วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

จิตเภท สกิโซเฟรเนีย

คุยแต่เรื่องจิตวิทยามานานวันนี้ขออาสาพาทัวร์มหาวิทยาลัยที่ผมอยู่สักนิดนึง แต่ไม่ต้องห่วงยังไงก็เกี่ยวกับจิตวิทยาอยู่ดี

มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันเป็นหนึ่งในมหาลัยไม้เลื้อยหรูหรา ไอวี่ลีค (Ivy League) อยู่รัฐนิวเจอร์ซี่ เพราะฉะนั้นถ้าบินจากกรุงเทพมานิวยอร์ค



ยังไม่ถึงครับๆ ต้องนั่งรถไฟออกจากแสงสีเมืองนิวยอร์ค ต่อไปอีกสองชั่วโมง ฝ่าป่าเขาและท้องทุ่ง พนาไพรจนมาถึงภูบาลปรินซ์ตัน



ที่ซุกหัวนอนของผมเรียกว่า แกรดจูเอ็ด คอลเลจ (Graduate College) หรือเรียกเล่นๆ ว่า แกรดคอลเลจ หน้าตาเหมือนปราสาทเก่าๆ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเด็กปริญญาโท และเอกที่มหาลัยปรินซ์ตัน ห้องผมอยู่ปลายลูกศรนี้ สามารถมาเยี่ยมเยียนกันได้



ปราสาทแกรดจูเอ็ด คอลเลจเคยเป็นที่อยู่นายคนนี้



รัสเซิล โครว เคยเป็นเด็กปรินซ์ตันตั้งแต่เมื่อไรกัน ที่จริงนายรัสเซิล โครวไม่เคยอยู่ที่นี่แต่ว่า ศาสตราจารย์จอห์น แนช เคยอยู่ที่นี่ตอนทำปริญญาเอก นายรัสเซิล โครวเล่นเป็นจอห์น แนช ในหนังเรื่อง บิวตีฟูล ไมนด์ ผมพยายามถามคนแถวนี้เหมือนกันว่าอาจารย์แนชอยู่ห้องไหนในแกรดคอลเลจ แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้ ถ้าดูในหนังน่าจำฉากที่โยนโต๊ะทะลุหน้าต่างกันได้ ที่นี่ล่ะ

อาจารย์แนช เป็นเก่งเลขพระเจ้ามาก ปัจจุบันยังเป็นอาจารย์อยู่ปรินซ์ตัน มีออฟฟิศอยู่ที่ตึกเลขที่ชื่อว่าไฟน์ฮอลล์ (Fine Hall) หน้าตาแบบนี้



เป็นแท่งๆ สูงๆ แบบนี้แหละ มีตำนานเล่ากันว่า ตอนดึกดื่นค่ำคืน ถ้ามาเดินเล่นตึกเลขดึกๆ อาจจะได้เจอเจ้าที่ไฟน์ฮอลล์ (Phantom of Fine Hall) กำลังขยุกขยุยสมการอยู่บนกระดาน เจ้าที่นั่นก็คืออาจารย์แนชนั่นเอง ผมเคยไปส่งการบ้านทีนึงแต่ไม่เจอเจ้าที่...

นอกจากจะดังในหมู่นักเรียนแล้ว อาจารย์แนชมีชื่อเสียงกระฉ่อนเพราะว่าได้รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ รางวัลโนเบลนี่คนแย่งกันเพราะว่าใครได้รางวัลนี้จะได้เกียรติยศ ชื่อเสียงมากมาย เป็นรางวัลที่แจกให้กับคนที่ฉลาด และความฉลาดแผ่กระจายไปสู่มนุษย์โลกมากมาย

แล้วตอนนี้คงทั้งโลกรู้จักอาจารย์แนชมากขึ้นไปอีก เพราะว่าประวัติอาจารย์แกถูกเอามาทำเป็นหนังเรื่อง บิวตีฟูลไมนด์ แต่ว่าคนได้รางวัลโนเบลมีเยอะแยะทำถึงเอาอาจารย์แนชมาทำเป็นหนัง อาจจะเป็นเพราะว่าอาจารย์แนชเป็น “ศาสตราจารย์สติเฟื่อง” เอามาทำเป็นหนังแล้วคนชอบ เพราะว่าคนมักจะคิดว่าคงที่ฉลาดมากๆ จะต้องเป็นบ้า หรือโรคจิต ถึงแม้ไม่มีหลักฐานอะไรแน่นอนเลยว่าโรคจิตช่วยทำให้เก่งเลขหรือว่า สมองส่วนที่ทำให้เก่งเลขเป็นส่วนเดียวกับส่วนที่ทำให้เกิดโรคจิต หรือว่าโรคจิตนำไปสู่บุคลิกภาพที่ทำให้เก่งเลข ไม่มีหลักฐานอะไรเลย

อาจารย์แนชเรียนจบปริญญาเอกเรียบร้อย และมีภรรยามีลูกไปตามประสาคนปกติ จนมีกระทั่งวันหนึ่ง อาจารย์แนชมีอาการคล้ายๆ กับอาการของโรคจิตเภท หรือสกิโซเฟรเนีย (Schizophrenia) ที่เราเห็นในดีเอสเอ็มจากตอนที่แล้ว


อาจารย์แนชเริ่มคิดว่าเบอร์โทรศัพท์ บทความในหนังสือพิมพ์ หมาเดินเล่นอยู่ข้างถนน เน็คไทสีแดง ฯลฯ แฝงรหัสลับจากสิ่งมีชีวิตจากแกแลคซีอื่นที่มนุษย์คนอื่นอ่านไม่ออก มีเค้าคนเดียวที่สามารถถอดรหัสได้ ถ้าถอดรหัสได้ เราจะเข้าใจทฤษฎีที่จะเปลี่ยนโลกไปคนละใบ

ยังไม่พออาจารย์บางทีจะเห็นภาพหลอน หรือเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน ทำเกิดอาการหวาดระแวงว่าคนอื่นจะมาทำร้าย ภรรยาและมหาลัยเห็นว่าอาจารย์แนชเริ่มท่าจะไม่ดีเลยถูกส่งเข้าโรงพยาบาลรับการรักษา

ความคิดเริ่มไม่เป็นระบบระเบียบ ไม่รู้อะไรผิด อะไรถูก อะไรก่อให้เกิดอะไร ทำให้โลกรอบตัวของผู้ป่วยไม่ค่อยเมคเซนส์ หรือเริ่มเห็นภาพหลอน อาการพวกนี้ไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยจิตเภททุกคน แต่ละคนจะมีลักษณะอาการที่ต่างกันไป ทำให้โรคนี้วินิจฉัยลำบากเพราะว่ามีโรคที่ประเภทย่อยๆ อยู่หลายประเภท

แต่ว่าไม่ว่าเป็นประเภทไหนก็ตามที อาการของโรคไม่ได้ทำให้เก่งเลข เก่งวิทย์อะไรขึ้นมาเลย งานของอาจารย์แนชต้องหยุดชะงักไปนานทีเดียวหลังจากเริ่มมีอาการจิตเภท นักจิตวิทยาบางคนเรียกโรคนี้ว่า มะเร็งจิต เหมือนว่ามีก้อนเนื้อเกาะอยู่ที่จิตทำให้ความคิดความอ่านไม่เป็นปกติ แต่ว่าไม่มีก้อนเนื้อที่เราผ่าออก หรือยิงรังสีทำลายได้ ไม่มีเชื้อไวรัสที่ต้องฆ่าทิ้งหรืออะไรอย่างนั้น การรักษาต้องอาศัยยาที่ส่งผลไปทั่วร่างกาย เช่นอาจจะไปปรับระดับสารเคมีในตัวภายในร่างกาย แต่ว่าผลข้างเคียงเยอะอยู่เหมือนกัน ปากแห้ง คลื่นไส้ อยากอ้วก มึนหัว และอีกมาก ทำให้ไม่ค่อยอยากจะกินยา แต่ถ้าไม่กินยาก็ไม่หาย ผู้ป่วยทางจิตโรคอื่นตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน ไม่กินยาก็ไม่หายอาการก็โผล่ขึ้นมาเรื่อย แต่ถ้ากินยาอาการขยะแขยงอย่างอื่นก็โผล่ขึ้นมา ไม่สนุกเลย

เพราะฉะนั้นยาที่จิตแพทย์สั่งยังไม่พอ นักจิตวิทยาบางทีก็ต้องเข้ามาช่วยด้วย ช่วยให้คำปรึกษา และให้กำลังใจกับผู้ป่วยสู้กับโรค

ในบางราย บางทียาก็รักษาไม่ได้ หรือผู้ป่วยไม่ยอมกินยา กินยาไม่ได้ มีอีกวิธีนึงที่บางทีเอามาใช้รักษาแต่ว่าไม่ค่อยจะดีเท่าไร

จำสมัยเด็กๆได้มั้ยครับ เวลาเปิดทีวีแล้วภาพไม่ยอมขึ้นมา มีแต่เสียง จะดูละครก็ไม่ได้ ตอนจบแล้วซะด้วย ทำไงดีล่ะ อ้าลองบ้องข้างทีวีสักป้าบ สองป้าบ สามป้าบ ภาพกลับมาแล้ว ดูละครได้สบายใจ

คล้ายๆกันครับ เป็นโรคจิตทำยังไงก็ไม่หาย ลองบ้องสักที สองที แต่ว่าไม่ได้บ้องด้วยฝ่ามือครับ บ้องด้วยไฟฟ้า วิธีก็คือฉีดยาชา แล้วเอาใช้ไฟฟ้าช็อตทำให้เกิดอาการชักกระตุก ต่อให้มียาชาก็เถอะครับ ไม่น่าสนุก อาจารย์แนชก็ถูกรักษาด้วยวิธีนี้เช่นกัน

อาการพวกนี้ไม่เหมือนเป็นไข้ เวลาเป็นไข้จะรู้ปวดหัว ตัวร้อนตลอดเวลา ถ้าหายปวดหัว หายตัวร้อนก็พอจะเดาได้ว่าหายไข้แล้ว แต่ว่าอาการของโรคจิตเภทไม่ได้เกิดตลอดเวลา แล้วก็ไม่หายขาดง่ายๆซะด้วย ปัจจุบันนี้อาจารย์แนชยังเดินเล่นอยู่แถวปรินซ์ตัน เดินไปยืมหนังสือ สอนหนังสือบ้างบางครั้งบางคราว แต่ว่าแกบ่นกับบางคนว่ารู้สึกว่าโลกนี้เปลี่ยนไป ยังรู้สึกว่าทุกอย่างบนโลกนี้มีความหมายในตัวเองทั้งหมด ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ อาจารย์แนชยังต้องพยายามแยกว่าอะไรว่าอันไหนเรื่องจริง อันไหนไม่จริง อันนี้เป็นอุปสรรคใหญ่เพราะว่าการที่จะคิดทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ใหม่ๆ จะต้องอาศัยการคิดนอกกรอบ คิดแบบที่คนอื่นไม่คิดกัน อาจารย์แกก็ยอมรับว่าตอนนี้แกก็แก่แล้วสมองไม่แล่นเหมือนตอนหนุ่มๆ บวกกับความจำเริ่มไม่ค่อยดีซึ่งแกโทษการรักษาแบบช็อตไฟฟ้า แต่ตอนนี้แกก็ยังทำวิจัยค้นคว้าต่อไป และดำเนินชีวิตตามปกติ

จะเป็นนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ จิตรกร หรือช่างซ่อมรถ เป็นโรคจิตไม่สนุกแน่นอนครับ

หมายเหตุ รูปไม่ได้ถ่ายเอง เอามาจากเว็บไซต์คนอื่น

วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วิปริต โรคจิต ไซโค ตอนสอง

ทุกตำราต้องเริ่มจากว่านิยามก่อนว่าความผิดปกติทางจิตนี่แปลว่าอะไร ตอนที่แล้วเราพูดถึงไปแล้วว่าความผิดแปลกไปจากวัฒนธรรมที่เรายึดถืออาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความผิดปกติทางจิตได้ ว่าง่ายๆว่าอะไรที่คนทั่วๆไปส่วนใหญ่มองแล้วเหวอ เฮ้ยเกิดอะไรขึ้นเนี่ย ทำไปได้ไง แต่เท่านั้นคงไม่พอ เรากำลังพูดถึงโรคทางจิต เพราะฉะนั้นนักจิตวิทยาเลยจำกัดความของโรคผิดปกติทางจิตให้รวมแค่อาการทางจิตที่ก่อทำให้คนๆนั้นรู้สึกไม่สบายใจ ไม่สบายกาย ทำให้ดำเนินชีวิตตามปกติไม่ได้ หรือว่าถึงขนาดนี่ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ พิการ เจ็บปวด หรือตายได้ คำจำกัดความนี้อยู่ในประโยคแรกในตำราสุดคลาสสิคในวงการนี้ ตำรานั้นเรียกว่า DSM = Diagnostic and Statistical Manual

ตำรานี้มีอยู่ห้าหมวดใหญ่ด้วยกัน

1. โรคทางคลีนิค

2. โรคทางบุคลิกภาพ

3. สภาวะทางร่างกาย

4. ปัจจัยทางจิตสังคม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่ร่วมก่อให้เกิดโรค

5. การประเมินสภาวะโดยรวม

แต่ละหมวดก็มีบอกอาการของโรคและวิธีการวินิจฉัยโรคแต่ละโรค เพราะฉะนั้นวันนี้ขอให้ทุกคนหาซื้อ DSM มาติดบ้านไว้สักเล่มนึง เผื่อคนที่บ้านเข้าข่ายโรคจิตจะได้เปิดหาวิธีการวินิจฉัยได้

อะแฮ่ม มาลองดูสักโรคนึงมั่วๆ จากหมวดแรกเลยละกัน ลองดูโรคจิตเภท (Schizophrenia)

“ลักษณะอาการจำเพาะ: มีอาการต่อไปนี้อย่างน้อยสองข้อขึ้นไป โดยมีแต่ละอาการอยู่นานพอสมควรในช่วงเวลา 1 เดือน (หรือน้อยกว่านี้ หากรักษาได้ผล)
(A) อาการหลงผิด
(B) อาการประสาทหลอน
(C) disorganized speech (การพูดจาสับสน เช่น มี derailment หรือ incoherence อยู่บ่อย ๆ)
(D) มีพฤติกรรมแบบ disorganized หรือ catatonic อย่างเห็นได้ชัด
(E) อาการด้านลบ (negative symptoms) ได้แก่ อารมณ์เรียบเฉย (affective flattening) พูดน้อยหรือไม่พูด (alogia) หรือขาดความกระตือรือร้น (avolition)
หมายเหตุ: เพียงอาการเดียวในเกณฑ์ข้อ A ก็เพียงพอ หากอาการหลงผิดเป็นแบบพิลึกพิลั่น (bizarre) หรือ อาการประสาทหลอนเป็นเสียงพูดวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมหรือความคิดของผู้ป่วย หรือมีเสียงตั้งแต่สองเสียงพูดจาโต้ตอบกัน”


อื่มช่วงนี้พูดจาสับสนเหมือนกันนะเนี่ย บางทีก็รู้สึกขาดความกระตือรือร้นเหมือนกัน เกือบเดือนแล้วเนี่ย โอเคเดี๋ยวจะไปซื้อยาหน้าปากซอยแก้โรคจิตเภท เฮ่อโชคดีนะเนี่ย...

อ้าว แล้วงี้จะมีพวกนักจิตวิทยาคลินิค กับจิตแพทย์ไว้ทำหยังล่ะเนี่ย ถ้าอยู่บ้านเปิดตำราเอาก็ได้ ที่จริงแล้วมีอะไรละเอียดอ่อนนอกเหนือตำรานี้อีกทีเดียว ตำรา DSM นี้ยังเป็นที่ถกเถียงในบรรดานักจิตวิทยากันเองอยู่เลย

ตัวอย่างง่ายๆ อยากโรคจิตเภท ตำราบอกว่าอาการจะต้องอยู่นานพอสมควรในช่วงเวลาหนึ่งเดือน นานพอสมควรแปลว่าอะไร วันละสามนาที ทั้งสามอาทิตย์ที่แล้วทั้งอาทิตย์แต่ว่าอาทิตย์ต่อมาไม่มีอาการ หรือว่าอะไรกันแน่ การพูดจาสับสนแปลว่าอะไร พูดน้อยแปลว่าอะไร น้อยแค่ไหน

พวกรายละเอียดเล็กน้อยๆ พวกนี้สำคัญต่อการวินิจฉัยอยู่ทีเดียว แต่ว่าตำราไม่ได้พูดถึงรายละเอียดที่มันเจาะจงลงไปกว่านี้ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยประสบการณ์เอา แต่ก็เพราะไอ้จุดนี้นี่เอง นักจิตวิทยาเลยเถียงกันว่า ตกลง DSM นี่มันมีประโยชน์จริงรึเปล่า เชื่อถือได้แค่ไหน ให้จิตแพทย์ร้อยคนจะมาลองวินิจฉัยผู้ป่วยคนเดียวกัน จะวินิจฉัยตรงกันรึเปล่า

อีกอย่างนึง อย่างหมอที่จบมาจากเมืองนอก พอมาทำงานเมืองไทยต้องเรียนพวกโรคเมืองร้อนก่อนไปรักษาคน แต่ว่าตำรา DSM ใช้เล่มเดียวกันทั่วโลกครับผม ตอนที่แล้วบอกไปแล้วว่าบางทีจะพูดว่าใครบ้า ใครไม่บ้าบางทีมันละเอียดอ่อนกว่าที่คิด เพราะว่าไม่มีเส้นแบ่งความบ้าไม่บ้าแน่ชัด แถมยังมีบ้ามากบ้าน้อยอีก แล้วก็กรอบวัฒนธรรมก็มีผลต่อพฤติกรรมและอาการคนอีก ถ้าเอาตำรานี้มาใช้กับคนทั่วโลกย่อมเกิดปัญหาแน่นอน เพราะฉะนั้นเลยต้องให้คนที่ชำนาญจริงๆมาใช้ตำรานี้ อื่ม... ถ้าใครไปเผลอซื้อตำรามาแล้ว ขออภัยด้วย คงต้องแอบเอาไปคืนร้านหนังสือแล้ว

กว่าจะมาเป็นนักจิตวิทยาคลินิค หรือจิตแพทย์ได้ต้องเข้าโรงเรียนศึกษาฝึกฝนกันนานอยู่ ผมเองก็ไม่ใช่จิตแพทย์ ตอนต่อผมจะพูดถึงโรคจิตสักสองโรคพอให้รู้อะไรรวมๆ เฉยๆ ถ้าเกิดผมพูดมั่วพูดผิด ช่วยบอกกันด้วยเน่อ เริ่มโรคแรกตอนหน้าครับผม

ป.ล. ว่างๆ ถ้าอยากลองอ่าน DSM สามารถเข้าไปดูได้ที่
http://www.ramamental.com/dsm/