วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2552

เมืองคนบาป? ตอนสอง

ตอนที่แล้วนักจิตวิทยาสังคมทิ้งไว้ว่า ในสถานการณ์ที่เราไม่มั่นใจว่าเป็นเหตุจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลือรึเปล่า บางครั้งเราจะพยายามเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นโดยการดูจากคนรอบๆตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดการโง่เป็นกลุ่ม เขลาเป็นกลุ่ม ทั้งๆที่ถ้าอยู่คนเดียวไม่มีคนอื่นอยู่รอบตัวจะมีโอกาสหยิบยื่นความช่วยเหลือให้มากกว่า คราวนี้มาลองดูสถานการณ์ที่เราเห็นกันจะๆ ว่าคนต้องการความช่วยเหลือจริงๆ แล้วดูว่าคนจะตอบสนองยังไงบ้าง

มีการทดลองมาอีก การทดลองนี้เราแกล้งบอกว่าอยากให้คนจับกลุ่มคุยกันเรื่องปัญหาที่่แต่ละคนมีหลังจากเข้ามาอยู่ในเมือง โดยจะให้ไล่พูดทีละคนว่าแต่ละคนมีปัญหาอะไรบ้าง แต่ว่าเวลาคุยกันต้องคุยผ่านเสียงตามสายเพราะว่าคนอื่นอาจจะเขินไม่กล้าพูดถึงปัญหาของตัวเองถ้าเกิดต้องประจันหน้ากับคนอื่น แต่ว่า ฮ่าๆ แน่นอน ในกลุ่มนี้มีคนจริงอยู่แค่คนเดียวก็คือคนที่เข้าร่วมการทดลองนั่นเอง คนอื่นเป็นแค่เสียงอัดเทป แต่ละเทปพูดถึงปัญหาสัพเพเหระทั่วไป แต่ว่ามีเทปนึงที่แปลกว่าเทปอื่น เทปนี้พูดว่า พอผมย้ายเข้ามาในเมืองก็อาการของโรคลมบ้าหมูก็โผล่ขึ้นมา บางทีชักกระตุกเกือบตาย คนพาเข้าโรงพยาบาลแทบไม่ทัน คราวนี้ถึงตาคนเข้าร่วมการทดลองพูดถึงปัญหาของตัวเองบ้าง เหะเหะระหว่างนั้นเราก็เปิดเทปพิเศษอันนึงขึ้นมา เทปนั้นพูดประมาณว่า เอ่อ เอ่อ ช่ชชชชชชวย ด้้ดดดดวย ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ไหวแล้ว จะตายเอา คคคคใครก็ได้ ชชช่วยที แหวะ แหวะ อักๆๆๆ เทปนี้ยาวประมาณสองนาทีโดยเห็นชัดๆว่าอาการจะเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ เราต้องการดูว่าคนเข้าร่วมการทดลองจะออกมาขอความช่วยเหลือตอนไหน ผลปรากฎว่าถ้าคนเข้าร่วมการทดลองคิดว่าตัวเองอยู่กับคนที่ชักโดยไม่มึคนอื่นอยู่ (ฟังเทปแค่ของคนที่ชักเทปเดียว) 85% จะขอความช่วยเหลือก่อนเทปพิเศษจะจบ ถ้าคิดว่าตัวอยู่กับคนที่ชักกับคนอีกคนนึง ลดลงเหลือ 60% ถ้าคิดว่าอยู่กับคนอื่นสี่คน ลดลงไปเหลือ 31%



จากผลการทดลองนี้สรุปได้ว่าถ้ามีคนอื่นอยู่ คนแต่ละคนจะมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจช่วยเหลือน้อยลง นักจิตวิทยากลุ่มนี้เลยตั้งทฤษฎีขึ้นมาว่าความรับผิดชอบนั้นถูกกระจายออกไปตามจำนวนของคนที่เห็นเหตุการณ์ เช่น ในการทดลองนี้ถ้ารู้ว่ามีคนอื่นอยู่ก็จะรู้สึกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะช่วยคนชักนี้ กระจายๆ ออกไป ยิ่งคนเห็นเหตุการณ์มากเท่าไร ทำให้รู้สึกผิดน้อยลงไปเท่านั้น เพราะว่าเกิดการกระจายความรับผิดชอบ ถ้าเราเป็นคนเดียวที่เห็นเหตุการณ์ ความรับผิดชอบกระจายไปไหนไม่ได้ ถ้าคนชักมันตาย คนที่ต้องรู้สึกผิดคือเราคนเดียว ลองนึกถึงตอนที่แอนดรูถูกแทงล้มกองอยู่ที่พื้น คนที่อยู่ในรถไฟด้วยกันอาจจะเห็นแล้วว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือ แต่เผอิญรู้ว่ามีคนอีกเก้าคนที่เห็นเหมือนกัน อ้าวเฮ้ยแล้วทำไมต้องเป็นเราล่ะว่ะเนี่ย ที่ต้องเดือดร้อนเดินออกไปเรียกตำรวจให้สอบสง สอบสวน ถ้าเกิดเด็กมันตายจริงๆ ก็ไม่ใช่ความผิดเราคนเดียว แล้วคิดว่าคงเป็นความผิดของไอ้เก้าคนที่เหลือด้วย กลับบ้านไปได้ข่าวว่าเด็กตาย ก็คงไม่รู้สึกผิดมากเท่าไร

สรุปได้ว่าแค่เห็นว่ามีคนอื่นอยู่รอบตัวทำให้คนช่วยเหลือกันน้อยลง เพราะฉะนั้นการที่เรื่องน่าเศร้าอย่างเรื่องของแอนดรูนั้นมักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ก็คงไม่ได้น่าแปลกใจนัก ไม่ใช่เพราะเมืองทำให้คนเย็นชาต่อกันหรือว่าอะไรเลย คนชนบทรู้จักกันหมดสนิทสนมกันก็จริง แต่ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กันนี้ ผลออกมาก็คงจะไม่ต่างกันนัก

มาถึงตอนนี้เราก็เข้าใจแล้วว่าทำไมคนถึงทำเลวต่อกันในบางสถานการณ์ ทำไมคนถึงไม่ช่วยเหลือกันในบางสถานการณ์ จุดนี้ทำให้เราเห็นประเด็นใหญของจิตวิทยาสังคม นั่นก็คือสถานการณ์นั่นเอง ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนนู้นแล้วว่า เป้าหมายของจิตวิทยาสังคมคือศึกษาว่าพฤติกรรมมนุษย์สัมพันธ์กับสังคมยังไงเพื่อว่าสามารถเอาความรู้ความเข้าใจมาแก้ไขปัญหาในสังคม ถ้าอ่านกันมาถึงตอนนี้แล้ว ผมไม่ขอดูถูกคนอ่านโดยการบอกว่าเราเรียนรู้อะไรบ้างจากการทดลองคลาสสิกบุกเบิกของจิตวิทยาสังคม

เศร้านักตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของจิตวิทยาสังคมแล้ว ที่จริงมีอะไรน่าสนใจน่าตื่นเต้นอีก เราจะย้อนกลับมาพูดถึงจิตวิทยาสังคมทีหลัง ตอนต่อไปจะขอหยุดนิดนึงแล้วขอพูดรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ว่านักจิตวิทยาทำการทดลองกันยังไงคนถึงจะยอมรับผลสรุป เมื่อไรถึงจะสรุปอะไรออกมาได้ นักจิตวิทยามีอะไรที่ต่างจากนักวิชาการสาขาอื่น จะลองพยายามทำให้น่าตื่นเต้นดู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น