วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552

ทำสถิติ

อาซิ่มเพื่อนแม่ “ไปร่ำเรียนมถึงเมกานี่ เรียนสาขาไหนเนี่ย”
เต้ “เรียนจิตวิทยาครับ”
อาซิ่มเพื่อนแม่ “จะดีหรอ อย่างนี้ก็ต้องอยู่กับคนบ้าตลอดเลยสิ”
เต้ “...”
ผมเจอประจำครับ เจอถามแบบนี้ทีไรก็ตอบไม่ค่อยถูก ใจจริงอยากจะอธิบายให้อาซิ่มฟังว่า...

นักจิตวิทยาทุกคนไม่ได้เรียนมาด้านจิตวิทยาบำบัด ที่จริงแล้วนักจิตวิทยาส่วนใหญ่คือนักจิตวิทยาทดลองอย่างที่เห็นตัวอย่างจากตอนที่แล้ว จับคนมาทำอะไรสักอย่างนึงแล้วอยากรู้ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้คนทำสิ่งนั้นลงไป จิตวิทยาเป็นสาขาที่เอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาศึกษาประเด็นต่างๆ ทางสังคมศาสตร์ หรือทางปรัชญา
วิธีการทางวิทยาศาสตร์คืออะไร คงไม่ต้องอธิบายมากมาย ในการทดลองนึงจะอย่างน้อยสองกลุ่มการทดลองสองกลุ่มนี้มีสิ่งที่ต่างกันอยู่นึงอย่างเรียกว่าตัวแปรอิสระ นอกนั้นทุกอย่างเหมือนกันหมด เสร็จแล้วเราก็เปรียบเทียบผลจากทั้งสองกลุ่ม ถ้าได้ผลต่างกันเราสรุปว่าสิ่งที่ต่างกันนั้นเป็นผลมาจากตัวแปรอิสระ แค่นี่แหละ การทดลองทางจิตวิทยาทุกการทดลองมีหลักแค่นี้ (ยกเว้นการทดลลองคุกแสตนฟอร์ดของซิมบาร์โด อันนั้นไม่ใช่วิทยาศาสตร์)

แต่ปัญหาก็คือ เรารู้ได้ยังไงล่ะผลจากทั้งสองกลุ่มนั้นต่างกันจริงๆ ลองนึกดูเล่นๆ ว่าเราทำการทดลองกับตัวเองโดยต้องการอยากรู้ว่าจากบ้านไปมหาลัยระหว่างขับรถไป หรือนั่งรถเมล์ไปต่อรถไฟฟ้าแล้วเดินอันไหนเร็วกว่ากัน
วันแรก ขับรถไป ใช้เวลา 60 นาที
วันที่สอง ไม่ขับรถไป ใช้เวลา 53 นาที
โอเคเย่ สรุปเลยว่าไม่ขับรถไปจะดีกว่า อื่มแตลองนึกอีกที วันแรกที่ขับไปรถติดมากเพราะว่าติดขบวนเสด็จ เพราะฉะนั้นยังสรุปไม่ได้ ครูสอนที่โรงเรียนว่าเวลาทำการทดลองให้ทำหลายๆครั้งแล้ว เลยตัดสินใจว่าเดือนหน้าก่อนออกจากบ้านจะดีดเหรียญ ถ้าออกหัวจะขับรถไป ถ้าออกก้อยจะไม่ขับไป แล้วก็จดไว้ทุกครั้งว่าใช้เวลาเท่าไรตอนถึงคณะ
วันที่ขับรถไป : 60 33 46 48 38 66 55 57 54 57 เฉลี่ย 51.4
วันที่นั่งรถเมล์ไปต่อรถไฟฟ้าแล้วเดิน : 53 60 57 64 61 37 60 60 47 51 เฉลี่ย 55.0
เย่สรุปแล้วเราค้นพบแล้วว่าขับรถไปเร็วกว่าสี่นาทีโดยเฉลี่ย แต่ว่าถ้าเอาข้อมูลนี้ไปให้นักจิตวิทยาดู นักจิตวิทยานายนั้นจะตอบว่าเรายังสรุปไม่ได้ แล้วเมื่อไรจะสรุปได้ล่ะอุตส่าห์นั่งจดเวลามาเป็นเดือน

เวลาวิเคราะห์ผลการทดลองนักจิตวิทยา(และนักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆ) จะใช้เวทย์มนต์ยุทโธปกรณ์ที่เรียกว่าการตรวจสอบสมมติฐาน การตรวจสอบสมมติฐานทุกชนิดใช้ประโยชน์จากการกระจายของความน่าจะเป็น อันนี้เข้าใจไม่ยาก การกระจายของความน่าจะเป็นเป็นสิ่งที่บอกเราว่าเรามีโอกาสได้เห็นสิ่งที่เราสนใจด้วยความน่าจะเป็นเท่าไร ดูตัวอย่างการกระจายของความน่าจะเป็นของลูกเต๋า ทอยลูกเต๋าไปหนึ่งครั้งมีโอกาสได้หนึ่งแต้มเท่าไร ลูกเต๋ามีหกด้าน เพราะฉะนั้นความน่าจะเป็นที่จะได้หนึ่งแต้มคือ หนึ่งในหก ถ้าถามใหม่ว่าทอยลูกเต๋าไปหนึ่งครั้งมีโอกาสได้มากกว่าสี่แต้มเท่าไร คำตอบคือ สองในหก (ได้ห้าแต้ม หรือได้หกแต้ม) อื่มแล้วทำไมถึงเรียกว่าการกระจายของความน่าจะเป็นล่ะ ลองดูภาพข้างล่างดู จะเห็นความน่าจะเป็นมันกระจายไปยังแต่ละด้านของลูกเต๋า โอเคเข้าใจแล้วว่าการกระจายของความน่าจะเป็นแปลว่าอะไร


กลับมาที่การตรวจสอบสมมติฐาน ก่อนอื่นเลยเราต้องหาสมมติฐานขึ้นมาสองอัน สมมติฐานแรกคือทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่าง ขับรถไป หรือไม่ขับรถไปใช้เวลาพอกัน ตำราฝรั่งเรียกว่า null hypothesis ตามตำราไทยเรียกว่าสมมติฐานหลัก แต่ผมเรียกว่าสมมติฐานโมฆะเดี๋ยวจะบอกทีหลังว่าทำไม สมมติฐานที่สองคือทั้งสองกลุ่มต่างกัน ขับรถไปใช้เวลาไม่เท่ากับไม่ขับรถไป ตำราฝรั่งเรียกว่า alternative hypothesis ตามตำราไทยเรียกว่าสมมติฐานรอง แต่ผมเรียกว่าสมมติฐานทางเลือกใหม่ พอได้สมมติฐานทั้งสองอันนี้แล้ว เราจะหาค่าที่เรียกว่าค่าสถิติของข้อมูล ค่าสถิตินี้ได้มาจากการเอาข้อมูลมาบวกลบคูณหารกัน แต่ว่าไม่ได้ทำมั่วๆ ค่าสถิตินี้เรารู้คร่าวๆว่าการกระจายของความน่าจะเป็นของมันเป๊นยังไงเวลาที่สมมติฐานโมฆะนั้นเป็นจริงแล้วเราดูว่ามีโอกาสเท่าไรที่จะได้เห็นค่าสถิติที่เราได้มาเวลาที่สมมติฐานโมฆะเป็นจริง อ่าสมมติเราได้ค่่าสถิติของข้อมูลการเดินทางจากบ้านไปมหาลัยเรียบร้อยแล้ว เราก็จะมาดูจากการกระจายของความน่าจะเป็น(เวลาทำจริงๆ คนเปิดหนังสือดู หรือไม่ก็ใช้คอมพิวเตอร์)เพื่อจะได้รู้ว่ามีโอกาสเท่าไรที่จะได้เห็นข้อมูลที่เราจดไว้ถ้าสมติฐานโมฆะเป็นจริง ถ้าปรากฎว่าความน่าจะเป็นที่ได้เห็นค่าสถิตินั้นต่ำมาก แสดงว่าสมมติฐานโมฆะนั้นไม่ถูกต้อง และเราจะสรุปได้ว่าสมมติฐานทางเลือกใหม่นั้นถูกต้อง ผมชอบเรียกว่าสมมติฐานทางเลือกใหม่เพราะว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่คนอื่นไม่เคยรู้มาก่อน เพราะฉะนั้นเราค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ขึ้นมาเอาไปบอกเพื่อนในคณะได้ว่าขับรถไปมหาลัยเร็วกว่านั่งรถไฟฟ้า แต่ว่าถ้าความน่าจะเป็นที่ได้เห็นค่าสถิตินั้นไม่ต่ำเท่าไร แสดงว่ามีความน่าจะเป็นสูงว่าสมมติฐานโมฆะนั้นเป็นจริงแต่ว่าเรายังไม่ค่อยมั่นใจ ผลการทดลองนี้เลยเป็นโมฆะไปยังสรุปอะไรไม่ได้ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าขับรถไป หรือไม่ขับรถไปเร็วกว่ากัน ต้องลองหาข้อมูลมาเพิ่ม

วิธีการทดลองของนักจิตวิทยาก็มีแค่นี้เองครับ แต่ว่าแต่ละการทดลองจะมีเทคนิคต่างๆกันไป นิดๆหน่อยๆ ไปตามสไตล์

น่าเสียดายว่าผมไม่มีโอกาสนั่งจิบน้ำชากับอาซิ่มเพื่อนแม่ แล้วอธิบายตามที่ผมอธิบายในนี้ให้อาซิ่มฟัง แต่ว่าครั้งต่อไปเจออาซิ่มจะบอกให้มาอ่านที่ jitjeet.blogspot.com เพราะฉะนั้นคนที่อ่านอยู่อย่าลืมให้บอกให้เพื่อนมาอ่านด้วย (เอ๊ะ โฆษณาซะงั้น)

แต่ว่าอาซิ่มเค้าก็ถูกของอีอยู่นาเนี่ย นักจิตวิทยาก็ศึกษาคนบ้าแล้วก็พวกโรคทางจิตด้วย เพราะฉะนั้นตอนต่อไปคือจิตวิทยาบุคลิกภาพ และโรคทางจิตครับผม

2 ความคิดเห็น:

  1. ชอบชื่อสมมติฐานของแก ^^

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ2 เมษายน 2555 เวลา 17:12

    สนุกดีค่ะ ไม่คิดว่าจะอ่านทีเดียว หลาย Blog 555 แบบว่าหยุดไม่ได้

    ตอบลบ