วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ทำสถิติ

อาซิ่มเพื่อนแม่ “ไปร่ำเรียนมถึงเมกานี่ เรียนสาขาไหนเนี่ย”
เต้ “เรียนจิตวิทยาครับ”
อาซิ่มเพื่อนแม่ “จะดีหรอ อย่างนี้ก็ต้องอยู่กับคนบ้าตลอดเลยสิ”
เต้ “...”
ผมเจอประจำครับ เจอถามแบบนี้ทีไรก็ตอบไม่ค่อยถูก ใจจริงอยากจะอธิบายให้อาซิ่มฟังว่า...

นักจิตวิทยาทุกคนไม่ได้เรียนมาด้านจิตวิทยาบำบัด ที่จริงแล้วนักจิตวิทยาส่วนใหญ่คือนักจิตวิทยาทดลองอย่างที่เห็นตัวอย่างจากตอนที่แล้ว จับคนมาทำอะไรสักอย่างนึงแล้วอยากรู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้คนทำสิ่งนั้นลงไป จิตวิทยาเป็นสาขาที่เอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาศึกษาประเด็นต่างๆ ทางสังคมศาสตร์ หรือทางปรัชญา
วิธีการทางวิทยาศาสตร์คืออะไร คงไม่ต้องอธิบายมากมาย ในการทดลองนึงจะอย่างน้อยสองกลุ่มการทดลองสองกลุ่มนี้มีสิ่งที่ต่างกันอยู่นึงอย่างเรียกว่าตัวแปรอิสระ นอกนั้นทุกอย่างเหมือนกันหมด เสร็จแล้วเราก็เปรียบเทียบผลจากทั้งสองกลุ่ม ถ้าได้ผลต่างกันเราสรุปว่าสิ่งที่ต่างกันนั้นเป็นผลมาจากตัวแปรอิสระ แค่นี่แหละ การทดลองทางจิตวิทยาทุกการทดลองมีหลักแค่นี้ (ยกเว้นการทดลลองคุกแสตนฟอร์ดของซิมบาร์โด อันนั้นไม่ใช่วิทยาศาสตร์)

แต่ปัญหาก็คือ เรารู้ได้ยังไงล่ะผลจากทั้งสองกลุ่มนั้นต่างกันจริงๆ ลองนึกดูเล่นๆ ว่าเราทำการทดลองกับตัวเองโดยต้องการอยากรู้ว่าจากบ้านไปมหาลัยระหว่างขับรถไป หรือนั่งรถเมล์ไปต่อรถไฟฟ้าแล้วเดินอันไหนเร็วกว่ากัน
วันแรก ขับรถไป ใช้เวลา 60 นาที
วันที่สอง ไม่ขับรถไป ใช้เวลา 53 นาที
โอเคเย่ สรุปเลยว่าไม่ขับรถไปจะดีกว่า อื่มแตลองนึกอีกที วันแรกที่ขับไปรถติดมากเพราะว่าติดขบวนเสด็จ เพราะฉะนั้นยังสรุปไม่ได้ ครูสอนที่โรงเรียนว่าเวลาทำการทดลองให้ทำหลายๆครั้งแล้ว เลยตัดสินใจว่าเดือนหน้าก่อนออกจากบ้านจะดีดเหรียญ ถ้าออกหัวจะขับรถไป ถ้าออกก้อยจะไม่ขับไป แล้วก็จดไว้ทุกครั้งว่าใช้เวลาเท่าไรตอนถึงคณะ
วันที่ขับรถไป : 60 33 46 48 38 66 55 57 54 57 เฉลี่ย 51.4
วันที่นั่งรถเมล์ไปต่อรถไฟฟ้าแล้วเดิน : 53 60 57 64 61 37 60 60 47 51 เฉลี่ย 55.0
เย่สรุปแล้วเราค้นพบแล้วว่าขับรถไปเร็วกว่าสี่นาทีโดยเฉลี่ย แต่ว่าถ้าเอาข้อมูลนี้ไปให้นักจิตวิทยาดู นักจิตวิทยานายนั้นจะตอบว่าเรายังสรุปไม่ได้ แล้วเมื่อไรจะสรุปได้ล่ะอุตส่าห์นั่งจดเวลามาเป็นเดือน

เวลาวิเคราะห์ผลการทดลองนักจิตวิทยา(และนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ) จะใช้เวทย์มนต์ยุทโธปกรณ์ที่เรียกว่าการตรวจสอบสมมติฐาน การตรวจสอบสมมติฐานทุกชนิดใช้ประโยชน์จากการกระจายของความน่าจะเป็น อันนี้เข้าใจไม่ยาก การกระจายของความน่าจะเป็นเป็นสิ่งที่บอกเราว่าเรามีโอกาสได้เห็นสิ่งที่เราสนใจด้วยความน่าจะเป็นเท่าไร ดูตัวอย่างการกระจายของความน่าจะเป็นของลูกเต๋า ทอยลูกเต๋าไปหนึ่งครั้งมีโอกาสได้หนึ่งแต้มเท่าไร ลูกเต๋ามีหกด้าน เพราะฉะนั้นความน่าจะเป็นที่จะได้หนึ่งแต้มคือ หนึ่งในหก ถ้าถามใหม่ว่าทอยลูกเต๋าไปหนึ่งครั้งมีโอกาสได้มากกว่าสี่แต้มเท่าไร คำตอบคือ สองในหก (ได้ห้าแต้ม หรือได้หกแต้ม) อื่มแล้วทำไมถึงเรียกว่าการกระจายของความน่าจะเป็นล่ะ ลองดูภาพข้างล่างดู จะเห็นความน่าจะเป็นมันกระจายไปยังแต่ละด้านของลูกเต๋า โอเคเข้าใจแล้วว่าการกระจายของความน่าจะเป็นแปลว่าอะไร


กลับมาที่การตรวจสอบสมมติฐาน ก่อนอื่นเลยเราต้องหาสมมติฐานขึ้นมาสองอัน สมมติฐานแรกคือทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่าง ขับรถไป หรือไม่ขับรถไปใช้เวลาพอกัน ตำราฝรั่งเรียกว่า null hypothesis ตามตำราไทยเรียกว่าสมมติฐานหลัก แต่ผมเรียกว่าสมมติฐานโมฆะเดี๋ยวจะบอกทีหลังว่าทำไม สมมติฐานที่สองคือทั้งสองกลุ่มต่างกัน ขับรถไปใช้เวลาไม่เท่ากับไม่ขับรถไป ตำราฝรั่งเรียกว่า alternative hypothesis ตามตำราไทยเรียกว่าสมมติฐานรอง แต่ผมเรียกว่าสมมติฐานทางเลือกใหม่ พอได้สมมติฐานทั้งสองอันนี้แล้ว เราจะหาค่าที่เรียกว่าค่าสถิติของข้อมูล ค่าสถิตินี้ได้มาจากการเอาข้อมูลมาบวกลบคูณหารกัน แต่ว่าไม่ได้ทำมั่วๆ ค่าสถิตินี้เรารู้คร่าวๆว่าการกระจายของความน่าจะเป็นของมันเป๊นยังไงเวลาที่สมมติฐานโมฆะนั้นเป็นจริงแล้วเราดูว่ามีโอกาสเท่าไรที่จะได้เห็นค่าสถิติที่เราได้มาเวลาที่สมมติฐานโมฆะเป็นจริง อ่าสมมติเราได้ค่่าสถิติของข้อมูลการเดินทางจากบ้านไปมหาลัยเรียบร้อยแล้ว เราก็จะมาดูจากการกระจายของความน่าจะเป็น(เวลาทำจริงๆ คนเปิดหนังสือดู หรือไม่ก็ใช้คอมพิวเตอร์)เพื่อจะได้รู้ว่ามีโอกาสเท่าไรที่จะได้เห็นข้อมูลที่เราจดไว้ถ้าสมติฐานโมฆะเป็นจริง ถ้าปรากฎว่าความน่าจะเป็นที่ได้เห็นค่าสถิตินั้นต่ำมาก แสดงว่าสมมติฐานโมฆะนั้นไม่ถูกต้อง และเราจะสรุปได้ว่าสมมติฐานทางเลือกใหม่นั้นถูกต้อง ผมชอบเรียกว่าสมมติฐานทางเลือกใหม่เพราะว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่คนอื่นไม่เคยรู้มาก่อน เพราะฉะนั้นเราค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ขึ้นมาเอาไปบอกเพื่อนในคณะได้ว่าขับรถไปมหาลัยเร็วกว่านั่งรถไฟฟ้า แต่ว่าถ้าความน่าจะเป็นที่ได้เห็นค่าสถิตินั้นไม่ต่ำเท่าไร แสดงว่ามีความน่าจะเป็นสูงว่าสมมติฐานโมฆะนั้นเป็นจริงแต่ว่าเรายังไม่ค่อยมั่นใจ ผลการทดลองนี้เลยเป็นโมฆะไปยังสรุปอะไรไม่ได้ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าขับรถไป หรือไม่ขับรถไปเร็วกว่ากัน ต้องลองหาข้อมูลมาเพิ่ม

วิธีการทดลองของนักจิตวิทยาก็มีแค่นี้เองครับ แต่ว่าแต่ละการทดลองจะมีเทคนิคต่างๆกันไป นิดๆหน่อยๆ ไปตามสไตล์

น่าเสียดายว่าผมไม่มีโอกาสนั่งจิบน้ำชากับอาซิ่มเพื่อนแม่ แล้วอธิบายตามที่ผมอธิบายในนี้ให้อาซิ่มฟัง แต่ว่าครั้งต่อไปเจออาซิ่มจะบอกให้มาอ่านที่ jitjeet.blogspot.com เพราะฉะนั้นคนที่อ่านอยู่อย่าลืมให้บอกให้เพื่อนมาอ่านด้วย (เอ๊ะ โฆษณาซะงั้น)

แต่ว่าอาซิ่มเค้าก็ถูกของอีอยู่นาเนี่ย นักจิตวิทยาก็ศึกษาคนบ้าแล้วก็พวกโรคทางจิตด้วย เพราะฉะนั้นตอนต่อไปคือจิตวิทยาบุคลิกภาพ และโรคทางจิตครับผม

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

เมืองคนบาป? ตอนสอง

ตอนที่แล้วนักจิตวิทยาสังคมทิ้งไว้ว่า ในสถานการณ์ที่เราไม่มั่นใจว่าเป็นเหตุจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือรึเปล่า บางครั้งเราจะพยายามเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นโดยการดูจากคนรอบๆตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดการโง่เป็นกลุ่ม เขลาเป็นกลุ่ม ทั้งๆที่ถ้าอยู่คนเดียวไม่มีคนอื่นอยู่รอบตัวจะมีโอกาสหยิบยื่นความช่วยเหลือให้มากกว่า คราวนี้มาลองดูสถานการณ์ที่เราเห็นกันจะๆ ว่าคนต้องการความช่วยเหลือจริงๆ แล้วดูว่าคนจะตอบสนองยังไงบ้าง

มีการทดลองมาอีก การทดลองนี้เราแกล้งบอกว่าอยากให้คนจับกลุ่มคุยกันเรื่องปัญหาที่่แต่ละคนมีหลังจากเข้ามาอยู่ในเมือง โดยจะให้ไล่พูดทีละคนว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไรบ้าง แต่ว่าเวลาคุยกันต้องคุยผ่านเสียงตามสายเพราะว่าคนอื่นอาจจะเขินไม่กล้าพูดถึงปัญหาของตัวเองถ้าเกิดต้องประจันหน้ากับคนอื่น แต่ว่า ฮ่าๆ แน่นอน ในกลุ่มนี้มีคนจริงอยู่แค่คนเดียวก็คือคนที่เข้าร่วมการทดลองนั่นเอง คนอื่นเป็นแค่เสียงอัดเทป แต่ละเทปพูดถึงปัญหาสัพเพเหระทั่วไป แต่ว่ามีเทปนึงที่แปลกว่าเทปอื่น เทปนี้พูดว่า พอผมย้ายเข้ามาในเมืองก็อาการของโรคลมบ้าหมูก็โผล่ขึ้นมา บางทีชักกระตุกเกือบตาย คนพาเข้าโรงพยาบาลแทบไม่ทัน คราวนี้ถึงตาคนเข้าร่วมการทดลองพูดถึงปัญหาของตัวเองบ้าง เหะเหะระหว่างนั้นเราก็เปิดเทปพิเศษอันนึงขึ้นมา เทปนั้นพูดประมาณว่า เอ่อ เอ่อ ช่ชชชชชชวย ด้้ดดดดวย ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ไหวแล้ว จะตายเอา คคคคใครก็ได้ ชชช่วยที แหวะ แหวะ อักๆๆๆ เทปนี้ยาวประมาณสองนาทีโดยเห็นชัดๆว่าอาการจะเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ เราต้องการดูว่าคนเข้าร่วมการทดลองจะออกมาขอความช่วยเหลือตอนไหน ผลปรากฎว่าถ้าคนเข้าร่วมการทดลองคิดว่าตัวเองอยู่กับคนที่ชักโดยไม่มึคนอื่นอยู่ (ฟังเทปแค่ของคนที่ชักเทปเดียว) 85% จะขอความช่วยเหลือก่อนเทปพิเศษจะจบ ถ้าคิดว่าตัวอยู่กับคนที่ชักกับคนอีกคนนึง ลดลงเหลือ 60% ถ้าคิดว่าอยู่กับคนอื่นสี่คน ลดลงไปเหลือ 31%



จากผลการทดลองนี้สรุปได้ว่าถ้ามีคนอื่นอยู่ คนแต่ละคนจะมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจช่วยเหลือน้อยลง นักจิตวิทยากลุ่มนี้เลยตั้งทฤษฎีขึ้นมาว่าความรับผิดชอบนั้นถูกกระจายออกไปตามจำนวนของคนที่เห็นเหตุการณ์ เช่น ในการทดลองนี้ถ้ารู้ว่ามีคนอื่นอยู่ก็จะรู้สึกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะช่วยคนชักนี้ กระจายๆ ออกไป ยิ่งคนเห็นเหตุการณ์มากเท่าไร ทำให้รู้สึกผิดน้อยลงไปเท่านั้น เพราะว่าเกิดการกระจายความรับผิดชอบ ถ้าเราเป็นคนเดียวที่เห็นเหตุการณ์ ความรับผิดชอบกระจายไปไหนไม่ได้ ถ้าคนชักมันตาย คนที่ต้องรู้สึกผิดคือเราคนเดียว ลองนึกถึงตอนที่แอนดรูถูกแทงล้มกองอยู่ที่พื้น คนที่อยู่ในรถไฟด้วยกันอาจจะเห็นแล้วว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือ แต่เผอิญรู้ว่ามีคนอีกเก้าคนที่เห็นเหมือนกัน อ้าวเฮ้ยแล้วทำไมต้องเป็นเราล่ะว่ะเนี่ย ที่ต้องเดือดร้อนเดินออกไปเรียกตำรวจให้สอบสง สอบสวน ถ้าเกิดเด็กมันตายจริงๆ ก็ไม่ใช่ความผิดเราคนเดียว แล้วคิดว่าคงเป็นความผิดของไอ้เก้าคนที่เหลือด้วย กลับบ้านไปได้ข่าวว่าเด็กตาย ก็คงไม่รู้สึกผิดมากเท่าไร

สรุปได้ว่าแค่เห็นว่ามีคนอื่นอยู่รอบตัวทำให้คนช่วยเหลือกันน้อยลง เพราะฉะนั้นการที่เรื่องน่าเศร้าอย่างเรื่องของแอนดรูนั้นมักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ก็คงไม่ได้น่าแปลกใจนัก ไม่ใช่เพราะเมืองทำให้คนเย็นชาต่อกันหรือว่าอะไรเลย คนชนบทรู้จักกันหมดสนิทสนมกันก็จริง แต่ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้ ผลออกมาก็คงจะไม่ต่างกันนัก

มาถึงตอนนี้เราก็เข้าใจแล้วว่าทำไมคนถึงทำเลวต่อกันในบางสถานการณ์ ทำไมคนถึงไม่ช่วยเหลือกันในบางสถานการณ์ จุดนี้ทำให้เราเห็นประเด็นใหญของจิตวิทยาสังคม นั่นก็คือสถานการณ์นั่นเอง ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนนู้นแล้วว่า เป้าหมายของจิตวิทยาสังคมคือศึกษาว่าพฤติกรรมมนุษย์สัมพันธ์กับสังคมยังไงเพื่อว่าสามารถเอาความรู้ความเข้าใจมาแก้ไขปัญหาในสังคม ถ้าอ่านกันมาถึงตอนนี้แล้ว ผมไม่ขอดูถูกคนอ่านโดยการบอกว่าเราเรียนรู้อะไรบ้างจากการทดลองคลาสสิกบุกเบิกของจิตวิทยาสังคม

เศร้านักตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของจิตวิทยาสังคมแล้ว ที่จริงมีอะไรน่าสนใจน่าตื่นเต้นอีก เราจะย้อนกลับมาพูดถึงจิตวิทยาสังคมทีหลัง ตอนต่อไปจะขอหยุดนิดนึงแล้วขอพูดรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ว่านักจิตวิทยาทำการทดลองกันยังไงคนถึงจะยอมรับผลสรุป เมื่อไรถึงจะสรุปอะไรออกมาได้ นักจิตวิทยามีอะไรที่ต่างจากนักวิชาการสาขาอื่น จะลองพยายามทำให้น่าตื่นเต้นดู

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

พักยก

ภูมิใจในตัวเองเหมือนกันว่าเขียนมาได้สิบตอนแล้ว ตอนแรกนึกว่าเขียนสองสามตอนคงเบื่อแล้วหยุดไปเอง ตอนนี้เลยคิดๆว่าอยากให้คนอ่านกันมากขึ้นเพราะว่าอยากคนรู้เรื่องจิตวิทยาและวิทยาการสมองกันเยอะขึ้นไปอีก ถ้าแอบอ่านเป็นประจำอยู่ให้กดไอ้ปุ่มข้างๆ เพื่อเป็นผู้ติดตามแล้วก็แนะนำเพื่อนๆให้อ่านกันหน่อย

อีกอย่าง แอบรู้มาว่าคนไทยตอนนี้กำลังนิยมเขียนบล็อกกัน ถ้ารู้จักบล๊อกคนไทยที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หรือสาระน่ารู้ต่างๆ ช่วยบอกด้วยนะครับ จะได้เอาลิงค์มาแปะช่วยกันโปรโมท ผมอยากให้นักบล๊อกวิทยาศาสตร์ไทยร่วมมือกันเขียนบทความดีๆ เพื่อให้คนไทยได้มีเว็บสาระดีๆ ย่อยง่ายๆ ไว้อ่านกันมากๆ

ผมแอบดีใจทุกครั้งที่เห็นคนกูเกิ้ลคำว่า จิตวิทยา หรือ ซิมบาโด้ หรือก การทดลองจิตวิทยา แล้วพลัดหลงมาที่บล๊อกจิต ผมเลยคิดว่าวันนึงคงจะดีไม่น้อยถ้าวันนึงเราสามารถหาอะไรในกูเกิ้ลเป็นภาษาไทย แล้วจะได้รู้สิ่งที่อยากรู้ ตอบสิ่งที่อยากตอบ อ่านสิ่งที่อยากอ่าน

เพ้อฝันใหญ่แล้ว ไว้พรุ่งนี้จะโพสต์ตอนจบของเมืองคนบาปครับ ขอบคุณที่ติดตามกัน

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

เมืองคนบาป? ตอนหนึ่ง

กาลครั้งหนึ่งเมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว มีเด็กหนุ่มคนนึงที่ใช้ชีวิตปกติธรรมดาท่ามกลางฝูงคนในมหานครนิวยอร์ค เด็กคนนั้นชื่อเด็กชายแอนดรู แอนดรูนั่งรถไฟใต้ดินไปโรงเรียนทุกวัน เป็นเด็กดีเพื่อนๆ รักใคร่ เหมือนเด็กอื่นๆ ทั่วไปในโลก มาอยู่วันหนึ่งแอนดรูนั่งรถไฟใต้ดินกลับบ้านตามปกติ แต่ว่าวันนั้นโชคไม่ค่อยดีเท่าไร ในรถไฟที่แอนดรูนั่งอยู่ มีกลุ่มเด็กผู้ชายสามคนเมาๆ ไม่สบอารมณ์ คนอื่นก็หนีเขยิบหนีพวกนั้น ไม่ก็แกล้งอ่านหนังสือพิมพ์ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น สองนาทีต่อมา แอนดรูถูกแทงเต็มตัว กระโหลกแตกจมกองเลือด ผู้โดยสารคนอื่นยังแกล้งอ่านหนังสือพิมพ์ต่อไป แล้วก็เผ่นออกสถานีหน้า มีคนเห็นเหตุการณ์สิบคน ไม่มีคนไหนโทรเรียกตำรวจเลย สุดท้ายแอนดรูนอนตายอยู่ในรถไฟ

เราพอจะเข้าใจแล้ววว่าทำไมคนถึงทำสิ่งแย่ๆ ตอนนี้เราจะถามคำถามกลับกัน ทำไมคนถึงไม่ช่วยเหลือกัน ไม่ยอมทำสิ่งดีๆ ถ้าคนในรถไฟขบวนนั้นเรียกเจ้าหน้าที่ เรียกตำรวจสถานีต่อไป แอนดรูอาจจะไม่ตายก็ได้ มันเกิดอะไรกันขึ้นล่ะเนี่ย เหตุการณ์นี้เขย่าขวัญคนเมืองนิวยอร์คไม่น้อย คนก็คิดกันไปว่า คนเมืองเย็นชา ไม่มีความรู้สึกต่อกัน โหดเหี้ยม สู้คนชนบทไม่ได้ แต่ว่าจริงเหรอคนมันจะเย็นชาได้ขนาดว่าเห็นคนนอนตายไปต่อหน้าต่อตาขนาดนั้นเลยเหรอ จริงอยู่คนเมืองทำงานหนัก เครียด แต่ว่าคงไม่ถึงขนาดนั้นล่ะม้าง หรือว่าทุกเมืองกลายเป็นเมืองคนบาปไปแล้ว

นักจิตวิทยาสังคมก็ขอมาทำไมหน้าที่ตอบคำถาม โดยอ้างถึงหลักที่ว่าพฤติกรรมที่เห็นนั้นควรจะได้รับอิทธิพลมาจากสังคมรอบตัว เค้าสังเกตว่าเวลาอยู่ในเมืองเนี่ยคนมันเยอะมาก มองไปทางไหนก็คน อยู่ตรงไหนก็มีคน นักจิตวิทยาสังคมเลยสันนิษฐานว่าการที่มีคนอยู่มากๆนั่นแหละทำให้คนไม่ได้คิดจะช่วยเหลือกัน ลองใช้หลักการนี้มาวิเคราะห์สถานการณ์ของแอนดรูกัน

สิ่งแรกที่นักจิตวิทยาสังคมคิดถึงก็คือ การที่คนเยอะแล้วต่างคนต่างไม่รู้สึกตกใจหรืออะไรทำให้คิดว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คือสมมติฐานของเค้า แล้วจะทดสอบยังไงล่ะ มีการทดลองสนุกๆ อีกแล้ว เราให้เลขาสาวสวยไปรับผู้เข้าร่วมการทดลองเข้ามา แล้วหลอกว่าเราเรียกให้มาทำแบบสอบถามเฉยๆ เลขาก็ยื่นแบบสอบถามให้ แล้วก็บอกว่า จะนั่งทำงานอยู่หลังม่านนี้นะคะ เสร็จก็เดินเฉิดฉายแล้วก็รูดม่านปิด (เพื่อให้รู้ว่าถ้าจะเข้ามาก็เข้ามาได้ง่ายๆ) คุณเธอก็แกล้งทำเสียงเรียงกระดาษ ปิดลิ้นชัก คุยโทรศัพท์ว่าไป สักพักนึงก็เปิดเทปที่เตรียมไว้ คนตอบแบบสอบถามก็ตอบไปแล้วก็ได้ยินเสียง(จากเทป) เหมือนชั้นหนังสือถล่มลงมา แล้วก็มีเสียงเลขาร้องโอดโอย โอ๊ยเจ็บจังเลยค่ะ ไม่ไหวแล้ว ชั้นหนังสือนี่มันหนักจัง โอย โอย โอย โอดครวญอยู่ได้สักพักนึง แล้วก็ทำเสียงเหมือนคลานๆ ออกจากห้องปิดประตูไป เรามาแอบดูว่าคนที่ทำแบบสอบถามนี่จะเข้ามาช่วยหรือร้องขอความช่วยเหลือรึเปล่า ปรากฎว่าคนประมาณ 70% เข้ามาช่วยเลขาสาวก่อนเธอจะออกไปนอกห้อง อื่ม...ฟังดูดีคนช่วยเหลือกัน แต่ว่าถ้าทำการทดลองเดียวกันนี้ แต่ให้มีหน้าม้านั่งทำแบบสอบถามอยู่ในห้องเดียวกันกับคนเข้าร่วมการทดลองแต่หน้าม้าไม่ได้ทำเหมือนตกใจหรือทำท่าจะช่วยเหลือ ปรากฎว่า คนแค่ 20% เท่านั้นที่ออกมาช่วยเลขาสาว ถ้ามีหน้าม้าในห้องมากกว่านั้นอีก แทบจะไม่มีใครช่วยเลขาสาวเลย ผลการทดลองทำให้รู้ว่าคนที่เข้าร่วมการทดลองไม่ได้มาจากพรหมพิราม หรือเมืองคนบาปหรืออะไร เพราะทุกคนมาจากเมืองเดียวกัน แต่ว่าบางคนเข้าช่วยเลขาสาว แต่บางคนไม่ พอถามคนเข้าร่วมการทดลองที่ไม่ได้เข้าช่วยเหลือเลขาสาวว่าทำไมถึงไม่ช่วย ส่วนใหญ่บอกกันว่า ไม่คิดว่าน่าจะมีอะไร เพราะคนอื่นก็ดูเหมือนไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไร นักจิตวิทยาเรียกผลการทดลองนี้ว่า Pluralistic ignorance แปลตรงๆ คือ พหุโมหะ แปลอีกทีก็คือ คนเขลาเป็นกลุ่ม เพราะว่าเราพยายามเข้าใจสถานการณ์รอบตัวโดยการดูจากคนอื่นๆ ทั้งที่ๆ คนอื่นก็ไม่ได้รู้ดีกว่าเรา สรุปไม่มีใครเห็นว่าควรเข้าช่วยเหลือเลย ก็เลยไม่มีใครสังเกตเห็นสิ่งร้ายๆที่คนอื่นกำลังเผชิญอยู่ เมื่อสังเกตเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่เห็น ก็เลยไม่ได้เข้าช่วยเหลือ

ฟังดูดี มีหลักการ แต่เอ ถ้าเราลองมองกลับในสถานการณ์ของแอนดรู ทุกคนเห็นชัดๆว่าเค้ากำลังถูกรุมแทงอยู่ จะบอกว่าไม่เห็นว่าเป็นเหตุจำเป็นต้องเข้าช่วยก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะสรุปได้รึยังว่า คนที่อยู่บนรถไฟขบวนนั้นเป็นคนเย็นชา ใจไม้ไส้ระกำ นักจิตวิทยายังแย้งต่อว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นคนบาปประเภทนั้นแต่อย่างใด ยังมีการทดลองสนุกๆ อีก เพื่อหาคำตอบให้กับคดีนี้ ตามอ่านกันตอนต่อไปครับ

วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

อะไรอยู่ใต้พรม

จากตอนที่แล้วไม่มั่นใจว่าได้ลองทำแบบทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยกันรึเปล่า ถ้ามีเวลาน่าจะลองทำกันดูนะครับ หนึ่งเพราะผมขี้เกียจอธิบายว่ามันเป็นยังไง แล้วอีกอย่างก็คือไม่ลองก็จะไม่รู้เองว่ามันรู้สึกยังไง (ที่จริงมันแอบสนุกอยู่) ลิงค์อยู่ที่นี่

แบบทดสอบนี้กำลังฮอตทีเดียว เพิ่งออกมาเมื่อสิบปีที่แล้วเอง เพื่อแยกทัศนคติเปิดเผย ออกจากทัศนคติเคลือบแฝง ไอเดียมาจากพวกเมกันพยายามส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง คนเป็นอย่างเค้าเป็นเพราะว่าตัวของเค้าเอง ไม่เกี่ยวกับเพศ สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา เพราะฉะนั้นถ้าถามคนเมกันทั่วๆไป ว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิงจริงมั้ย ก็จะตอบว่า โอ้ยไม่จริงหรอกนั่นเป็นแค่ความคิดพิมพ์เดียวติดหัว นั่นคือทัศนคติเปิดเผย แต่ว่าทัศนคติเคลือบแฝงที่แท้จริงเป็นไงเราไม่รู้

การทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยเอาวิธีของพวกจิตวิทยาปัญญาความคิด (ที่จริงผมเชี่ยวทางด้านจิตวิทยาปัญญาความคิดมากกว่าจิตวิทยาสังคมมากๆ แต่ผมขอเก็บของดีไว้ตอนหลังละกัน) พวกนักจิตวิทยาปัญญาความคิดศึกษาความคิดอ่านอารมณ์ของคนโดยหลักที่ว่าความคิดที่เชื่อมโยงกันอย่างดีคนจะไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน จะโต้ตอบได้อย่างเร็ว พูดแบบนี้อาจจะงง ตัวอย่างเช่นในแบบทดสอบนี้ ถ้าเราเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เราจะโต้ตอบเร็วกว่าเวลาเกมวางผู้ชายกับคณิตศาสตร์ไว้ข้างเดียวกัน เพราะฉะนั้นแค่ดูที่เวลาตอบสนอง เราก็จะสามารถเห็นทัศนคติเคลือบแฝงของคนนั้นได้แล้ว อื่มฉลาดใช่มั้ยล่ะ

แต่ว่าแล้วไงล่ะ รู้แล้วไง พอแบบทดสอบนี้ออกมาปุ๊บคนก็เริ่มสงสัย ทัศนคติเคลือบแฝงมันมีผลยังไง ทำไมเราต้องแคร์ด้วยในเมื่อมันเป็นความคิดที่อยู่ใต้พรม อาจจะไม่มีผลต่อพฤติกรรมเลยก็ได้ ในเมื่อเราสามารถคิดและแก้ไขพฤติกรรมเราได้ นักจิตวิทยาสังคมสงสัยก็เลยทำการทดลองนึงขึ้นมา ง่ายมากๆ เพื่อทดสอบว่าทัศนคติเคลือบแฝงมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมรึเปล่า เลือกคนที่ทำมีทัศนคติเคลือบแฝงว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิงโดยให้ทำแบบทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัย การทดลองแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเราให้ผู้เข้าร่วมการทดลองนั่งทำเลขคนเดียวในห้อง (ศัพท์เทคนิค เรียกว่ากลุ่มควบคุม) กลุ่มที่สองเราให้ผู้เข้าร่วมการทดลองนั่งทำเลขเหมือนกับกลุ่มแรก (ศัพท์เทคนิค เรียกว่ากลุ่มการทดลอง) แต่ว่าให้มีหน้ามาที่เป็นเพศตรงข้ามนั่งทำเลขชุดเดียวกันอยู่ในห้องด้วย ผลออกมาก็คือ



สำหรับคนมีทัศนคติเคลือบแฝงว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิง ถ้าเกิดไม่มีคนอื่นอยู่ในห้อง ผู้ชายกับผู้หญิงจะได้คะแนนเท่ากัน แต่ว่าผู้หญิงจะทำเลขได้แย่ลงถ้ามีผู้ชายอยู่ในห้อง อื่มน่าสนใจผู้ชายที่อยู่ในห้องสอบด้วยกันไม่ได้หว่านเสน่ห์ให้สาวหลง ทำเลขไม่ทันหรือว่าอะไรเลย แค่อยู่ในห้องสอบด้วยกันเฉยๆก็ทำให้ผู้หญิงทำได้แย่ลงแล้ว นี่คือพิษภัยของความคิดพิมพ์เดียวที่อยู่ในทัศนคติเคลือบแฝง ภาษาอังกฤษเรียกว่า stereotype threat นักจิตวิทยาสังคมลองทำการทดลองคล้ายๆกันนี้กับความคิดพิมพ์เดียวเรื่องอื่น เช่น คนขาวฉลาดกว่าคนดำ คนขาวฉลาดกว่าคนอินเดียนแดง ผลออกมาคล้ายๆกับการทดลองนี้เลย ทำให้เราพอเข้าใจว่าทำไมวงจรอุบาทว์ของความคิดพิมพ์เดียวมันถึงอยู่มาได้นานแสนนาน คนเมกันเลยพยายามอย่างมากที่จะลบความคิดพิมพ์เดียวนี้ออกไป โดยพยายามส่งเสริมให้้ผู้หญิงเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยการลด แลก แจก แถมเต็มที่ ผู้หญิงแข่งเลขก็จะพยายามให้รางวัลพิเศษผู้หญิง ถ้าใครสมัครปริญญาเอกสาขาที่ผู้หญิงขาดแคลน เช่นพวกวิศวะ ฟิสิกส์ ก็จะพยายามให้โอกาสผู้หญิงให้เข้าได้มากกว่า ไม่เลวทีเดียว

เจ๋งดีๆ แต่ว่าคนก็สงสัยกันอีก ว่าเฮ้ย ไอ้แบบทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยนี่มันเวิร์คจริงๆ เหรอ ให้ผลอะไรออกมามั่วๆรึเปล่าเนี่ย คนคิดแบบทดสอบนี้ก็เลยไปทำการศึกษาหาหลักฐานมามากมาย ยกตัวอย่างอันนึงก็คือ ก่อนการเลือกตั้ง ถ้าเอาคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกพรรคไหน มาทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยของแต่ละพรรค ปรากฎว่าเราสามารถทำนายได้เลยว่าคนนั้นจะเลือกพรรคไหน โดยดูแค่ความคิดเชื่อมโยงโดยนัยนั้นเอนไปทางพรรคไหนมากกว่า ถ้าเอามาเป็นแบบคนไทย ถ้าจับคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง มาถอดเสื้อทิ้งกองไว้ข้างห้อง แล้วให้ทำแบบทดสอบนี้ เราก็จะพอหยิบเสื้อคืนได้ถูกสี แสดงว่าความเชื่อมโยงโดยนัยก็เวิร์คใช้ได้ทีเดียว

ตอนนี้เราก็จะพอเข้าใจหลักสำคัญๆที่คนใช้เพื่อจะเข้าใจพฤติกรรมของคนอื่น เรายังเหลือว่าคนใช้หลักอะไรในการทำความเข้าใจสถานการณ์รอบตัวเรา โปรดติดตามตอนต่อไป

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

พิมพ์เดียวกันหมด

ผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิง ผู้หญิงต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ผู้ชายต้องออกนอกบ้านหางานทำ ความคิดพวกนี้มาติดอยู่ในหัวได้ยังไง แล้วมาติดอยู่ในหัวทำไมกัน ความคิดพวกนี้ติดอยู่ในหัวตั้งแต่เกิดมาเลยรึเปล่า มาดูอีกการทดลองนึงเลย เค้าต้องการอยากรู้ว่าคนเรามีความคิดติดหัวมาตั้งแต่ตอนอายุเท่าไร การทดลองพวกนี้จะประหลาดหน่อยนึง เพราะว่าเด็กมันเด็กมากเลยเราถามอะไรตรงๆไม่ได้เลย ต้องวัดความคิดของเด็กโดยวิธีอ้อมๆ นักจิตวิทยาพวกนี้เรียกว่านักจิตวิทยาพัฒนาการ เพราะว่าเค้าต้องการศึกษาว่าคนเราพัฒนาขึ้นมาได้ยังไง (พวกนักจิตวิทยาพัฒนาการนี้ต้องเป็นพวกรักเด็ก เพราะว่าต้องเล่นกับเด็กตลอด) การทดลองเป็นแบบนี้ เรามีของเล่นเด็กสี่อย่าง ตุ๊กตาผู้ชาย ตุ๊กตาผู้หญิง รถดับเพลิงของเล่น แล้วก็เครื่องดูดฝุ่นของเล่นแล้วดูกันว่าเด็กจะเล่นของเล่นเหล่านั้นยังไง ถ้าเด็กมีความคิดติดหัวว่าผู้ชายควรจะทำอาชีพอะไร ผู้หญิงควรจะทำอาชีพอะไร เด็กควรจะจับรถดับเพลิงของเล่นมาเล่นกับตุ๊กตาผู้ชาย แล้วเอาเครื่องดูดฝุ่นของเล่นมาเล่นกับตุ๊กตาผู้หญิง นักจิตวิทยาจับเด็กอายุสองขวบมาทดลอง ปรากฎว่าเด็กผู้หญิงเล่นของเล่นตามความคิดพิมพ์เดียวเกี่ยวกับอาชีพของผู้ชายและผู้หญิง แต่ว่าเด็กผู้ชายไม่ได้เล่นตามนั้น อื่ม... เค้าเลยลองทำการทดลองเดียวกันนี้้กับเด็กอายุสองขวบครึ่ง คราวนี้ทั้งเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่เล่นของเล่นตามความคิดพิมพ์เดียวเกี่ยวกับอาชีพ เราเลยสรุปได้ว่าความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ไม่ได้ติดมาตั้งแต่เกิด แต่ว่ามันมาติดอยู่ในหัวตั้งแต่อายุขวบนึงแล้ว แต่ก็ยังสงสัยกันอยู่ว่าทำไมเด็กผู้ชายได้ความคิดพวกนี้มาทีหลังเด็กผู้หญิง แต่ว่านักจิตวิทยาก็สันนิฐานไปว่าอาจเป็นเพราะเด็กผู้ชายไม่ค่อยได้เล่นกับตุ๊กตา เราเลยไม่ได้เห็นผลชัดอะไรประมาณนั้น แต่ว่าที่สำคัญกว่านั้นคือว่า เรายังสรุปไม่ได้ว่าทำไมเด็กถึงมีความคิดพวกนี้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนด้วยซ้ำไป นักจิตวิทยาพัฒนาการเลยพยายามคิดวิเคราะห์สาเหตุต่อไป ...​เอ เด็กพวกนี้เป็นเด็กฝรั่ง เด็กฝรั่งทำอะไรกันตอนสองขวบ อ๋อดูการ์ตูนดิสนีย์ ซึ่งตัวพระเอกส่วนใหญ่ก็จะตัวใหญ่ แมนๆ ต่อสู้เก่ง เป็นฮีโร่อะไรก็ว่าไป แต่ว่าตัวนางเอกจะตัวเล็กอ้อนแอ้น อ่อนแอ พระเอกต้องปกป้อง เค้าเลยคิดไปว่าคงเป็นเพราะสื่อพวกนี้ที่เด็กเห็นทุกวันๆ ซึ่งอันนี้ฟังดูมีเหตุผล ลองนึกถึงความคิดพิมพ์เดียวอย่างอื่นที่เรามี อันนี้ประสบการณ์ตรงตอนผมอยู่เมกา เดินๆ อยู่ดึกแล้วถ้ามีคนดำเดินผ่านก็จะรู้สึกขนลุกประหลาด เพราะว่าเรามีความคิดพิมพ์เดียวติดหัวมาว่า คนดำน่ากลัว อาจจะเป็นโจรมาปล้นเราก็ได้ ทั้งๆที่ผมแทบไม่ค่อยได้พบปะคนดำมากขนาดนั้นก่อนมาเมกา แล้วได้ความคิดนี้มาจากไหนล่ะ ก็จากหนังฝรั่งที่ดูๆกันมานั่นแหละ ผู้ร้ายมักจะเป็นคนดำน่ากลัวๆ เราก็หยิบความคิดนี้มา แต่ว่าถ้ามาดูตามสถิติแล้ว จริงๆ สถิติคนดำที่เป็นอาชญากรนั้นสูงกว่าคนขาวในบางพื้นที่ในบางเมืองของเมกา เพราะฉะนั้นที่จริงก็อาจจะดีก็ได้ที่เราสร้างความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ขึ้นมา

ฟังมาทั้งหมดนี้แล้วสรุปว่าไงกันล่ะ สรุปว่าความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้มันดีหรือไม่ดี ลองกลับคิดถึงหัวข้อที่เราพูดถึงเมื่อตอนที่แล้ว คือคนเราพยายามจะเข้าใจพฤติกรรมและความคิดของคนอื่น แต่ว่าปัญหาก็คือคนที่เราไม่รู้จักน่ะมีเยอะกว่าคนที่เรารู้จักมากๆ ความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นได้ในระดับนึง เพราะฉะนั้นมันคือความคิดทางลัดนั่นเอง ง่าย สะดวก รวดเร็ว ลองคิดถึงสถานการณ์ว่าเดินคนเดียวเปลี่ยวๆ แล้วเห็นคนดำเดินสวนมา ความคิดเราก็คงแบบ โอ้เฮ้ย มันจะปล้นตูเปล่าเนี่ย ต้องระวังหน่อยละวุ้ย ตรงนี้แหละที่การที่เราพยายามเข้าใจความคิดของคนอื่นอาจช่วยให้เราพ้นภัยได้ แต่ว่ามันยุติธรรมกับคนดำมั้ยที่ต้องถูกคิดในแง่นี้ตลอดเวลา คนเมกาเค้าพยายามต่อต้านความคิดพิมพ์เดียวติดหัวพวกนี้อย่างมากก็เพราะอย่างงี้นั่นเอง

ความคิดพิมพ์เดียวยังทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคมอีก อย่างเช่นคนมีความคิดติดหัวว่าผู้ชายจะต้องเก่งวิทย์และคณิตมากกว่าเด็กผู้หญิง ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ก็คือ

เด็กผู้หญิงได้ความคิดติดหัวนี้มา เสร็จแล้วเลยไม่สนใจวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ครูก็ไม่สนใจพยายามส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงหันมาเรียนเลขกับวิทย์กันเยอะ เด็กผู้หญิงก็เลยไม่เก่งเลขกับวิทย์ เด็กรุ่นต่อมาก็เลยได้เห็นตัวอย่างแล้วสืบความคิดว่าเด็กผู้หญิงไม่เก่งเลขกับวิทย์มาอีก แล้วก็วนต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ ผู้หญิงก็เลยไม่สนใจเลขกับวิทย์มากเท่าเด็กผู้ชาย แล้วก็รู้ๆกันอยู่ว่าเลขกับวิทย์นั้นทำให้ได้งานทำที่ดีกว่า จ่ายเยอะกว่า ผู้ชายก็เลยดูเหมือนจะมีความสามารถมากกว่าผู้หญิงทั้งๆที่อาจจะไม่จริงทั้งๆที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แน่ชัดว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิงจริง (เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากซึ่งผมจะให้เขียนหนึ่งตอนเต็มเกี่ยวกับเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป) อันนี้แหละที่ความคิดพิมพ์เดียวเริ่มสร้างปัญหาสังคม

ผมมีอีกประสบการณ์นึงเกี่ยวกับความคิดพิมพ์เดียวเนี่ยแหละ ตอนเรียนไฮสกูลที่นี่ ผมเรียนเลขได้ดีกว่าเพื่อนฝรั่งแถวนั้น เพื่อนมันก็แซวว่า อื้อ แน่ล่ะแกคนเป็นเอเชียนิ่ก็ต้องเก่งเลขมากกว่า อื่ม... เหมือนจะเป็นคำชม แต่ว่าผมอยากจะตวาดไปว่า เฮ่ยข้าเก่งเลขกว่าแก เพราะตัวข้าเองไม่เกี่ยวกับว่าข้าเป็นคนเอเชียหัวดำ ข้าเก่งกว่าแกเพราะข้าฉลาดกว่า ไม่ขี้เกียจตัวเป็นขนเหมือนแก ... ความคิดพิมพ์เดียวบางทีเหมือนจะเป็นคำชมได้ แต่ว่ามันก็น่ารำคาญเพราะเหตุนี้นั่นเอง

คนเมกันพยายามจะปราบความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ออกไป แต่กลายเป็นว่าคนกลับเอาไปคิดเงียบๆ เพราะว่าถ้าพูดออกไปแล้วจะถูกด่า กลายเป็นว่าเอาปัญหาไปเก็บไว้ใต้พรมอีก พวกนักจิตวิทยาเลยสร้างเกมขึ้นมาเพื่อศึกษาเจตคติโดยนัย(ความคิดพิมพ์เดียวที่ถูกปัดไปไว้ใต้พรม) เป็นเกมสั้นๆ ที่สามารถลองเล่นดูได้ ก่อนจบก็เอาไปลองเล่นดูละกัน เกมนี้เรียกว่าการทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัย เป็นภาษาไทยซะด้วยลองเล่นดูครับ แล้วจะอธิบายตอนหน้าว่ามีอะไรสนุกๆ เกิดขึ้นบ้างตอนที่ให้คนดำลองเล่นเกมนี้เพื่อดูเจตคติโดยนัยเกี่ยวกับคนดำกันเอง

ป.ล. โทษทีตอนนี้แอบยาวอีกแล้ว ตอนหน้าจะพยายามให้กะทัดรัด ตัดความกว่านี้ละกัน

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

อ้างเหตุ เจตนา

จิตวิทยาสังคมยังไม่จบแค่นี้ ยังมีอะไรที่น่าสนใจอยู่อีกเยอะทีเดียว ตอนที่ผ่านๆมาเราเห็นมาแล้วว่านักจิตวิทยาสังคมพยายามเข้าใจว่าทำไมคนถึงฆ่ากันได้ ทำไมคนถึงทำสิ่งเลวๆไปได้ ตอนนี้เราจะลองซูมออก แล้วถามคำถามที่ใหญ่กว่าว่าทำไมคนถึงทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมคนดำต้องเต้นแร็บ ทำไมเด็กจีนเก่งเลขกว่าเด็กฝรั่ง ทำไมผู้หญิงซื้อรองเท้าเยอะกว่าผู้ชาย พวกนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำความเข้าใจในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้ปรับตัวได้ดีขึ้น หรือเพื่อจะได้สบายใจ อะไรก็ว่าไปนั่น ถ้าคนเราไม่มีความสามารถในการทำความเข้าใจพฤติกรรมคนอื่นเลย ก็คงงงเต้ก อ้าวเฮ้ยเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนนั้นถึงเดินผ่านไปไม่ทักเรา อีกตัวอย่างนึงมาจากตอนที่แล้วที่เราทิ้งท้ายเรื่องศาลตัดสินจ่าชิป ระบบศาลคงเป็นไปไม่ได้เลยถ้าคนเราไม่มีความพยายามที่จะเข้าใจจุดประสงค์ของแต่ละพฤติกรรม ว่าคนทำอะไรไปทำไม เพื่ออะไร มีอะไรเป็นตัวจุดระเบิด นักจิตวิทยาก็เลยจับจุดนี้ขึ้นมาศึกษาซะเลย ทฤษฎีหลักในวงการนี้ก็คือ ทฤษฎีการอ้างเหตุ (attribution theory) ทฤษฎีนี้บอกว่าคนพยายามอ้างเหตุของพฤติกรรม หรือพยายามอธิบายเหตุผลของพฤติกรรมของคนอื่นในสองระดับ คือระดับลักษณะนิสัยสันดาน และระดับสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น สมมติเดินอยู่สวนลุม แล้วเห็นชายคนนึงกำลังตบแฟนสาวป้าบๆ ป้าบๆ ตะโกนโหวกเหวกด่าสารพัด คนจะคิดว่ายังไง จะพยายามทำความเข้าใจยังไงว่านายนั่นถึงตบตีแฟนได้อย่างนั้น อื่ม... สำหรับคนส่วนใหญ่พอเห็นปุ๊บมักจะคิดว่า อื้มไอ้หมอนั่นมันเลว หน้าตัวผู้ ตบตีผู้หญิงอย่างนั้น เผลอเห็นแล้วอาจจะชวนเพิ่มไปรุมตื้บ นั่นคือการพยายามอธิบายพฤติกรรมของคนอื่นในระดับนิสัยสันดาน ว่าง่ายๆ ป้ายความผิดไปที่ตัวคนๆ นั้น อื่ม.. แต่ว่ามองๆ ไปสักพักคนก็จะคิดได้ว่า อะโหเฮ้ย ทะเลาะกันขนาดนี้ อาจจะแปลว่าผู้หญิงอาจจะไปมีชู้ เผาบ้าน ปล่อยให้ลูกอดนม หรืออะไรอย่างนั้นก็ได้ นี่คือระดับสถานการณ์

ทฤษฎียังบอกอีกว่าระดับนิสัยเนี่ยเป็นความคิดแบบอัตโนมัติ เห็นปุีบคิดได้ปั๊บ ว่าง่ายๆ คือไม่ต้องคิดมาก แต่ว่าระดับบสถานการณ์เนี่ยเป็นความคิดแบบต้องการการควบคุม ว่าง่ายๆ คือต้องมานั่งคิดกันจริงๆ ถึงจะนึกได้ว่าพฤติกรรมคนอาจจะเกิดมาจากสถานการณ์รอบข้าง

อื่ม...ฟังดูดีนะ แต่ว่ารู้ได้ไงล่ะ ว่าคนคิดเป็นสองระดับแบบนี้จริงๆ มีการทดลองนึงซึ่งพยายามพิสูจน์ให้ดู การทดลองนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มการทดลองที่คล้ายๆกัน กลุ่มแรกคนที่เข้าร่วมการทดลองจะต้องฟังเรื่องเล่า และก็ให้พยายามตอบคำถาม เรื่องเล่าก็จะคล้ายๆกับ เรื่องนายหนุ่มตบตีแฟนสาวในสวนลุมนั่นแหละ ส่วนคำถามก็คล้ายๆ กับให้ลองอธิบายว่านายหนุ่มตบตีแฟนสาวทำไม ในกลุ่มที่สองคนที่เข้าร่วมการทดลองทำเหมือนกับกลุ่มแรกทุกอย่าง แต่ว่าในระหว่างที่ฟังเรื่องและตอบคำถามจะต้องดูจอและจำคำศัพท์ที่จะออกมาผุบๆโผล่ๆ ในจอ ผลปรากฎว่าคนที่ฟังเรื่องและตอบคำถามโดยไม่ต้องจำคำศัพท์นั้นจะอธิบายการตบตีด้วยอ้างถึงสถานการณ์รอบตัว มากกว่ากลุ่มที่ต้องจำคำศัพท์ไปด้วย สรุปว่าการอ้างเหตุของพฤติกรรมในระดับสถานกาณ์นั้นต้องใช้ความคิดมากกว่า ที่สรุปอย่างนี้ได้เพราะว่ากลุ่มที่ต้องจำคำศัพท์นั้นมีภาระการคิดมากกว่ากลุ่มที่ไม่ต้องจำศัพท์ เลยฟังเรื่องไม่ค่อยได้ความ แล้วก็ตอบคำถามแบบต้องคิดเรื่องอื่นไปด้วย การที่คนมองข้ามอิทธิพลของสถานการณ์ ตามทฤษฎีนี้เรียกว่าการอ้างเหตุผิดพลาดมูลฐาน (fundamental attribution error) อื่ม... พยายามแปลเต็มที่ อีกตัวอย่างคือศาลตอนตัดสินจ่าชิปอาจจะมองข้าม หรือดูถูกอิทธิพลของสถานการณ์กันไปนั่นเอง

อื่ม.. ดูเหมือนจะฟังดูดี แต่ว่า แต่ว่า.. แต่ว่า การอ้างเหตุในระดับนิสัยสันดานมันอัตโนมัติได้ยังไงล่ะ ความคิดอัติโนมัติพวกนี้มันมาจากไหนกันล่ะ มั่วรึเปล่า ความคิดก็ต้องมีที่มาสิ อื่ม... ลองคิดดูใหม่นะครับ ตอนเห็นผู้ชายตบตีผู้หญิงเรามักเห็นว่าผู้ชายเลว เป็นเพราะอะไร เรามีความคิดติดหัวว่าผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแรงกว่า ผู้ชายที่จะตบตีผู้หญิงเลยต้องเลวเพราะรังแกเพศที่อ่อนแอกว่า ผู้ชายพวกนี้ก็พิมพ์เดียวกันงี้เป๊ะเหมือนกันทุกคน... ความคิดติดหัวจำพวกนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า stereotype ขอแปลว่าความคิดพิมพ์เดียว แต่ว่านั่นก็ยังไม่ตอบคำถามเลยว่า ความคิดอัตโนมัติ ความพิมพ์เดียว มันมาติดอยู่ในหัวได้ยังไงกัน ฟังต่อตอนหน้าแล้วกัน

ป.ล. ถ้าอ่านจนถึงตรงนี้แล้วช่วยคอมเมนต์โดยการพิมพ์คำว่า "จิต" หรือ "จิตจี๊ด" ขอบคุณครับ