆะเป็นจริง อ่าสมมติเราได้ค่่าสถิติของข้อมูลการเดินทางจากบ้านไปมหาลัยเรียบร้อยแล้ว เราก็จะมาดูจากการกระจายของความน่าจะเป็น(เวลาทำจริงๆ คนเปิดหนังสือดู หรือไม่ก็ใช้คอมพิวเตอร์)เพื่อจะได้รู้ว่ามีโอกาสเท่าไรที่จะได้เห็นข้อมูลที่เราจดไว้ถ้าสมติฐานโมฆะเป็นจริง ถ้าปรากฎว่าความน่าจะเป็นที่ได้เห็นค่าสถิตินั้นต่ำมาก แสดงว่าสมมติฐานโมฆะนั้นไม่ถูกต้อง และเราจะสรุปได้ว่าสมมติฐานทางเลือกใหม่นั้นถูกต้อง ผมชอบเรียกว่าสมมติฐานทางเลือกใหม่เพราะว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่คนอื่นไม่เคยรู้มาก่อน เพราะฉะนั้นเราค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ขึ้นมาเอาไปบอกเพื่อนในคณะได้ว่าขับรถไปมหาลัยเร็วกว่านั่งรถไฟฟ้า แต่ว่าถ้าความน่าจะเป็นที่ได้เห็นค่าสถิตินั้นไม่ต่ำเท่าไร แสดงว่ามีความน่าจะเป็นสูงว่าสมมติฐานโมฆะนั้นเป็นจริงแต่ว่าเรายังไม่ค่อยมั่นใจ ผลการทดลองนี้เลยเป็นโมฆะไปยังสรุปอะไรไม่ได้ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าขับรถไป หรือไม่ขับรถไปเร็วกว่ากัน ต้องลองหาข้อมูลมาเพิ่ม

วิธีการทดลองของนักจิตวิทยาก็มีแค่นี้เองครับ แต่ว่าแต่ละการทดลองจะมีเทคนิคต่างๆกันไป นิดๆหน่อยๆ ไปตามสไตล์

น่าเสียดายว่าผมไม่มีโอกาสนั่งจิบน้ำชากับอาซิ่มเพื่อนแม่ แล้วอธิบายตามที่ผมอธิบายในนี้ให้อาซิ่มฟัง แต่ว่าครั้งต่อไปเจออาซิ่มจะบอกให้มาอ่านที่ jitjeet.blogspot.com เพราะฉะนั้นคนที่อ่านอยู่อย่าลืมให้บอกให้เพื่อนมาอ่านด้วย (เอ๊ะ โฆษณาซะงั้น)

แต่ว่าอาซิ่มเค้าก็ถูกของอีอยู่นาเนี่ย นักจิตวิทยาก็ศึกษาคนบ้าแล้วก็พวกโรคทางจิตด้วย เพราะฉะนั้นตอนต่อไปคือจิตวิทยาบุคลิกภาพ และโรคทางจิตครับผม

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

เมืองคนบาป? ตอนสอง

ตอนที่แล้วนักจิตวิทยาสังคมทิ้งไว้ว่า ในสถานการณ์ที่เราไม่มั่นใจว่าเป็นเหตุจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือรึเปล่า บางครั้งเราจะพยายามเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นโดยการดูจากคนรอบๆตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดการโง่เป็นกลุ่ม เขลาเป็นกลุ่ม ทั้งๆที่ถ้าอยู่คนเดียวไม่มีคนอื่นอยู่รอบตัวจะมีโอกาสหยิบยื่นความช่วยเหลือให้มากกว่า คราวนี้มาลองดูสถานการณ์ที่เราเห็นกันจะๆ ว่าคนต้องการความช่วยเหลือจริงๆ แล้วดูว่าคนจะตอบสนองยังไงบ้าง

มีการทดลองมาอีก การทดลองนี้เราแกล้งบอกว่าอยากให้คนจับกลุ่มคุยกันเรื่องปัญหาที่่แต่ละคนมีหลังจากเข้ามาอยู่ในเมือง โดยจะให้ไล่พูดทีละคนว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไรบ้าง แต่ว่าเวลาคุยกันต้องคุยผ่านเสียงตามสายเพราะว่าคนอื่นอาจจะเขินไม่กล้าพูดถึงปัญหาของตัวเองถ้าเกิดต้องประจันหน้ากับคนอื่น แต่ว่า ฮ่าๆ แน่นอน ในกลุ่มนี้มีคนจริงอยู่แค่คนเดียวก็คือคนที่เข้าร่วมการทดลองนั่นเอง คนอื่นเป็นแค่เสียงอัดเทป แต่ละเทปพูดถึงปัญหาสัพเพเหระทั่วไป แต่ว่ามีเทปนึงที่แปลกว่าเทปอื่น เทปนี้พูดว่า พอผมย้ายเข้ามาในเมืองก็อาการของโรคลมบ้าหมูก็โผล่ขึ้นมา บางทีชักกระตุกเกือบตาย คนพาเข้าโรงพยาบาลแทบไม่ทัน คราวนี้ถึงตาคนเข้าร่วมการทดลองพูดถึงปัญหาของตัวเองบ้าง เหะเหะระหว่างนั้นเราก็เปิดเทปพิเศษอันนึงขึ้นมา เทปนั้นพูดประมาณว่า เอ่อ เอ่อ ช่ชชชชชชวย ด้้ดดดดวย ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ไหวแล้ว จะตายเอา คคคคใครก็ได้ ชชช่วยที แหวะ แหวะ อักๆๆๆ เทปนี้ยาวประมาณสองนาทีโดยเห็นชัดๆว่าอาการจะเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ เราต้องการดูว่าคนเข้าร่วมการทดลองจะออกมาขอความช่วยเหลือตอนไหน ผลปรากฎว่าถ้าคนเข้าร่วมการทดลองคิดว่าตัวเองอยู่กับคนที่ชักโดยไม่มึคนอื่นอยู่ (ฟังเทปแค่ของคนที่ชักเทปเดียว) 85% จะขอความช่วยเหลือก่อนเทปพิเศษจะจบ ถ้าคิดว่าตัวอยู่กับคนที่ชักกับคนอีกคนนึง ลดลงเหลือ 60% ถ้าคิดว่าอยู่กับคนอื่นสี่คน ลดลงไปเหลือ 31%



จากผลการทดลองนี้สรุปได้ว่าถ้ามีคนอื่นอยู่ คนแต่ละคนจะมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจช่วยเหลือน้อยลง นักจิตวิทยากลุ่มนี้เลยตั้งทฤษฎีขึ้นมาว่าความรับผิดชอบนั้นถูกกระจายออกไปตามจำนวนของคนที่เห็นเหตุการณ์ เช่น ในการทดลองนี้ถ้ารู้ว่ามีคนอื่นอยู่ก็จะรู้สึกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะช่วยคนชักนี้ กระจายๆ ออกไป ยิ่งคนเห็นเหตุการณ์มากเท่าไร ทำให้รู้สึกผิดน้อยลงไปเท่านั้น เพราะว่าเกิดการกระจายความรับผิดชอบ ถ้าเราเป็นคนเดียวที่เห็นเหตุการณ์ ความรับผิดชอบกระจายไปไหนไม่ได้ ถ้าคนชักมันตาย คนที่ต้องรู้สึกผิดคือเราคนเดียว ลองนึกถึงตอนที่แอนดรูถูกแทงล้มกองอยู่ที่พื้น คนที่อยู่ในรถไฟด้วยกันอาจจะเห็นแล้วว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือ แต่เผอิญรู้ว่ามีคนอีกเก้าคนที่เห็นเหมือนกัน อ้าวเฮ้ยแล้วทำไมต้องเป็นเราล่ะว่ะเนี่ย ที่ต้องเดือดร้อนเดินออกไปเรียกตำรวจให้สอบสง สอบสวน ถ้าเกิดเด็กมันตายจริงๆ ก็ไม่ใช่ความผิดเราคนเดียว แล้วคิดว่าคงเป็นความผิดของไอ้เก้าคนที่เหลือด้วย กลับบ้านไปได้ข่าวว่าเด็กตาย ก็คงไม่รู้สึกผิดมากเท่าไร

สรุปได้ว่าแค่เห็นว่ามีคนอื่นอยู่รอบตัวทำให้คนช่วยเหลือกันน้อยลง เพราะฉะนั้นการที่เรื่องน่าเศร้าอย่างเรื่องของแอนดรูนั้นมักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ก็คงไม่ได้น่าแปลกใจนัก ไม่ใช่เพราะเมืองทำให้คนเย็นชาต่อกันหรือว่าอะไรเลย คนชนบทรู้จักกันหมดสนิทสนมกันก็จริง แต่ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้ ผลออกมาก็คงจะไม่ต่างกันนัก

มาถึงตอนนี้เราก็เข้าใจแล้วว่าทำไมคนถึงทำเลวต่อกันในบางสถานการณ์ ทำไมคนถึงไม่ช่วยเหลือกันในบางสถานการณ์ จุดนี้ทำให้เราเห็นประเด็นใหญของจิตวิทยาสังคม นั่นก็คือสถานการณ์นั่นเอง ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนนู้นแล้วว่า เป้าหมายของจิตวิทยาสังคมคือศึกษาว่าพฤติกรรมมนุษย์สัมพันธ์กับสังคมยังไงเพื่อว่าสามารถเอาความรู้ความเข้าใจมาแก้ไขปัญหาในสังคม ถ้าอ่านกันมาถึงตอนนี้แล้ว ผมไม่ขอดูถูกคนอ่านโดยการบอกว่าเราเรียนรู้อะไรบ้างจากการทดลองคลาสสิกบุกเบิกของจิตวิทยาสังคม

เศร้านักตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของจิตวิทยาสังคมแล้ว ที่จริงมีอะไรน่าสนใจน่าตื่นเต้นอีก เราจะย้อนกลับมาพูดถึงจิตวิทยาสังคมทีหลัง ตอนต่อไปจะขอหยุดนิดนึงแล้วขอพูดรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ว่านักจิตวิทยาทำการทดลองกันยังไงคนถึงจะยอมรับผลสรุป เมื่อไรถึงจะสรุปอะไรออกมาได้ นักจิตวิทยามีอะไรที่ต่างจากนักวิชาการสาขาอื่น จะลองพยายามทำให้น่าตื่นเต้นดู

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

พักยก

ภูมิใจในตัวเองเหมือนกันว่าเขียนมาได้สิบตอนแล้ว ตอนแรกนึกว่าเขียนสองสามตอนคงเบื่อแล้วหยุดไปเอง ตอนนี้เลยคิดๆว่าอยากให้คนอ่านกันมากขึ้นเพราะว่าอยากคนรู้เรื่องจิตวิทยาและวิทยาการสมองกันเยอะขึ้นไปอีก ถ้าแอบอ่านเป็นประจำอยู่ให้กดไอ้ปุ่มข้างๆ เพื่อเป็นผู้ติดตามแล้วก็แนะนำเพื่อนๆให้อ่านกันหน่อย

อีกอย่าง แอบรู้มาว่าคนไทยตอนนี้กำลังนิยมเขียนบล็อกกัน ถ้ารู้จักบล๊อกคนไทยที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หรือสาระน่ารู้ต่างๆ ช่วยบอกด้วยนะครับ จะได้เอาลิงค์มาแปะช่วยกันโปรโมท ผมอยากให้นักบล๊อกวิทยาศาสตร์ไทยร่วมมือกันเขียนบทความดีๆ เพื่อให้คนไทยได้มีเว็บสาระดีๆ ย่อยง่ายๆ ไว้อ่านกันมากๆ

ผมแอบดีใจทุกครั้งที่เห็นคนกูเกิ้ลคำว่า จิตวิทยา หรือ ซิมบาโด้ หรือก การทดลองจิตวิทยา แล้วพลัดหลงมาที่บล๊อกจิต ผมเลยคิดว่าวันนึงคงจะดีไม่น้อยถ้าวันนึงเราสามารถหาอะไรในกูเกิ้ลเป็นภาษาไทย แล้วจะได้รู้สิ่งที่อยากรู้ ตอบสิ่งที่อยากตอบ อ่านสิ่งที่อยากอ่าน

เพ้อฝันใหญ่แล้ว ไว้พรุ่งนี้จะโพสต์ตอนจบของเมืองคนบาปครับ ขอบคุณที่ติดตามกัน

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

เมืองคนบาป? ตอนหนึ่ง

กาลครั้งหนึ่งเมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว มีเด็กหนุ่มคนนึงที่ใช้ชีวิตปกติธรรมดาท่ามกลางฝูงคนในมหานครนิวยอร์ค เด็กคนนั้นชื่อเด็กชายแอนดรู แอนดรูนั่งรถไฟใต้ดินไปโรงเรียนทุกวัน เป็นเด็กดีเพื่อนๆ รักใคร่ เหมือนเด็กอื่นๆ ทั่วไปในโลก มาอยู่วันหนึ่งแอนดรูนั่งรถไฟใต้ดินกลับบ้านตามปกติ แต่ว่าวันนั้นโชคไม่ค่อยดีเท่าไร ในรถไฟที่แอนดรูนั่งอยู่ มีกลุ่มเด็กผู้ชายสามคนเมาๆ ไม่สบอารมณ์ คนอื่นก็หนีเขยิบหนีพวกนั้น ไม่ก็แกล้งอ่านหนังสือพิมพ์ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น สองนาทีต่อมา แอนดรูถูกแทงเต็มตัว กระโหลกแตกจมกองเลือด ผู้โดยสารคนอื่นยังแกล้งอ่านหนังสือพิมพ์ต่อไป แล้วก็เผ่นออกสถานีหน้า มีคนเห็นเหตุการณ์สิบคน ไม่มีคนไหนโทรเรียกตำรวจเลย สุดท้ายแอนดรูนอนตายอยู่ในรถไฟ

เราพอจะเข้าใจแล้ววว่าทำไมคนถึงทำสิ่งแย่ๆ ตอนนี้เราจะถามคำถามกลับกัน ทำไมคนถึงไม่ช่วยเหลือกัน ไม่ยอมทำสิ่งดีๆ ถ้าคนในรถไฟขบวนนั้นเรียกเจ้าหน้าที่ เรียกตำรวจสถานีต่อไป แอนดรูอาจจะไม่ตายก็ได้ มันเกิดอะไรกันขึ้นล่ะเนี่ย เหตุการณ์นี้เขย่าขวัญคนเมืองนิวยอร์คไม่น้อย คนก็คิดกันไปว่า คนเมืองเย็นชา ไม่มีความรู้สึกต่อกัน โหดเหี้ยม สู้คนชนบทไม่ได้ แต่ว่าจริงเหรอคนมันจะเย็นชาได้ขนาดว่าเห็นคนนอนตายไปต่อหน้าต่อตาขนาดนั้นเลยเหรอ จริงอยู่คนเมืองทำงานหนัก เครียด แต่ว่าคงไม่ถึงขนาดนั้นล่ะม้าง หรือว่าทุกเมืองกลายเป็นเมืองคนบาปไปแล้ว

นักจิตวิทยาสังคมก็ขอมาทำไมหน้าที่ตอบคำถาม โดยอ้างถึงหลักที่ว่าพฤติกรรมที่เห็นนั้นควรจะได้รับอิทธิพลมาจากสังคมรอบตัว เค้าสังเกตว่าเวลาอยู่ในเมืองเนี่ยคนมันเยอะมาก มองไปทางไหนก็คน อยู่ตรงไหนก็มีคน นักจิตวิทยาสังคมเลยสันนิษฐานว่าการที่มีคนอยู่มากๆนั่นแหละทำให้คนไม่ได้คิดจะช่วยเหลือกัน ลองใช้หลักการนี้มาวิเคราะห์สถานการณ์ของแอนดรูกัน

สิ่งแรกที่นักจิตวิทยาสังคมคิดถึงก็คือ การที่คนเยอะแล้วต่างคนต่างไม่รู้สึกตกใจหรืออะไรทำให้คิดว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คือสมมติฐานของเค้า แล้วจะทดสอบยังไงล่ะ มีการทดลองสนุกๆ อีกแล้ว เราให้เลขาสาวสวยไปรับผู้เข้าร่วมการทดลองเข้ามา แล้วหลอกว่าเราเรียกให้มาทำแบบสอบถามเฉยๆ เลขาก็ยื่นแบบสอบถามให้ แล้วก็บอกว่า จะนั่งทำงานอยู่หลังม่านนี้นะคะ เสร็จก็เดินเฉิดฉายแล้วก็รูดม่านปิด (เพื่อให้รู้ว่าถ้าจะเข้ามาก็เข้ามาได้ง่ายๆ) คุณเธอก็แกล้งทำเสียงเรียงกระดาษ ปิดลิ้นชัก คุยโทรศัพท์ว่าไป สักพักนึงก็เปิดเทปที่เตรียมไว้ คนตอบแบบสอบถามก็ตอบไปแล้วก็ได้ยินเสียง(จากเทป) เหมือนชั้นหนังสือถล่มลงมา แล้วก็มีเสียงเลขาร้องโอดโอย โอ๊ยเจ็บจังเลยค่ะ ไม่ไหวแล้ว ชั้นหนังสือนี่มันหนักจัง โอย โอย โอย โอดครวญอยู่ได้สักพักนึง แล้วก็ทำเสียงเหมือนคลานๆ ออกจากห้องปิดประตูไป เรามาแอบดูว่าคนที่ทำแบบสอบถามนี่จะเข้ามาช่วยหรือร้องขอความช่วยเหลือรึเปล่า ปรากฎว่าคนประมาณ 70% เข้ามาช่วยเลขาสาวก่อนเธอจะออกไปนอกห้อง อื่ม...ฟังดูดีคนช่วยเหลือกัน แต่ว่าถ้าทำการทดลองเดียวกันนี้ แต่ให้มีหน้าม้านั่งทำแบบสอบถามอยู่ในห้องเดียวกันกับคนเข้าร่วมการทดลองแต่หน้าม้าไม่ได้ทำเหมือนตกใจหรือทำท่าจะช่วยเหลือ ปรากฎว่า คนแค่ 20% เท่านั้นที่ออกมาช่วยเลขาสาว ถ้ามีหน้าม้าในห้องมากกว่านั้นอีก แทบจะไม่มีใครช่วยเลขาสาวเลย ผลการทดลองทำให้รู้ว่าคนที่เข้าร่วมการทดลองไม่ได้มาจากพรหมพิราม หรือเมืองคนบาปหรืออะไร เพราะทุกคนมาจากเมืองเดียวกัน แต่ว่าบางคนเข้าช่วยเลขาสาว แต่บางคนไม่ พอถามคนเข้าร่วมการทดลองที่ไม่ได้เข้าช่วยเหลือเลขาสาวว่าทำไมถึงไม่ช่วย ส่วนใหญ่บอกกันว่า ไม่คิดว่าน่าจะมีอะไร เพราะคนอื่นก็ดูเหมือนไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไร นักจิตวิทยาเรียกผลการทดลองนี้ว่า Pluralistic ignorance แปลตรงๆ คือ พหุโมหะ แปลอีกทีก็คือ คนเขลาเป็นกลุ่ม เพราะว่าเราพยายามเข้าใจสถานการณ์รอบตัวโดยการดูจากคนอื่นๆ ทั้งที่ๆ คนอื่นก็ไม่ได้รู้ดีกว่าเรา สรุปไม่มีใครเห็นว่าควรเข้าช่วยเหลือเลย ก็เลยไม่มีใครสังเกตเห็นสิ่งร้ายๆที่คนอื่นกำลังเผชิญอยู่ เมื่อสังเกตเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่เห็น ก็เลยไม่ได้เข้าช่วยเหลือ

ฟังดูดี มีหลักการ แต่เอ ถ้าเราลองมองกลับในสถานการณ์ของแอนดรู ทุกคนเห็นชัดๆว่าเค้ากำลังถูกรุมแทงอยู่ จะบอกว่าไม่เห็นว่าเป็นเหตุจำเป็นต้องเข้าช่วยก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะสรุปได้รึยังว่า คนที่อยู่บนรถไฟขบวนนั้นเป็นคนเย็นชา ใจไม้ไส้ระกำ นักจิตวิทยายังแย้งต่อว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นคนบาปประเภทนั้นแต่อย่างใด ยังมีการทดลองสนุกๆ อีก เพื่อหาคำตอบให้กับคดีนี้ ตามอ่านกันตอนต่อไปครับ

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

อะไรอยู่ใต้พรม

จากตอนที่แล้วไม่มั่นใจว่าได้ลองทำแบบทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยกันรึเปล่า ถ้ามีเวลาน่าจะลองทำกันดูนะครับ หนึ่งเพราะผมขี้เกียจอธิบายว่ามันเป็นยังไง แล้วอีกอย่างก็คือไม่ลองก็จะไม่รู้เองว่ามันรู้สึกยังไง (ที่จริงมันแอบสนุกอยู่) ลิงค์อยู่ที่นี่

แบบทดสอบนี้กำลังฮอตทีเดียว เพิ่งออกมาเมื่อสิบปีที่แล้วเอง เพื่อแยกทัศนคติเปิดเผย ออกจากทัศนคติเคลือบแฝง ไอเดียมาจากพวกเมกันพยายามส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง คนเป็นอย่างเค้าเป็นเพราะว่าตัวของเค้าเอง ไม่เกี่ยวกับเพศ สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา เพราะฉะนั้นถ้าถามคนเมกันทั่วๆไป ว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิงจริงมั้ย ก็จะตอบว่า โอ้ยไม่จริงหรอกนั่นเป็นแค่ความคิดพิมพ์เดียวติดหัว นั่นคือทัศนคติเปิดเผย แต่ว่าทัศนคติเคลือบแฝงที่แท้จริงเป็นไงเราไม่รู้

การทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยเอาวิธีของพวกจิตวิทยาปัญญาความคิด (ที่จริงผมเชี่ยวทางด้านจิตวิทยาปัญญาความคิดมากกว่าจิตวิทยาสังคมมากๆ แต่ผมขอเก็บของดีไว้ตอนหลังละกัน) พวกนักจิตวิทยาปัญญาความคิดศึกษาความคิดอ่านอารมณ์ของคนโดยหลักที่ว่าความคิดที่เชื่อมโยงกันอย่างดีคนจะไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน จะโต้ตอบได้อย่างเร็ว พูดแบบนี้อาจจะงง ตัวอย่างเช่นในแบบทดสอบนี้ ถ้าเราเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เราจะโต้ตอบเร็วกว่าเวลาเกมวางผู้ชายกับคณิตศาสตร์ไว้ข้างเดียวกัน เพราะฉะนั้นแค่ดูที่เวลาตอบสนอง เราก็จะสามารถเห็นทัศนคติเคลือบแฝงของคนนั้นได้แล้ว อื่มฉลาดใช่มั้ยล่ะ

แต่ว่าแล้วไงล่ะ รู้แล้วไง พอแบบทดสอบนี้ออกมาปุ๊บคนก็เริ่มสงสัย ทัศนคติเคลือบแฝงมันมีผลยังไง ทำไมเราต้องแคร์ด้วยในเมื่อมันเป็นความคิดที่อยู่ใต้พรม อาจจะไม่มีผลต่อพฤติกรรมเลยก็ได้ ในเมื่อเราสามารถคิดและแก้ไขพฤติกรรมเราได้ นักจิตวิทยาสังคมสงสัยก็เลยทำการทดลองนึงขึ้นมา ง่ายมากๆ เพื่อทดสอบว่าทัศนคติเคลือบแฝงมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมรึเปล่า เลือกคนที่ทำมีทัศนคติเคลือบแฝงว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิงโดยให้ทำแบบทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัย การทดลองแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเราให้ผู้เข้าร่วมการทดลองนั่งทำเลขคนเดียวในห้อง (ศัพท์เทคนิค เรียกว่ากลุ่มควบคุม) กลุ่มที่สองเราให้ผู้เข้าร่วมการทดลองนั่งทำเลขเหมือนกับกลุ่มแรก (ศัพท์เทคนิค เรียกว่ากลุ่มการทดลอง) แต่ว่าให้มีหน้ามาที่เป็นเพศตรงข้ามนั่งทำเลขชุดเดียวกันอยู่ในห้องด้วย ผลออกมาก็คือ



สำหรับคนมีทัศนคติเคลือบแฝงว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิง ถ้าเกิดไม่มีคนอื่นอยู่ในห้อง ผู้ชายกับผู้หญิงจะได้คะแนนเท่ากัน แต่ว่าผู้หญิงจะทำเลขได้แย่ลงถ้ามีผู้ชายอยู่ในห้อง อื่มน่าสนใจผู้ชายที่อยู่ในห้องสอบด้วยกันไม่ได้หว่านเสน่ห์ให้สาวหลง ทำเลขไม่ทันหรือว่าอะไรเลย แค่อยู่ในห้องสอบด้วยกันเฉยๆก็ทำให้ผู้หญิงทำได้แย่ลงแล้ว นี่คือพิษภัยของความคิดพิมพ์เดียวที่อยู่ในทัศนคติเคลือบแฝง ภาษาอังกฤษเรียกว่า stereotype threat นักจิตวิทยาสังคมลองทำการทดลองคล้ายๆกันนี้กับความคิดพิมพ์เดียวเรื่องอื่น เช่น คนขาวฉลาดกว่าคนดำ คนขาวฉลาดกว่าคนอินเดียนแดง ผลออกมาคล้ายๆกับการทดลองนี้เลย ทำให้เราพอเข้าใจว่าทำไมวงจรอุบาทว์ของความคิดพิมพ์เดียวมันถึงอยู่มาได้นานแสนนาน คนเมกันเลยพยายามอย่างมากที่จะลบความคิดพิมพ์เดียวนี้ออกไป โดยพยายามส่งเสริมให้้ผู้หญิงเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยการลด แลก แจก แถมเต็มที่ ผู้หญิงแข่งเลขก็จะพยายามให้รางวัลพิเศษผู้หญิง ถ้าใครสมัครปริญญาเอกสาขาที่ผู้หญิงขาดแคลน เช่นพวกวิศวะ ฟิสิกส์ ก็จะพยายามให้โอกาสผู้หญิงให้เข้าได้มากกว่า ไม่เลวทีเดียว

เจ๋งดีๆ แต่ว่าคนก็สงสัยกันอีก ว่าเฮ้ย ไอ้แบบทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยนี่มันเวิร์คจริงๆ เหรอ ให้ผลอะไรออกมามั่วๆรึเปล่าเนี่ย คนคิดแบบทดสอบนี้ก็เลยไปทำการศึกษาหาหลักฐานมามากมาย ยกตัวอย่างอันนึงก็คือ ก่อนการเลือกตั้ง ถ้าเอาคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกพรรคไหน มาทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยของแต่ละพรรค ปรากฎว่าเราสามารถทำนายได้เลยว่าคนนั้นจะเลือกพรรคไหน โดยดูแค่ความคิดเชื่อมโยงโดยนัยนั้นเอนไปทางพรรคไหนมากกว่า ถ้าเอามาเป็นแบบคนไทย ถ้าจับคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง มาถอดเสื้อทิ้งกองไว้ข้างห้อง แล้วให้ทำแบบทดสอบนี้ เราก็จะพอหยิบเสื้อคืนได้ถูกสี แสดงว่าความเชื่อมโยงโดยนัยก็เวิร์คใช้ได้ทีเดียว

ตอนนี้เราก็จะพอเข้าใจหลักสำคัญๆที่คนใช้เพื่อจะเข้าใจพฤติกรรมของคนอื่น เรายังเหลือว่าคนใช้หลักอะไรในการทำความเข้าใจสถานการณ์รอบตัวเรา โปรดติดตามตอนต่อไป

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

พิมพ์เดียวกันหมด

ผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิง ผู้หญิงต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ผู้ชายต้องออกนอกบ้านหางานทำ ความคิดพวกนี้มาติดอยู่ในหัวได้ยังไง แล้วมาติดอยู่ในหัวทำไมกัน ความคิดพวกนี้ติดอยู่ในหัวตั้งแต่เกิดมาเลยรึเปล่า มาดูอีกการทดลองนึงเลย เค้าต้องการอยากรู้ว่าคนเรามีความคิดติดหัวมาตั้งแต่ตอนอายุเท่าไร การทดลองพวกนี้จะประหลาดหน่อยนึง เพราะว่าเด็กมันเด็กมากเลยเราถามอะไรตรงๆไม่ได้เลย ต้องวัดความคิดของเด็กโดยวิธีอ้อมๆ นักจิตวิทยาพวกนี้เรียกว่านักจิตวิทยาพัฒนาการ เพราะว่าเค้าต้องการศึกษาว่าคนเราพัฒนาขึ้นมาได้ยังไง (พวกนักจิตวิทยาพัฒนาการนี้ต้องเป็นพวกรักเด็ก เพราะว่าต้องเล่นกับเด็กตลอด) การทดลองเป็นแบบนี้ เรามีของเล่นเด็กสี่อย่าง ตุ๊กตาผู้ชาย ตุ๊กตาผู้หญิง รถดับเพลิงของเล่น แล้วก็เครื่องดูดฝุ่นของเล่นแล้วดูกันว่าเด็กจะเล่นของเล่นเหล่านั้นยังไง ถ้าเด็กมีความคิดติดหัวว่าผู้ชายควรจะทำอาชีพอะไร ผู้หญิงควรจะทำอาชีพอะไร เด็กควรจะจับรถดับเพลิงของเล่นมาเล่นกับตุ๊กตาผู้ชาย แล้วเอาเครื่องดูดฝุ่นของเล่นมาเล่นกับตุ๊กตาผู้หญิง นักจิตวิทยาจับเด็กอายุสองขวบมาทดลอง ปรากฎว่าเด็กผู้หญิงเล่นของเล่นตามความคิดพิมพ์เดียวเกี่ยวกับอาชีพของผู้ชายและผู้หญิง แต่ว่าเด็กผู้ชายไม่ได้เล่นตามนั้น อื่ม... เค้าเลยลองทำการทดลองเดียวกันนี้้กับเด็กอายุสองขวบครึ่ง คราวนี้ทั้งเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่เล่นของเล่นตามความคิดพิมพ์เดียวเกี่ยวกับอาชีพ เราเลยสรุปได้ว่าความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ไม่ได้ติดมาตั้งแต่เกิด แต่ว่ามันมาติดอยู่ในหัวตั้งแต่อายุขวบนึงแล้ว แต่ก็ยังสงสัยกันอยู่ว่าทำไมเด็กผู้ชายได้ความคิดพวกนี้มาทีหลังเด็กผู้หญิง แต่ว่านักจิตวิทยาก็สันนิฐานไปว่าอาจเป็นเพราะเด็กผู้ชายไม่ค่อยได้เล่นกับตุ๊กตา เราเลยไม่ได้เห็นผลชัดอะไรประมาณนั้น แต่ว่าที่สำคัญกว่านั้นคือว่า เรายังสรุปไม่ได้ว่าทำไมเด็กถึงมีความคิดพวกนี้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนด้วยซ้ำไป นักจิตวิทยาพัฒนาการเลยพยายามคิดวิเคราะห์สาเหตุต่อไป ...​เอ เด็กพวกนี้เป็นเด็กฝรั่ง เด็กฝรั่งทำอะไรกันตอนสองขวบ อ๋อดูการ์ตูนดิสนีย์ ซึ่งตัวพระเอกส่วนใหญ่ก็จะตัวใหญ่ แมนๆ ต่อสู้เก่ง เป็นฮีโร่อะไรก็ว่าไป แต่ว่าตัวนางเอกจะตัวเล็กอ้อนแอ้น อ่อนแอ พระเอกต้องปกป้อง เค้าเลยคิดไปว่าคงเป็นเพราะสื่อพวกนี้ที่เด็กเห็นทุกวันๆ ซึ่งอันนี้ฟังดูมีเหตุผล ลองนึกถึงความคิดพิมพ์เดียวอย่างอื่นที่เรามี อันนี้ประสบการณ์ตรงตอนผมอยู่เมกา เดินๆ อยู่ดึกแล้วถ้ามีคนดำเดินผ่านก็จะรู้สึกขนลุกประหลาด เพราะว่าเรามีความคิดพิมพ์เดียวติดหัวมาว่า คนดำน่ากลัว อาจจะเป็นโจรมาปล้นเราก็ได้ ทั้งๆที่ผมแทบไม่ค่อยได้พบปะคนดำมากขนาดนั้นก่อนมาเมกา แล้วได้ความคิดนี้มาจากไหนล่ะ ก็จากหนังฝรั่งที่ดูๆกันมานั่นแหละ ผู้ร้ายมักจะเป็นคนดำน่ากลัวๆ เราก็หยิบความคิดนี้มา แต่ว่าถ้ามาดูตามสถิติแล้ว จริงๆ สถิติคนดำที่เป็นอาชญากรนั้นสูงกว่าคนขาวในบางพื้นที่ในบางเมืองของเมกา เพราะฉะนั้นที่จริงก็อาจจะดีก็ได้ที่เราสร้างความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ขึ้นมา

ฟังมาทั้งหมดนี้แล้วสรุปว่าไงกันล่ะ สรุปว่าความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้มันดีหรือไม่ดี ลองกลับคิดถึงหัวข้อที่เราพูดถึงเมื่อตอนที่แล้ว คือคนเราพยายามจะเข้าใจพฤติกรรมและความคิดของคนอื่น แต่ว่าปัญหาก็คือคนที่เราไม่รู้จักน่ะมีเยอะกว่าคนที่เรารู้จักมากๆ ความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นได้ในระดับนึง เพราะฉะนั้นมันคือความคิดทางลัดนั่นเอง ง่าย สะดวก รวดเร็ว ลองคิดถึงสถานการณ์ว่าเดินคนเดียวเปลี่ยวๆ แล้วเห็นคนดำเดินสวนมา ความคิดเราก็คงแบบ โอ้เฮ้ย มันจะปล้นตูเปล่าเนี่ย ต้องระวังหน่อยละวุ้ย ตรงนี้แหละที่การที่เราพยายามเข้าใจความคิดของคนอื่นอาจช่วยให้เราพ้นภัยได้ แต่ว่ามันยุติธรรมกับคนดำมั้ยที่ต้องถูกคิดในแง่นี้ตลอดเวลา คนเมกาเค้าพยายามต่อต้านความคิดพิมพ์เดียวติดหัวพวกนี้อย่างมากก็เพราะอย่างงี้นั่นเอง

ความคิดพิมพ์เดียวยังทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคมอีก อย่างเช่นคนมีความคิดติดหัวว่าผู้ชายจะต้องเก่งวิทย์และคณิตมากกว่าเด็กผู้หญิง ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ก็คือ

เด็กผู้หญิงได้ความคิดติดหัวนี้มา เสร็จแล้วเลยไม่สนใจวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ครูก็ไม่สนใจพยายามส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงหันมาเรียนเลขกับวิทย์กันเยอะ เด็กผู้หญิงก็เลยไม่เก่งเลขกับวิทย์ เด็กรุ่นต่อมาก็เลยได้เห็นตัวอย่างแล้วสืบความคิดว่าเด็กผู้หญิงไม่เก่งเลขกับวิทย์มาอีก แล้วก็วนต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ ผู้หญิงก็เลยไม่สนใจเลขกับวิทย์มากเท่าเด็กผู้ชาย แล้วก็รู้ๆกันอยู่ว่าเลขกับวิทย์นั้นทำให้ได้งานทำที่ดีกว่า จ่ายเยอะกว่า ผู้ชายก็เลยดูเหมือนจะมีความสามารถมากกว่าผู้หญิงทั้งๆที่อาจจะไม่จริงทั้งๆที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แน่ชัดว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิงจริง (เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากซึ่งผมจะให้เขียนหนึ่งตอนเต็มเกี่ยวกับเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป) อันนี้แหละที่ความคิดพิมพ์เดียวเริ่มสร้างปัญหาสังคม

ผมมีอีกประสบการณ์นึงเกี่ยวกับความคิดพิมพ์เดียวเนี่ยแหละ ตอนเรียนไฮสกูลที่นี่ ผมเรียนเลขได้ดีกว่าเพื่อนฝรั่งแถวนั้น เพื่อนมันก็แซวว่า อื้อ แน่ล่ะแกคนเป็นเอเชียนิ่ก็ต้องเก่งเลขมากกว่า อื่ม... เหมือนจะเป็นคำชม แต่ว่าผมอยากจะตวาดไปว่า เฮ่ยข้าเก่งเลขกว่าแก เพราะตัวข้าเองไม่เกี่ยวกับว่าข้าเป็นคนเอเชียหัวดำ ข้าเก่งกว่าแกเพราะข้าฉลาดกว่า ไม่ขี้เกียจตัวเป็นขนเหมือนแก ... ความคิดพิมพ์เดียวบางทีเหมือนจะเป็นคำชมได้ แต่ว่ามันก็น่ารำคาญเพราะเหตุนี้นั่นเอง

คนเมกันพยายามจะปราบความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ออกไป แต่กลายเป็นว่าคนกลับเอาไปคิดเงียบๆ เพราะว่าถ้าพูดออกไปแล้วจะถูกด่า กลายเป็นว่าเอาปัญหาไปเก็บไว้ใต้พรมอีก พวกนักจิตวิทยาเลยสร้างเกมขึ้นมาเพื่อศึกษาเจตคติโดยนัย(ความคิดพิมพ์เดียวที่ถูกปัดไปไว้ใต้พรม) เป็นเกมสั้นๆ ที่สามารถลองเล่นดูได้ ก่อนจบก็เอาไปลองเล่นดูละกัน เกมนี้เรียกว่าการทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัย เป็นภาษาไทยซะด้วยลองเล่นดูครับ แล้วจะอธิบายตอนหน้าว่ามีอะไรสนุกๆ เกิดขึ้นบ้างตอนที่ให้คนดำลองเล่นเกมนี้เพื่อดูเจตคติโดยนัยเกี่ยวกับคนดำกันเอง

ป.ล. โทษทีตอนนี้แอบยาวอีกแล้ว ตอนหน้าจะพยายามให้กะทัดรัด ตัดความกว่านี้ละกัน

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

อ้างเหตุ เจตนา

จิตวิทยาสังคมยังไม่จบแค่นี้ ยังมีอะไรที่น่าสนใจอยู่อีกเยอะทีเดียว ตอนที่ผ่านๆมาเราเห็นมาแล้วว่านักจิตวิทยาสังคมพยายามเข้าใจว่าทำไมคนถึงฆ่ากันได้ ทำไมคนถึงทำสิ่งเลวๆไปได้ ตอนนี้เราจะลองซูมออก แล้วถามคำถามที่ใหญ่กว่าว่าทำไมคนถึงทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมคนดำต้องเต้นแร็บ ทำไมเด็กจีนเก่งเลขกว่าเด็กฝรั่ง ทำไมผู้หญิงซื้อรองเท้าเยอะกว่าผู้ชาย พวกนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำความเข้าใจในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้ปรับตัวได้ดีขึ้น หรือเพื่อจะได้สบายใจ อะไรก็ว่าไปนั่น ถ้าคนเราไม่มีความสามารถในการทำความเข้าใจพฤติกรรมคนอื่นเลย ก็คงงงเต้ก อ้าวเฮ้ยเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนนั้นถึงเดินผ่านไปไม่ทักเรา อีกตัวอย่างนึงมาจากตอนที่แล้วที่เราทิ้งท้ายเรื่องศาลตัดสินจ่าชิป ระบบศาลคงเป็นไปไม่ได้เลยถ้าคนเราไม่มีความพยายามที่จะเข้าใจจุดประสงค์ของแต่ละพฤติกรรม ว่าคนทำอะไรไปทำไม เพื่ออะไร มีอะไรเป็นตัวจุดระเบิด นักจิตวิทยาก็เลยจับจุดนี้ขึ้นมาศึกษาซะเลย ทฤษฎีหลักในวงการนี้ก็คือ ทฤษฎีการอ้างเหตุ (attribution theory) ทฤษฎีนี้บอกว่าคนพยายามอ้างเหตุของพฤติกรรม หรือพยายามอธิบายเหตุผลของพฤติกรรมของคนอื่นในสองระดับ คือระดับลักษณะนิสัยสันดาน และระดับสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น สมมติเดินอยู่สวนลุม แล้วเห็นชายคนนึงกำลังตบแฟนสาวป้าบๆ ป้าบๆ ตะโกนโหวกเหวกด่าสารพัด คนจะคิดว่ายังไง จะพยายามทำความเข้าใจยังไงว่านายนั่นถึงตบตีแฟนได้อย่างนั้น อื่ม... สำหรับคนส่วนใหญ่พอเห็นปุ๊บมักจะคิดว่า อื้มไอ้หมอนั่นมันเลว หน้าตัวผู้ ตบตีผู้หญิงอย่างนั้น เผลอเห็นแล้วอาจจะชวนเพิ่มไปรุมตื้บ นั่นคือการพยายามอธิบายพฤติกรรมของคนอื่นในระดับนิสัยสันดาน ว่าง่ายๆ ป้ายความผิดไปที่ตัวคนๆ นั้น อื่ม.. แต่ว่ามองๆ ไปสักพักคนก็จะคิดได้ว่า อะโหเฮ้ย ทะเลาะกันขนาดนี้ อาจจะแปลว่าผู้หญิงอาจจะไปมีชู้ เผาบ้าน ปล่อยให้ลูกอดนม หรืออะไรอย่างนั้นก็ได้ นี่คือระดับสถานการณ์

ทฤษฎียังบอกอีกว่าระดับนิสัยเนี่ยเป็นความคิดแบบอัตโนมัติ เห็นปุีบคิดได้ปั๊บ ว่าง่ายๆ คือไม่ต้องคิดมาก แต่ว่าระดับบสถานการณ์เนี่ยเป็นความคิดแบบต้องการการควบคุม ว่าง่ายๆ คือต้องมานั่งคิดกันจริงๆ ถึงจะนึกได้ว่าพฤติกรรมคนอาจจะเกิดมาจากสถานการณ์รอบข้าง

อื่ม...ฟังดูดีนะ แต่ว่ารู้ได้ไงล่ะ ว่าคนคิดเป็นสองระดับแบบนี้จริงๆ มีการทดลองนึงซึ่งพยายามพิสูจน์ให้ดู การทดลองนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มการทดลองที่คล้ายๆกัน กลุ่มแรกคนที่เข้าร่วมการทดลองจะต้องฟังเรื่องเล่า และก็ให้พยายามตอบคำถาม เรื่องเล่าก็จะคล้ายๆกับ เรื่องนายหนุ่มตบตีแฟนสาวในสวนลุมนั่นแหละ ส่วนคำถามก็คล้ายๆ กับให้ลองอธิบายว่านายหนุ่มตบตีแฟนสาวทำไม ในกลุ่มที่สองคนที่เข้าร่วมการทดลองทำเหมือนกับกลุ่มแรกทุกอย่าง แต่ว่าในระหว่างที่ฟังเรื่องและตอบคำถามจะต้องดูจอและจำคำศัพท์ที่จะออกมาผุบๆโผล่ๆ ในจอ ผลปรากฎว่าคนที่ฟังเรื่องและตอบคำถามโดยไม่ต้องจำคำศัพท์นั้นจะอธิบายการตบตีด้วยอ้างถึงสถานการณ์รอบตัว มากกว่ากลุ่มที่ต้องจำคำศัพท์ไปด้วย สรุปว่าการอ้างเหตุของพฤติกรรมในระดับสถานกาณ์นั้นต้องใช้ความคิดมากกว่า ที่สรุปอย่างนี้ได้เพราะว่ากลุ่มที่ต้องจำคำศัพท์นั้นมีภาระการคิดมากกว่ากลุ่มที่ไม่ต้องจำศัพท์ เลยฟังเรื่องไม่ค่อยได้ความ แล้วก็ตอบคำถามแบบต้องคิดเรื่องอื่นไปด้วย การที่คนมองข้ามอิทธิพลของสถานการณ์ ตามทฤษฎีนี้เรียกว่าการอ้างเหตุผิดพลาดมูลฐาน (fundamental attribution error) อื่ม... พยายามแปลเต็มที่ อีกตัวอย่างคือศาลตอนตัดสินจ่าชิปอาจจะมองข้าม หรือดูถูกอิทธิพลของสถานการณ์กันไปนั่นเอง

อื่ม.. ดูเหมือนจะฟังดูดี แต่ว่า แต่ว่า.. แต่ว่า การอ้างเหตุในระดับนิสัยสันดานมันอัตโนมัติได้ยังไงล่ะ ความคิดอัติโนมัติพวกนี้มันมาจากไหนกันล่ะ มั่วรึเปล่า ความคิดก็ต้องมีที่มาสิ อื่ม... ลองคิดดูใหม่นะครับ ตอนเห็นผู้ชายตบตีผู้หญิงเรามักเห็นว่าผู้ชายเลว เป็นเพราะอะไร เรามีความคิดติดหัวว่าผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแรงกว่า ผู้ชายที่จะตบตีผู้หญิงเลยต้องเลวเพราะรังแกเพศที่อ่อนแอกว่า ผู้ชายพวกนี้ก็พิมพ์เดียวกันงี้เป๊ะเหมือนกันทุกคน... ความคิดติดหัวจำพวกนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า stereotype ขอแปลว่าความคิดพิมพ์เดียว แต่ว่านั่นก็ยังไม่ตอบคำถามเลยว่า ความคิดอัตโนมัติ ความพิมพ์เดียว มันมาติดอยู่ในหัวได้ยังไงกัน ฟังต่อตอนหน้าแล้วกัน

ป.ล. ถ้าอ่านจนถึงตรงนี้แล้วช่วยคอมเมนต์โดยการพิมพ์คำว่า "จิต" หรือ "จิตจี๊ด" ขอบคุณครับ

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ยอดชายนายซิมบาโด้ ตอนสอง

จากตอนที่แล้วทุกคนรู้เบสิคแล้วว่าแกล้งให้เพื่อนเดิมไปตบกบาลคนขับรถเมล์เขียวได้ยังไง แล้วก็รู้แล้วว่าพอคนธรรมดาๆ ตาสี ตาสามาจับใส่คุกปลอมแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง (อื่ม...ถ้าไม่รู้ไปอ่านยอดชายนายซิมบาโด้ ตอนหนึ่ง) ตอนนี้ทุกคนจะพอเข้าใจว่านายซิมบาโด้นอกจากจับคนมาขังคุกเก่งแล้วยังมีความสามารถในการต่อยไข่ ใส่สี โรยผักชี งานทดลองของพี่แกจนออกทีวีได้ทุกวี่ทุกวัน ดูกันต่อเลยว่า หมอนี่ดังได้เพราะอะไร

ดังเพราะเสนอหน้าเก่ง
เด็กเมกันที่เรียนจิตวิทยาตอนอยู่ม.ปลาย มักจะได้ดู วิดีโอของซิมบาโด้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือสารคดีจิตวิทยาที่นายซิมบาโด้พร้อมกับหนวดเครื่องหมายการค้าของเฮียเค้าตอนหนุ่มๆ ปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังใช้กันอยู่ แต่ล่าสุดนี้การทดลองคุกแสตนฟอร์ดดังขึ้นมาใหม่เพราะว่ามันไปคล้ายคลึงกับสถานการณ์ของคุกในอิรักตอนที่พวกเมกันไปบุกอิรักเพราะคิดว่าซัดดัมกำลังเตรียมอาวุธที่มีพลังทำลายล้างสูงอยู่ และกำลังร่วมสนับสนุนการก่อการร้าย (ทั้งๆที่ อาจจะไม่จริง เมกันอาจจะแค่อยากได้น้ำมัน) แต่ว่าเรื่องที่มันจะเกี่ยวกับนายซิมบาโด้ก็คือว่า ทหารเมกันเข้าไปในอิรักแล้วก็ยีดคุกอาบู กราอิบเป็นฐานบัญชาการหรืออะไรประมาณนั้น แล้วมีอยู่วันหนึ่งมีภาพหลุดจากคุกออกมา ไม่ใช่วิดีโอคลิปอั้มหรืออะไรทั้งนั้น แต่ว่าเป็นภาพนักโทษอิรักในคุกทหารเมกัน ทรมานสารพัดที่จะๆ คือรูปข้างล่าง


นายทหารที่นั่งทับนักโทษอิรักอยู่ชื่อว่า จ่าชิป พอรูปนี้หลุดออกไปจ่าชิปก็เดือดร้อนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะว่าทำให้กองทัพเมกันเสื่อมเสียชื่อเสียงไปทั่วโลก (ใช่ว่าชื่อเสียงยังมีให้เสื่อมเสียอะนะ) แต่ว่าจ่าชิบกำลังจะถูกจับเข้าคุกด้วยประการฉะนี้ แต่ว่าแต่นแต๊น นายซิมบาโด้ก็ออกมาพยายามช่วยชีวิตจ่าชิป นายซิมบาโด้ก็เถียงว่าที่จริงเรื่องที่จ่าชิปกลั่นแกล้งทรมานนักโทษอิรักไม่ใช่ความผิดของจ่าชิปเองเลย สถานการณ์ในคุกอาบูกราอิบก็เหมือนสถานการณ์ในคุกแสตนฟอร์ด คนดีๆ ธรรมดาๆ พอจับมาอยู่สถานการณ์แบบนั้นก็กลายเป็นคนเลวกันไปหมดเพราะว่าอำนาจของสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ จ่าชิปก็เหมือนกันสถานการณ์ในคุกอาบูกราอิบนั้นเคร่งเครียดมาก เพราะไม่รู้จะถูกพวกอิรักเอาระเบิดลง หรือมาลุยทลายคุกเมื่อไร แล้วว่าทหารเมกันไม่เคยถูกฝึกให้มาอยู่คุมคุกในต่างแดนแบบนั้นด้วย เพราะฉะนั้นทหารนายไหนต่อให้ดีแค่ไหนก็ตามถ้าถูกส่งมาทีนี่ก็คงทำเหมือนจ่าชิปกันทั้งนั้น ด้วยเหตุนั้นเองจ่าชิปไม่ควรจะเป็นจะตกเป็นผู้ต้องหา คนที่ฝึกทหารต่างหากควรจะเป็นคนรับผิด

พยายามก็พยายามนะครับ แต่ว่าศาลไม่ฟังความจากนายซิมบาโด้ แล้วก็สั่งจับขังจ่าชิป ปลดยศ ปลดเงินประจำตำแหน่ง เสียทุกอย่างเลย...

โอเคเรื่องทำให้นายซิมบาโด้ดังขึ้นมา ถึงแม้จะช่วยนายชิปไม่สำเร็จ แต่ว่าสื่อก็เอาคำให้การของนายซิมบาโด้ออกไปเผยแพร่ คนก็หันมาสนใจการทดลองคุกแสตนฟอร์ดเข้าไปอีก แต่ว่ายังไม่พอครับ นายซิมบาโด้ก็ออกมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ว่าไม่ใช่หนังสือพอกเก็ตบุ๊คดาราทั่วไป แต่ว่าเป็นหนังสือที่นายซิมบาโด้อ้างถึงการทดลองต่างๆที่เคยทำมา แล้วอ้างอิงถึงกรณีของจ่าชิป แล้วตั้งชื่อปรากฎการณ์ที่สถานการณ์พาให้คนเป็นคนเลวว่า ปรากฎการณ์ลูซิเฟอร์ เหะเหะ ตั้งชื่อตามเทวดาตกสวรรค์แล้วกลายเป็นมารไป แล้วก็ออกทัวร์โปรโมตหนังสือไปทั่วประเทศ ดังเข้าไปอีก ขายของได้ด้วย ฮ่าๆ และยังออกตระเวณทัวร์บรรยายให้เด็กๆฟังอีกว่า เด็กๆครับเราต้องต่อสู้กับสถานการณ์ ทำตัวเป็นวีรบุรุษเดินดิน อย่าให้สถานการณ์พาเราเป็นคนเลวไปได้...ว่าไปนั่น

อ่า คราวนี้สงสัยกันรึเปล่าว่าทำไมศาลถึงไม่เชื่อนายซิมบาโด้ทั้งๆที่เค้าเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แล้วก็ดูเหมือนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา นายซิมบาโด้ดูบ้าๆบอๆ หรือว่าอะไรกัน ที่จริงๆ แล้วนักจิตวิทยาบางกลุ่ม(เหะรวมทั้งผมด้วย) ไม่ค่อยคิดว่าการทดลองคุกแสตนฟอร์ดนี่มันมีความเป็นวิทยาศาสตร์มากเท่าไร นั่นหมายความว่าการทดลองไม่การควบคุมให้เป็นมาตรฐานเช่น คนคุมคุกในแต่ละวันจะต้องอะไรกับนักโทษบ้าง นักโทษแต่ละวันจะต้องทำอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นคนอื่นจะลองทำการทดลองอีกรอบก็จะไม่เหมือนเดิม ผลออกมาก็อาจจะบอกไม่เหมือนเดิม ทำให้สรุปอะไรไม่ได้สักอย่างจากการทดลอง อันนี้เป็นหนึ่งข้อกล่าวหาว่าการทดลองไม่เป็นวิทยาศาสตร์ อีกอันนึงก็คือการทดลองทางวิทยาศาสตร์ตามปกติแล้วจะต้องหยิบคนมั่วๆ มาเข้าร่วมการทดลองเพื่อว่าการทดลองจะได้ยุติธรรม และทำให้สรุปได้ว่าผลการทดลองนั้นเวิร์คกับคนทุกกลุ่ม แต่ว่าการทดลองนี้หยิบคนมาไม่มั่วจริง เค้าแต่คนที่ออกจะมีแนวโน้มก้าวร้าวอยู่แล้ว เพราะว่าตามประกาศบอกว่าจะให้คนเข้ามาเป็นคนคุมคุก และนักโทษ คนเห็นประกาศพวกนี้ก็ยิ้ม ฮ่าๆ จะได้เงินค่าตอบแทนด้วย แล้วเผลอได้ตีนักโทษเล่นๆ อีกตะหาก บวกกับนายซิมบาโด้แปะประกาศในมหาวิทยาลัย ก็เลยจะได้แต่เด็กเมกัน ในกลุ่มอายุนั้นๆ เพราะฉะนั้นการทดลองนี้ได้คนไม่มั่วจริง อาจจะเป็นได้ว่าที่การทดลองผลออกมาเป็นอย่างนั้น เพราะได้คนที่มันออกก้าวร้าวอยู่แล้วก็ได้ ถ้าหยิบชาวบ้านข้างถนนมั่วๆ มาจริง ผลอาจจะออกมาไม่เหมือนกัน

แต่ว่าสรุปจริงๆก็คือ ถึงแม้ว่าการทดลองของนายซิมบาโด้อาจจะไม่มีผลสรุปอะไรจริงๆ แต่ว่าประเด็นนายซิมบาโด้ขุดขึ้นมาก็ฟังดูดีอยู่ คนมักจะโทษไปว่าสิ่งเลวๆที่เกิดขึ้น นั้นเกิดจากคนคนนั้นเอง และก็มองข้ามอิทธิพลของสถานการณ์ไป ศาลที่ตัดสินจ่าชิปอาจจะมองข้ามจุดนี้ ที่จริงมีทฤษฎีจากนักจิตวิทยาอีกคนนึงครับ ที่ทำให้เราพอจะรู้ว่าทำไมคนถึงมักจะมองข้ามอิทธิพลของสถานการณ์ การทดลองของนายคนนี้ค่อนข้างฉลาดทีเดียว ไว้มาดูกันตอนหน้าละกัน ตอนนี้เริ่มยาวเกินไปแล้ว

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ยอดชายนายซิมบาโด้ ตอนหนึ่ง


ถ้าให้คนไทยบอกชื่อนักจิตวิทยาที่รู้จักมาสักคนนึง คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ก็คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ หมอนี่ดังมากเพราะว่าสร้างทฤษฎีทะลึ่ง สะดุ้งได้สะใจ แล้วก็นักสะกดจิตด้วย ว่าง่ายถ้านึกถึงนักจิตวิทยาก็จะนึกถึงคนนี้ก่อนเลย (อื่มดร.วัลลภก็เป็นนักจิตวิทยา แต่ตัวผมเองยังไม่รู้เลยว่าเค้าทำงานด้านไหน) โอเค แต่ถ้าถามคนเมกัน มันก็จะตอบว่าฟรอยด์เหมือนกัน แต่ว่าล่าสุดนี้คนจะเริ่มตอบว่า ซิมบาโด้ นายซิมบาโด้หน้าตาเหมือนรูปข้างล่างนี้ เคยสอนอยู่แสตนฟอร์ด อยู่พักใหญ่ๆ แต่ว่าเกษียรไปเรียบร้อยแล้ว ออกไปตอนผมเข้าแสตนฟอร์ดพอดี หมอนี่จู่ๆ ดังขึ้นมาได้เพราะหลายสาเหตุอยู่ มาดูกันเลยดีกว่าว่าเพราะอะไร

ดังเพราะการทดลอง

ตอนที่แล้วเราค้างไว้เรื่องจิตวิทยาความชั่ว คนทำความชั่วเพราะอะไร นายมิลแกรมก็บอกให้โลกรู้แล้วว่าคนมักทำชั่วตามที่บุคคลที่อำนาจบอกไว้ ทั้งๆที่คนนั้นอาจจะไม่ได้มีอำนาจเลยก็ตามที นายซิมบาโด้ มาขยายต่อ (โดยไม่ค่อยได้ตั้งใจเท่าไร) มาฟังการทดลองที่ทำให้นายซิมบาโด้ดังมากในเมกา หมอนี่เป็นนักจิตวิทยาในยุคนั้นที่ชอบจับคนมาทำอะไรแปลกๆ แต่ก็มาสรุปเอาทีหลังว่าการทดลองที่ทำ ทำไปทำไม ไม่มีการวางแผนวางแปลนอะไรทั้งนั้น มีอยู่การทดลองนึง การทดลองนี้ชื่อว่าการทดลองเรือนจำแสตนฟอร์ดซึ่งเป็นการทดลองที่ดังมาก นายซิมบาโด้ออกไปประกาศหาอาสาสมัครมาเข้าร่วมการทดลองนี้ โดยให้อาสาสมัครเป็นคนคุมคุกหรือไม่ก็นักโทษ อาสาสมัครไม่มีสิทธิเรือกว่าจะเป็นอะไร นายซิมบาโด้จะจัดเองว่าใครเป็นใคร เริ่มการทดลองโดยการจ้างตำรวจปลอมไปจับอาสาสมัครที่จะเข้าร่วมการทดลองจากบ้าน เหมือนจริงเลย จับสั่งกรงขัง มีเสื้อผ้านักโทษ มีหมายเลขผุ้ต้องขังเรียบร้อย ส่วนคนคุมคุกนั้นนายซิมบาโด้ ก็จัดหาเสื้อคนคุมคุก แว่นตาดำ กระบอง และอุปกรณ์ทุกอย่าง แล้วก็อนุญาตให้คนคุมคุกสามารถกลั่นแกล้งนักโทษได้ตามสมควร สร้างบรรยากาศให้เหมือนว่าชีวิตนักโทษอยู่ภายใต้ระบบของเรือนจำ ระบบของกฎหมาย กฎหมู่ของคุก ผลก็คือ คนคุมคุกกลั่นแกล้งนักโทษสารพัดอย่าง ให้นอนหนาวโดยไม่มีผ้าห่ม ไม่ให้ใส่เสื้อผ้านอน ไม่ให้เอาถังฉี่ไปเททิ้ง ไม่ให้ขี้ไม่ให้เยี่ยว นักโทษก็เริ่มประท้วงด้วยวิธีต่างๆ นักโทษบางคนก็เริ่มออกอาการบ้า เลยถูกเชิญให้ออกจากการทดลอง มีอยู่วันนึงนักโทษทลายคุก คนคุมคุกเลยต้องสร้างคุกขึ้นมาใหม่เลยโมโหกลั่นแกล้งนักโทษหนักขึ้นไปอีก ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาแค่หกวัน จากนั้นการทดลองก็ถูกยกเลิกทันทีทั้งๆที่กะว่าจะปล่อยไว้สองอาทิตย์ จับคนมาใส่ชุดนักโทษปลอมๆ ในคุกปลอมๆ มาเกือบอาทิตย์สรุปอะไรได้บ้างล่ะเนี่ย นายซิมบาโด้ขอสรุปว่าสถานการณ์ และบรรยากาศที่สร้างขึ้นสามารถเปลี่ยนชาวบ้านธรรมดาๆ มาเป็นนักคุมคุกใจโหดได้ วิธีที่จะทำให้คนกลายเป็นคนชั่วไปได้ มีอยู่อย่างน้อยสามวิธี

วิธีแรก คือ ทำให้คนไม่ใช่คน อื่ม...ยังไงกันล่ะ ตัวอย่างเช่นการทดลองของนายมิลแกรมจากตอนที่แล้ว (ถ้านึกไม่ออกให้กลับไปอ่านช็อต) เราสามารถวัดได้ว่าคนจะกระทำรุนแรงกับอีกคนนึงได้มากน้อยแค่ไหนโดยดูที่ไฟช็อตแรงสุดที่เท่าไรโดยเฉลี่ย แต่ในสถานการณ์นี้คนคุมการทดลองแกล้งพูดให้คนกดปุ่มช็อตได้ยินว่า นักเรียนที่อยู่อีกห้องนึงน่ะเหมือนหมาเลย เท่านั้นแหละครับ ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น นักเรียนถูกช็อตแรงกว่าถ้าเทียบกับสถานการณ์ปกติที่คนคุมการทดลองไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับนักเรียน ในการทดลองคุกแสตนฟอร์ดก็มีการใช้แผนนี้เหมือนกัน คนคุมคุกด้วยกันเริ่มเรียกแทนนักโทษว่า มัน หรือ เรียกว่าไอ้นี่ ไอ้นั่นแทนที่จะเรียกว่าคนนี้หรือคนนั้น บวกกับนักโทษแต่ละคนไม่ได้ถูกเรียกตามชื่อ ถูกเรียกตามหมายเลข ยิ่งทำให้ห่างจากความเป็นคนออกไป

วิธีที่สอง คือ ทำให้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร (พยายามแปลมาจาก deinviduation) ไม่รู้เรื่องทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษเลย มาดูตัวอย่างกันดีกว่า การทดลองนึงให้เด็กประถมจับกลุ่มเล่นกัน แล้วลองสังเกตดูว่าเด็กตีกัน หรือเล่นเจ็บๆกันกี่ครั้ง เสร็จแล้วจับเด็กใส่เสื้อผ้าแปลกๆไป แล้วที่สำคัญให้ใส่หน้ากากทุกคน จะได้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แล้วนับอีกว่าตีกันกี่ครั้ง เล่นสักพักให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดเดิมแล้วก็เอาหน้ากากออก แล้วปล่อยให้ไปเล่น นับอีกว่าตีกันกี่ครั้ง ปรากฎว่าตอนใส่หน้ากากเด็กตีกันเยอะว่าตอนไม่ใส่หน้ากากเยอะมาก แผนนี้ก็ถูกใช้ในคุกแสตนฟอร์ด โดยคนคุมคุกจะใส่แว่นตาดำใหญ่ๆตลอด แล้วก็ไม่เคยบอกชื่อให้นักโทษรู้เลย

วิธีที่สาม คือ ทำให้คนสั่งเหมือนมีอำนาจสั่งการ ไอเดียนี้ใกล้ๆกับการทดลองของมิลแกรมจากตอนที่แล้ว แต่ในการทดลองนี้นายซิมบาโด้คือเป็นคนสั่งการเอง คนคุมคุกถูกซิมบาโด้ด่าเป็นระยะๆ ว่าไม่ยอมทำให้สถานการณ์ในคุกสงบ คนคุมคุกเลยเหมือนแค่ทำตามคำสั่งของคนที่สูงกว่าอีกที สาเหตุที่แผนนี้มันใช้ได้ก็คือว่า ความรับผิดชอบจะตกอยู่กับคนที่อำนาจสูงกว่า คนคุมคุกเลยจะทำบ้าอะไรก็ได้ เพราะก็แอบรู้ในใจว่าถ้ามันมีอะไรผิดประหลาดเกิดขึ้นจริงๆ เดี๋ยวซิมบาโด้ก็จะรับผิดชอบเอง

เอาล่ะตอนนี้เราเริ่มรู้รากของความชั่วกันแล้ว ตอนหน้ามาดูกันต่อว่า ทำให้การทดลองนี้ทำไมมันถึงดังเป็นพิเศษ

ป.ล. ขออภัยที่โพสต์ช้ามาก เพราะว่าคนเขียนป่วย แล้วก็กำลังย้ายบ้าน (ในเวลาเดียวกัน)

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ช็อต

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิตเลอร์สั่งให้ทหารเยอรมันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนยิว คนยิวตายไปหกล้านคน มันหาคนมาจากไหนที่จะบอกให้ไปฆ่าใครก็ฆ่าได้ขนาดนั้น สั่งให้ทหารออกไปฆ่าคนรายวันได้ ช่วงนั้นนักจิตวิทยาเลยสนใจกันมากว่า ทหารฮิตเลอร์ทำงี้ได้ยังไง นักจิตวิทยาสังคมคนนึงชื่อ แสตนลีย์ มิลแกรม (Stanley Milgram) สร้างการทดลองทางจิตวิทยาขึ้นมาอันนึงที่มหาวิทยาลัยเยลซึ่งเป็นมหาลัยที่ได้รับการยอมรับนับถือมากในประเทศอเมริกา การทดลองนี้ดังมากๆ สามารถเปิดดูวิกิพีเดียได้ แต่ว่าผมก็จะเอามาเล่าให้ฟังอยู่ดี
การทดลองเป็นอย่างนีี้คือ นายแสตนลีย์เรียกคนเข้ามาร่วมการทดลอง แล้วหลอกว่าเค้าต้องการศึกษาว่าคนเรียนรู้คำศัพท์ยังไง ฮ่าๆ ที่จริงแล้วไม่เกี่ยวเลย พอคนเข้ามานายแสตนลีย์ก็บอกว่า หน้าที่ของคุณก็คือเป็นคุณครู สอนให้นักเรียนจำคำศัพท์ที่อยู่บนกระดาษ ก่อนเริ่มเหยื่อเข้ามาจับมือทักทายนักเรียน ทำความรู้จักกันเรียบร้อย แต่ว่าเหยื่อของเราไม่รู้หรอกว่านักเรียนที่ว่านี้เป็นหน้าม้าของนายแสตนลีย์ วิธีที่ครูสอนก็คือ ครูจะอยู่ห้องนึงอ่านคำศัพท์ให้นักเรียนฟังผ่านทางเสียงตามสาย ถ้านักเรียนจำคำศัพท์ไม่ได้ ให้กดปุ่มช็อตไฟฟ้าซึ่งหน้าตาเป็นแบบนี้

ถ้านักเรียนทำผิดครั้งต่อไปก็ให้กดปุ่มถัดไปซึ่งไฟจะช็อตแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็เขียนไว้ชัดด้วยๆ ถ้ากดถึงปุ่มสุดท้ายคนถูกช็อตอาจตายได้ แต่ที่จริงแล้วหน้าม้าของเราที่ปลอมเป็นนักเรียนไม่ได้ถูกช็อตเลย พอกดปุ่มก็จะเปิดเสียงร้องจ๊ากที่อัดไว้ก่อนแล้ว ว่าง่ายคือปุ่มช็อตที่จริงก็คือปุ่มเล่นเทปนั่นเอง เริ่มกันเลยดีกว่า
ผิดครั้งแรก กดปุ่มปุ๊บ นักเรียนก็ร้องอู๊ย ปุ่มที่สอง ร้องอะจ๊าก ปุ่มถัดๆไป ปุ๊บก็ตะโกนไม่ไหวแล้วนะโว้ยปล่อยตูออกไป ... คราวนี้คุณครูก็งงไม่รู้ทำไงต่อเพราะไม่อยากจะช็อตนักเรียนไปเรื่อยๆ เลยหันไปถามนายแสตนลีย์ นายแสตนลีย์ก็ตอบว่า

กรุณาดำเนินการทดลองต่อไป...

ถ้าถามอีกก็จะบอกว่า

การทดลองกำหนดว่าคุณต้องดำเ
นินการต่อ...

... พอปุ่มหลังๆ นักเรียนไม่ตอบสนอง ทำเหมือนกับสลบไปแล้ว ถามคำศัพท์ก็หยุดตอบแล้ว แต่ว่านายแสตนลีย์ก็บอกว่า ไม่ตอบก็ถือว่าผิด ให้ช็อตไฟฟ้าต่อไป

ปรากฎว่าคนส่วนใหญ่ช็อตจนถึงปุ่มสุดท้าย ทั้งๆที่ป้ายเขียนว่าไฟฟ้าแรงมากๆ นักเรียนอาจจะตายได้... เกิดอะไรขึ้นกันล่ะเนี่ย ทำไมชาวบ้านที่ไม่มีพิษมีภัยถึงทำกับอีกคนอย่างนี้ให้ลงคอ เห็นชัดๆว่า ถ้าเกิดไม่มีนายแสตนลีย์คอยบอกให้ช็อตคนไปเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่คงไม่ช็อตไปถึงปุ่มสุดท้าย สิ่งที่เค้าต้องการจะชี้ให้เห็นคือว่า เราสามารถถูกบอกให้ทำอะไรร้ายๆ ได้ถ้ามีบุคคลที่แสดงอำนาจเหนือเรา ปัจจัยที่ทำให้คนตกอยู่ในอำนาจ ก็แนวโน้มของคนที่ชอบทำตามสิ่งที่คนอื่นบอกให้ทำเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน พอเราไม่รู้จะตัดสินใจยังไงก็ทิ้งให้การตัดสินใจไปอยู่กับคนอื่น นี่คือประเด็นหลักประเด็นแรกของการทดลอง ซึ่งทำให้โยงไปถึงประเด็นที่สองของการทดลองนี้ เรารู้สึกเหมือนว่าเราแค่ทำตามคำสั่งของคนที่มีอำนาจ ถ้ามีอะไรร้ายๆเกิดขึ้น ความรับผิดชอบก็จะไปตกอยู่กับคนที่มีอำนาจสั่งการ ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเราจะไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เราทำ สองประเด็นนี้ทำให้เราเข้าใจว่าทหารนาซีจับคนยิวไปเข้าเตาอบรมควันพิษตายเป็นเบือได้ทุกวันได้ยังไงกัน รู้ๆกันอยู่ว่าระบบทหารมันเป็นลำดับขั้นตามยศ นายใหญ่สั่งมาก็ทำไป ถ้ามีอะไรแย่ๆ คนก็ไปโทษนายใหญ่ อย่างง่ายๆ เลย เราก็คิดว่าฮิตเลอร์โหยมันโหดไม่สมควรเป็นคนอีกต่อไปเพราะว่าฆ่าคนยิวเยอะมาก แต่จริงๆ นายฮิตเลอร์อาจจะไม่ได้ฆ่าคนยิวด้วยตัวเค้าเองเลยแม้แต่คนเดียวก็ได้ แต่สั่งทหารไปฆ่าแทน เห็นมั้ยครับว่าเราก็โทษเอาคนที่สั่งการ ไม่เคยมีใครไปหารายชื่อทหารตอนนั้นแล้วมาแปะปราณามกลางสนามหลวงเลย ทหารเยอรมันตอนนั้นก็คงรู้สึกอย่างเดียวกัน แล้วก็แค่ทำตามคำสั่งไปเท่านั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปมันโหดเกินมนุษย์อยู่
แต่ว่านักจิตวิทยาสังคมไม่หยุดอยู่แค่นี้ครับ เค้าไขว่คว้าค้นหาต่อไปว่าทำไมคนถึงทำเลวได้ ติดตามตอนหน้า


วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ตามน้ำ

คนไทยชอบตามฝรั่ง ตามญี่ปุ่น ตามเกาหลี เคยสงสัยรึเปล่าว่าฝรั่งเค้าตามใครกัน ฝรั่งเค้าตามนิการากัว หรือกัวเตมาลา กันรึเปล่า หรือว่าฝรั่งตามฝรั่งกันเอง ที่จริงแล้วนิสัยการตามนี่ก็เป็นกันทุกคนนั่นแหละ ลองดูวิดีโอนี้



อันนี้คลาสสิกมากใครเรียนจิตวิทยาต้องได้ดู และได้ฮากันทุกคน นิสัยการตามเป็นสิ่งแรกๆที่นักจิตวิทยาเค้าค้นพบกันเลยทีเดียว (สามารถสังเกตได้ว่าวิดีโอมันเก่ามาก) ไอเดียหลักๆ ก็คือมนุษย์ต้องอยู่ในสังคมถึงจะมีชีวิตอยู่รอดได้ (หรือตอนที่โรงเรียนสอนๆ กัน ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม) และสังคมย่อมมีผลต่อพฤติกรรมคน สาขาจิตวิทยาสังคมโผล่ขึ้นมาเป็นสาขาย่อยในจิตวิทยาอีกทีนึง เพื่อจะศึกษาว่าสังคมมีอิทธิพลต่อคนยังไงบ้าง เช่น เรื่องนิสัยตามน้ำที่ได้ดูกันวิดีโอ นักจิตวิทยาสังคมเค้ามีทฤษฎีของเค้าว่า คนชอบตามน้ำกันไปเพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับของสังคมนั้นๆ เพื่อจะได้อยู่รอดได้ (เอาซะง่ายๆแบบนี้ล่ะ) แล้วจะขยายทฤษฎีไปครอบคลุมถึงว่าทำไมคนบางกลุ่มถึงชอบตามแฟชัน หรือทำกิจกรรมตามกลุ่มเพื่อนเป็นต้น มีการทดลองเกี่ยวกับการตามน้ำของคน อันนี้แสบมากๆ นักจิตวิทยาชื่อ นายโซโลมอน แอช (Solomon Asch) เรียกคนเข้ามาร่วมการทดลอง สิ่งที่เค้าให้ทำคือให้นั่งในห้องประชุมพร้อมกับผู้ร่วมการทดลองคนอื่น ๆ อีกประมาณสี่ห้าคน แล้วจะโชว์รูปภาพข้างล่างนี้ให้ดู



แล้วให้ตอบคำถามตามรูปภาพ เช่น เส้นไหนยาวที่สุด เส้นไหนยาวเท่ากัน
แต่คนร่วมการทดลองไม่รู้ว่า คนอื่นที่นั่งอยู่น่ะจริงๆ เป็นหน้าม้า กฎก็คือเวลาตอบคำถามต้องตอบให้คนอื่นได้ยินด้วย แล้วหน้าม้าจะตอบก่อนตลอดแล้วก็ตอบผิดตลอด โอเค เริ่มภาพแรกเส้นซ้ายยาวกว่าเส้น A แบบเห็นๆ คนทำการทดลองก็ถามคนในห้องทีละคนว่าว่าเส้นไหนยาวกว่า หน้าม้าทุกคนตอบว่าเส้น A หมด คนที่ร่วมการทดลองตัวจริงก็งงๆ แล้วก็ตอบว่าเส้น A ยาวกว่า ... อื่ม.. อาจจะเป็นไปได้ว่าหมอนั่นมันโง่เอง เลยทำการทดลองแบบเดิมเนี่ยแหละ แต่ลองเรียกคนอื่นเข้ามา ผลปรากฎเหมือนเดิม ทำกี่ทีๆ ผลก็เหมือนเดิม ยกเว้นบางคนที่ยอมแหกคอกแล้วให้คำตอบที่ถูกมา แต่ว่าคนพวกนั้นเป็นส่วนน้อย คำตอบมันง่ายนิดเดียว ถ้าไม่มีหน้าม้ามาทำให้เขว คนส่วนใหญ่จะตอบถูกหมด เท่านี้ยังไม่พอถ้าทำการทดลองนี้โดยที่เปลี่ยนจำนวนหน้าม้าในห้อง ปรากฎว่าถ้าจำนวนหน้าม้าเพิ่มขึ้นคนยิ่งตอบผิดมากขึ้น จากการทดลองนี้ นักจิตวิทยาสังคมก็พิสูจน์ว่าคนรอบข้างมีผลต่อการตัดสินใจของคนจริงๆ แม้ว่าการตัดสินใจนั้นมันง่ายขนาดนั้นก็ตามที เรียกได้ว่าถ้าคนเยอะพอ นักจิตวิทยาสามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ได้จริงๆ

แต่นี่ดูเหมือนจะไม่ได้น่าสนใจเท่าไร เพราะว่าที่การตามน้ำเช่น คนตามแฟชัน หรือทำอะไรตามเพื่อนเนี่ย ก็เป็นเพราะเค้าอยากทำอย่างนั้นเอง ทำแล้วไม่เดือดร้อนใคร แล้วก็ดูเหมือนคนก็จะมีความสุขด้วยที่ ทำผมน้ำตาลเกลียวโนเนะเหมือนนิตยสารแฟชั่น หรือสามารถร้องเพลงเกาหลีเหมือนเพื่อนที่โต๊ะมหาลัยได้ อันนี้เค้าเรียกว่าตามน้ำตามกระแส แต่ว่าตามใจตัวเองในระดับนึง
แต่ในบางทีคนทำตามคำสั่งคนอื่นทั้
งๆ ที่ไม่อยากจะทำ เช่น ทหารนาซีฆ่าคนยิวตายเป็นเบือตอนหลังสงครามโลก ฮิตเลอร์เก่งขนาดหากองทัพที่คนมันโหดขนาดฆ่าชาวบ้านได้เยอะๆ อย่างนั้นเลยเหรอ หรือว่าคนเยอรมันมันเหี้ยมอย่างนี้ทุกคน หรือว่าอะไรกัน เหตุการณ์นี้ทำให้นักจิตวิทยาสังคเกิดอยากรู้ว่าทำไมคนถึงทำชั่วตามที่คนอื่นสั่งได้ ถ้ารู้ต้นเหตุของความชั่ว นักจิตวิทยาสังคมก็จะกลายเป็นฮีโร่ คุ้มครองโลกโดยสกัดต้นเหตุของความชั่วร้าย อื่ม... ฟังดูดีนะ ไว้มาดูกันว่ามันง่ายอย่างงั้นจริงรึเปล่า ดูกันตอนหน้า

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552

อินโทร

คิดมาอยู่นานแล้วจะเขียนอะไรสักอย่างกับสาขาที่ตัวเองเคยเรียนมา แต่ก็ไม่ได้เขียนเพราะคิดว่ารู้เนื้อหาไม่แน่น กลัวไม่มีเวลาเขียนแล้วออกมาห่วยแล้วคนเอาไปค่อนว่า ต่อไปนี้จะเลิกสนใจ และจะเขียนแค่ทดสอบว่ามั่วให้คนรู้เรื่องและสนใจได้มากแค่ไหน

รูปแบบ ง่ายๆ สั้นๆ เบาๆ รีบๆอ่าน รีบๆจบ แต่ว่าเนื้อหาตันๆ เอาไปเล่าให้คนข้างบ้านฟังต่อได้

เดือนที่แล้วเพิ่งเรียนจบจากสาขาที่คนไม่ค่อยรู้เรื่องว่าเรียนอะไรกัน เรียนมาทางด้าน นูโรไซแอนส์ เน้นไปทาง จิตวิทยา ที่สองสาขานี้มันมารวมกันได้เพราะว่า ตอนนี้คนเค้ากำลังอยากรู้ว่า ทำไมคนมันถึงทำตัวแปลกๆ ในหลายๆด้าน ว่าง่่ายๆ อยากรุ้ว่าสิ่งที่คนทำน่ะ "ใช้สมองส่วนไหนคิด" เพราะฉะนั้นแต่ละตอนจะเริ่มที่พฤติกรรมคนก่อน แล้วก็มาดูว่าสมองส่วนไหนคิด (เท่าที่คนเค้าเคยศึกษามา) เวลาพูดถึงเรื่องจิตวิทยาแล้วเค้าจะเริ่มตามลำดับความใหญ่

(จากเล็กไปใหญ่) เช่น
เล็กมากๆ ยีนส์ ตัวไหนทำให้เก่งเลข
เล็กมาก เซลล์ไหน ต่อกัน แล้วทำให้เดินแล้วชักกระตุก
เล็ก ระบบไหนในสมอง ที่ทำให้คนติดแม่ ติดเกม ติดบุหรี่
กลางๆ ทำไมคนแต่ละคนถึงไม่เหมือนกัน ฉันชอบก๋วยเตี๋ยว เธอชอบกินเฉาก๊วย
ใหญ่ๆ ทำไมคนมารวมกันแล้วทำอะไรพิลึกๆ

เราจะพยายามพูดลำดับจากใหญ่ไปเล็ก แล้วแต่จะตามสะดวก พรุ่งนี้จะเริ่มอย่างที่ใหญ่สุดก่อน นับว่าเป็นสิ่งแรกๆ เลยที่นักจิตวิทยาค้นพบ ทำไมคนถึงฆ่ากันได้ แล้วทำไมสมองคนถึงมีสั่งการให้ฆ่ากัน ลองมาฟังพรุ่งนี้

(คิดว่าจะให้แต่ละตอนยาวประมาณนี้ละกัน คิดว่าไม่น่าจะใช้เวลาอ่านนานเกิน)