วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ห้าเจ้าพ่อ

ความพยายามที่จะค้นหา แกะ ชำแหละบุคลิกภาพมนุษย์ยังคงดำเนินต่อไป ตั้งแต่ทฤษฎีของฟรอยด์ ไปถึงแต้มหมึกรอชแชช ดูเหมือนนักจิตไม่ค่อยพอใจกับงานศึกษาด้านบุคลิกภาพซะเลย เลยมีนักจิตอีกคนยังไม่ยอมถอยครับ ชื่อว่านายกอร์ดอน ออลพอร์ท (Gordon Allport) นายกอร์ดอนคิดได้ว่าไม่ว่าจะใช้ทฤษฎีไหนก็ตามในโลกที่พยายามจะอธิบายลักษณะนิสัยบุคลิกภาพคนก็ต้องใช้คำศัพท์ขึ้นมาอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นเห็นแก่ตัว บ้า มองโลกในแง่ร้าย ติงต๊อง ต้องใช้คำทั้งนั้น ว่าง่ายๆคือ ภาษากับบุคลิกภาพเป็นของที่คู่กันกับมนุษย์ เพราะฉะนั้นภาษาจะต้องเป็นสิ่งที่แปลรหัสบุคลิกภาพของมนุษย์ ข้อสังเกตอันนี้ชื่อว่า สมมติฐานพจนานุกรม (Lexical hypothesis) นายกอร์ดอนเลยคิดว่าการวัดผลทางบุคลิกภาพนั้นก็เป็นแค่การหาคำที่เหมาะสมมาใช้อธิบายบุคลิกภาพแค่นั้นเอง คำศัพท์ทุกคำของมนุษย์นั้นอยู่ในพจนานุกรม ถึงแม้มันจะมีเยอะเหลือเกิน แต่ว่าถ้าเราศึกษามันทุกคำ เราจะต้องเข้าใจบุคลิกภาพมนุษย์ได้แน่ๆ เลย เอแต่ว่าถ้ามานั่งทำเองคนเดียวคงไม่ไหว ทำยังไงดีนะ

วันรุ่งขึ้น นายกอร์ดอนเดินไปซื้อพจนานุกรมมา แล้วเอามาแจกให้นักเรียนปริญญาเอกในอาณัติ นักเรียนปริญญาเอกพวกนั้นก็งงกันใหญ่อะไรวะเนี่ย คิดว่าพวกเราอ่านหนังสือไม่ออกหรือยังไงกันเลยเอาพจนานุกรมมาให้ เพี้ยนรึเปล่าเนี่ย แต่ว่าหารู้ไม่ชะตากรรมของนักเรียนปริญญาเอกน่าสงสารเหล่านั้นดูไม่ค่อยดีเอาเสียเลย วันนั้นนายกอร์ดอนบอกว่าให้นักเรียนปริญญาเอกไล่คำศัพท์จากเอถึงแซด แล้วไว้ลอกคำศัพท์ที่สามารถอธิบายบุคลิกภาพในภาษาอังกฤษทุกคำแล้วเอาส่ง ไม่งั้นจะไม่ให้จบเอก

วันแล้ววันเล่าปีแล้วปีเล่า นักเรียนเหล่านั้นไล่คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เก้าแสนกว่าคำ เพื่อหาคำบรรยายบุคลิกภาพ นับออกมาแล้วได้ หนึ่งหมื่นเจ็ดพันคำด้วยกัน หลังจากผมได้ฟังเรื่องนี้แล้ว ก็รู้สึกเสียวสันหลังเหมือนกันตอนสมัครปริญญาเอก เพราะไม่รู้ว่าอาจารย์จะให้ทำอะไรบ้าง...

นายกอร์ดอนก็รู้สึกปลาบปลื้มดีใจมากว่าได้คำทุกคำที่น่าจะสามารถแกะรหัสบุคลิกภาพมนุษย์ได้ แต่... เฮ้ย หมื่นเจ็ดพันก็เยอะอยู่นะเนี่ยจะทำยังไงดีล่ะเนี่ย... นายกอร์ดอนก็ทำอะไรไม่ค่อยถูกเหมือนกันก็ได้แต่หยิบเอาคำโน้นคำนี้มาจับเป็นกลุ่มๆ แล้วก็ตีความไปว่ากลุ่มคำศัพท์พวกนั้นสามารถใช้วัดบุคลิกภาพคนได้ แยกแยะคนตามกลุ่มบุคลิกภาพไปได้ แต่ว่าไม่ค่อยมีใครยอมรับเท่าไร เพราะว่าเล่นหยิบคำศัพท์มาตามใจชอบ

จากนั้นมาคำศัพท์หมื่นเจ็ดพันคำพวกนั้นก็แพร่ระบาดที่นักจิตมีเยอะเชียว นักจิตก็พวกนี้ก็ใช้วิธีเดิมๆ หยิบคำมั่วๆ มาจับกลุ่ม ทำอะไรคล้ายๆกันนี้สักประมาณสามสิบ สี่สิบปีได้ จนกระทั่งมาถึงยุคนึงที่การศึกษาบุคลิกภาพมนุษย์เริ่มไฮเทคขึ้น เริ่มเป็นระบบมากขึ้น และสามารถทำอะไรถึกๆได้มากขึ้นโดยไม่ต้องให้นักเรียนปริญญาเอกมานั่งเปิดดิกไล่หาคำศัพท์ มีนักจิตรายนึงคิดวิธีทางสถิติที่จับเอาภาษาของคนจริงในหนังสือพิมพ์ หนังสือนิยาย นิตยสารมารวมกันกับคำศัพท์หมื่นเจ็ดพันคำ รวมกับข้อมูลจากแบบสอบถามเก่าๆ ที่นักจิตคนก่อนๆเก็บไว้คร่ำครึ จับทั้งหมดนี้ยัดใส่คอมพิวเตอร์คำนวณออกมาปรากฎว่ามีคำศัพท์อยู่ ห้ากลุ่มใหญ่ด้วยกันที่อำนาจในการแยกแยะบุคลิกภาพมนุษย์ได้ เรียกว่า Big Five หรือ ห้าเจ้าพ่อ เจ้าทั้งห้านั้นก็คือ

Openness ความเปิดใจ เปิดอก
Conscientiousness การรู้สติ รู้สำนึก
Extraversion การเข้าสมาคม เข้าสังคม
Agreeableness ความน่ารัก น่าคบ
Neuroticism การหวาดวิตก หวาดระแวง

นี่นับว่าเป็นหนึ่งในผลงานยิ่งใหญ่ของวงการจิตวิทยาก็ว่าได้ครับ นักจิตกลุ่มนี้เอาคำที่อยู่ในห้าเจ้าพ่อมาทำเป็นแบบสอบถามจิตวิทยา โดยทฤษฎีของแบบสอบถามนี้ต่างจากแบบทดสอบแต้มหมึกกับวิธีของฟรอยด์ตรงที่ว่าทฤษฎีนี้คิดว่าบุคลิกภาพเป็นสิ่งที่คนสามารถเข้าถึงได้โดยที่ยังรู้สึกตัวอยู่ ไม่ต้องล้วงเข้าไปในจิตไร้สำนึกที่เรายังไม่ค่อยแน่ใจด้วยซ้ำว่ามีจริงรึเปล่า แบบสอบถามนี้ก็ตรงไปตรงมาครับ ก็ถามกันตรงๆว่า คุณคิดว่าคำแต่ละคำตรงกับบุคลิกภาพของคุณมากแค่ไหนหรืออะไรประมาณนั้น จากนั้นก็เอาใส่คะแนนว่า บุคลิกภาพของคนนั้นตรงกับแต่ละเจ้าพ่อ ในห้าเจ้าพ่อได้มากน้อยแค่ไหน

ห้าเจ้าพ่อก็ยังไม่วายโดนจับตามองครับ ตอนหน้ามาดูต่อกันว่าทำไมห้าเจ้าพ่อถึงกลายทฤษฎีใหญ่ยักสมชื่อจนถึงทุกวันนี้ แต่ละเจ้าพ่อมันแปลว่าอะไร ใช้ได้จริงรึเปล่า ตอนหน้าครับ

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แต้มหมึก

ย้อนไปเมื่อ หกปีที่แล้ว ผมเพิ่งเรียนจบม.หก แม่ผมตระเตรียมเอกสารอยู่ปึกนึง จับผมขึ้นรถแล้วบึ่งไปโรงพยาบาลบ้า พอถึงแล้วผมถูกขังอยู่ในห้องกับนักจิตวิทยาคนนึง นักจิตคนนั้นก็ให้ผมดูภาพๆ นี้ แล้วถามว่าเห็นอะไรบ้าง



อื่ม... ซุปเปอร์ไซย่า ต้นไม้ ต้นหญ้า ปูนึ่ง หมี ปอด แล้วให้ภาพอื่นมาแล้วก็ถามคำถามเดียวกันภาพอื่นๆ ที่ดูแล้วไม่ค่อยจะเห็นอะไรมีความหมายเท่าไร เสร็จแล้วผมเดินออกจากห้องตรวจ แล้วนักจิตนั้นก็บอกว่าผมผ่านการทดสอบทางจิตวิทยา ให้เอาเอกสารไปยื่นให้กอพอ เตรียมตัวรับทุนไปเรียนได้ สองปีต่อมาแต้มหมึกมั่วๆ ที่ผมเห็นเมื่อตอนนั้นก็มาปรากฎบนสไลด์ในวิชาจิตวิทยาเบื้องต้นตอนปีหนึ่ง ภาพแต้มหมึกที่ว่านั้นเรียกว่า แบบทดสอบแต้มหมึกรอชแชชตามชื่อเจ้าของแบบทดสอบ

แต้มหมึกรอชแชชคือผลจากความพยายามและหยาดเหงื่อแรงงานของนักจิตวิทยาบุคลิกภาพที่พยายามจะเรียนรู้บุคลิกภาพของคน รวมถึงโรคจิตที่เกิดจากบุคลิกภาพที่คนไม่ปรารถนา แต่นายซิกมันด์ ฟรอยด์ไม่ได้มาเกี่ยวอะไรครับ เลยไม่มีอวัยวะเพศของใครมาเกี่ยวข้อง แต่ว่าหลักมันเหมือนกันตรงที่ว่าต้องการให้คนปล่อยบุคลิกภาพของมาโดยทางอ้อม ทฤษฎีของนายฟรอยด์ให้คนปล่อยบุคลิกภาพบอกมาโดยให้พูดถึงความปรารถนาที่ไม่สมหวังในวัยเด็ก หรือก็ตามที่ถูกเก็บกดไว้

แต่ว่าหลักของแบบทดสอบแต้มหมึกคือให้คนมองภาพที่ไม่มีโครงสร้างชัดเจน รายละเอียดครุมเครือ แล้วให้คนปล่อยบุคลิกภาพออกมาการตีความภาพนั่นเอง นักจิตวิทยาก็จะจดคำตอบไว้ แล้วก็เอาไปวิเคราะห์ นายรอชแชชก็ทำแต้มหมึกที่คล้ายๆกันนี้มาเยอะแยะเลย แล้วก็เก็บข้อมูลจากคนปกติ และคนไข้ แล้วเลือกออกมาสิบภาพที่เค้าคิดว่าสามารถเอามาใช้วินิจฉัยบุคลิกภาพคนได้

ตอนนี้คนสงสัยกันว่าเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ยังไง วิธีวิเคราะห์นั้นซับซ้อนมากต้องให้คนมาฝึกฝนเป็นปีถึงจะใช้แบบทดสอบนี้ได้ถูกต้อง สรุปก็คือผมก็ไม่ค่อยรู้เหมือนกัน แต่ว่าหลักๆก็คือ แต่ละภาพจะมีสื่งที่นำมาใช้พิจารณาต่างๆกันไป บางทีก็ให้นับว่าคนที่ตอบคำถามให้คำตอบมากี่ข้อ อะไรอย่างงี้เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่คือให้นักจิตวิทยาตีความคำตอบ

นักจิตวิทยาใช้แบบทดสอบนี้กันมาเกือบร้อยปีแล้วครับ ถือว่าน่านับถือทีเดียว แต่ว่ามีนักจิตวิทยาหลายกลุ่มที่คิดว่าแบบทดสอบนี้เป็นวิทยาศาสตร์จอมปลอม เกณฑ์ที่คนใช้ตัดสินความเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ ถ้าทำการทดสอบซ้ำๆแล้ว จะต้องได้ผลการทดสอบเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ปรากฎว่าบางทีผลการทดสอบจากนักจิตวิทยาคนละคนกันบางทีให้ผลออกมาไม่เหมือนกัน เพราะว่าผลการทดสอบเกิดจากการให้นักจิตวิทยามานั่งแปลความ ผลมันก็เลยออกมาแกว่งไปแกว่งมา ไม่ค่อยคงเส้นคงวาเท่าไร ประเด็นนี้พวกนักจิตวิทยาก็ยังตบตี ถกเถียงกันต่อไป
อ่าแต่ก็เป็นไปได้ว่านักจิตวิทยาคุณภาพมันไม่เท่ากันทุกคนนิ่ คนที่มันไม่ค่อยเก่งอาจจะตีความได้ไม่โดนเท่านักจิตวิทยาตัวจริงก็เป็นได้ แต่ว่ามีอีกสาเหตุที่นักจิตบางกลุ่มคิดว่าไอ้แต้มหมึกนี่เป็นวิทยาศาสตร์เทียม ชัดๆว่าถ้าแบบทดสอบนี้ดีจริง ผลวินิจฉัยจะต้องถูกต้อง คิดง่ายๆ ก็คือถ้านำคนไข้โรคจิตมาทำการทดสอบนี้ ผลการทดสอบต้องบอกว่าคนๆนี้เป็นคนไข้จริงๆ ปรากฎว่าผลการทดสอบมันเชื่อถือไม่ค่อยได้เท่าไร เพราะว่าบางทีผลออกมาไม่ถูกต้อง แต่ว่าประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ตบตีถกเถียงกันต่อไป

ที่น่าเป็นห่วงก็คือว่าแบบทดสอบนี้ไม่เหมือนกับดูดวงในสนุกดอทคอม หรือควิซในเฟสบุ๊ค ผลจากแบบทดสอบแต้มหมึกนี้ถูกเอามาใช้ในชั้นศาล ถ้าตอนนั้นนักจิตคนนั้นบอกว่าผมมีอาการทางจิต เท่านั้นแหละผมอาจจะหมดสิทธิรับทุนรัฐบาลเลยก็ได้ อ่าแต่นั่นอาจจะไม่สำคัญเท่าไร ผมอดมาทุนประเทศชาติก็คงไม่ได้เจริญน้อยลงหรือแย่ลง แต่ว่าถ้านักจิตใช้แบบทดสอบนี้วินิจฉัยผุ้ต้องหา แล้ววินิจฉัยผิด บอกว่าผู้ต้องหามีอาการจิต คราวนี้ถือว่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวลไป ซือกงเห็นแล้วกลุ้มใจ

ยังไม่พอครับ ตำราวิธีการวิเคราะห์ผลการทดสอบนั้นสามารถหาซื้อตามแผงหนังสือแถวบ้านทั่วไป ถ้าเกิดคนธรรมดาไปซื้อมาอ่าน แล้วตอบแบบทดสอบเพื่อแกล้งเป็นคนมีอาการทางจิตก็เป็นไปได้เหมือนกัน

สรุปก็คือนักจิตบางกลุ่มเห็นว่าแบบทดสอบนี้ยังมีรอยรั่วอยู่เยอะเลยไม่คิดเอามาใช้ แต่ว่านักจิตบางกลุ่มยังใช้อยู่เป็นชีวิตจิตใจ อันนี้ก็ยังต้องถกเถียงกันต่อไปครับ ผมจะพูดถึงแบบทดสอบแต้มหมึกอีกที ตอนที่เราพูดถึงจิตวิทยาคลินิก ตอนต่อไปมาดูกันต่อครับว่านักจิตจะงัดไม้ตายไหนมาตรวจสอบบุคลิกภาพคนอีก

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การผจญภัยของน้องแน็ต (จู๋ จิ๋ม และซิกี ตอนสอง)

สมมติเพื่อนข้างบ้านคลอดลูกพอดี ชื่อว่าน้องแน็ต น้องแน็ตเกิดมาในครอบครัวบ้านๆ ที่อาศัยอยู่น่าปากซอยบ้านคุณ น้องออกมากลิ้งเล่นบนเปล และเกิดสงสัยว่าเอ... กว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่จะต้องเผชิญอะไรบ้างนะ... โชคร้ายว่าน้องแน็ตเป็นคน การที่โตจากคนตัวเล็กๆ เป็นคนตัวใหญ่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มาดูกันดีกว่าน้องแน็ตจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างกว่าโตขึ้นมาได้

แน่นอนตามหลักของลุงซิกี ฟรอยด์ น้องแน็ตต้องเผชิญกับจู๋และจิ๋ม เริ่มกันเลย

ลุงซิกีตั้งทฤษฎีการพัฒนาทางเพศและจิต โดยอาศัยหลักที่ว่าการพัฒนาทางเพศและจิตนั้นเป็นของคู่กัน และการพัฒนาการนี้มีอยู่ห้าระดับด้วยกัน ว่าง่ายๆ คือ แต่ละระดับและช่วงวัยน้องแน็ตจะมีเริ่มหมกมุ่นในวัตถุของความสุขที่ต่างๆกันไป ถ้าไม่ได้รับความสุขในระดับนั้นๆ การพัฒนาการของน้องแน็ตจะถูกตรึงเอาไว้้ในระดับนั้น (fixation) ความขัดแย้งขัดเคืองในใจก็จะซุกอยู่ในจิตไร้สำนึกและจะโผล่ออกมาในรูปของนิสัยที่พิลึกๆ มาดูกันเลย เพราะฉะนั้นน้องแน็ตจะโตขึ้นมาเป็นยังไงก็อยู่กับการพัฒนาในช่วงระดับต่างๆ นั้นเอง

ระดับแรกคือระดับปาก (oral phase) น้องแน็ตชอบเอาของเข้าปาก กัดเล็บ ดูดขวดนม หรือ ดูดนมจากเต้าของแม่เมามันส์มาก ในช่วงระดับนี้น้องแน็ตต้องการที่จะเรียนรู้ว่าเราไม่สามารถได้สิ่งที่อยากได้เสมอไป ถ้าสังคมตามใจน้องแน็ตมากๆ ในช่วงนี้มากๆ เช่น ร้องเมื่อไรก็ให้ขนม น้องแน็ตจะถูกตรึงในระดับปาก (oral fixation) โตขึ้นมาก็จะมีนิสัยเอาแต่ใจ ถ้าสังคมไม่ยอมตามใจเด็กในระดับที่เหมาะสม เช่น นมก็ไม่ให้กิน ไม่ยอมให้ของเล่นมากับขบเล่น น้องแน็ตก็จะถูกตรึงในระดับปากเช่นกัน พอโตขึ้นมาจะมีนิสัยชอบเคี้ยวหมากฝรั่ง สูบบุหรี่ หรือกินจุ

พอน้องแน็ตโตมาได้ขวบกว่า น้องแน็ตต้องเผชิญด่านต่อไป ด่านที่สองคือระดับตูด (anal phase) ช่วงนี้น้องแน็ตเริ่มเบื่อเอาของเข้าปากกัดเล่นแล้ว น้องแน็ตหันมาเล่นตูดเล่นขี้แทน อื้อมันเหลืองข้นหนีบสะใจเหลือเกินอะโหย พ่อแม่น้องแน็ตก็เริ่มส่ายหัวพยายามให้น้องแน็ตเลิกเล่นขี้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่เลยพยายามสอนน้องแน็ตใช้ห้องน้ำให้ถูกต้อง ขี้ให้ถูกที่ และก็พยายามให้เลิกเล่นขี้ ถ้าพ่อแม่จู่ๆหักดิบไม่ให้เล่นขี่้ หรือด่าน้องแน็ตไม่เหลือซาก ตอนที่น้องแน็ตพยายามทำใจให้หย่าการเล่นขี้ให้ได้ น้องแน็ตก็จะตรึงอยู่ในระดับตูด (anal fixation) โตขึ้นมาจะมีนิสัยเรื่องมาก เจ้าระเบียบ ในทางกลับกันถ้าพ่อแม่ไม่ค่อยสนใจปล่อยให้เล่นขี้ไปซะงั้น น้องแน็ตโตขึ้นมาก็เล่นขี่้เหมือนเดิม... เอ้ยไม่ใช่ โตมาก็จะมีนิสัยรกรุงรัง ไม่ค่อยดูแลตัวเอง ดูแลความสะอาด ซุ่มซ่ามเบ๊อะบ๊ะ แต่ถ้าพ่อแม่พยายามช่วยน้องแน็ตปรับตัว ใช้ห้องน้ำได้ถูกต้อง น้องแน็ตก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ควบคุมตัวเองได้ บันยะบันยังได้

ตอนนี้น้องแน็ตเริ่มโตขึ้นมาแล้ว ประมาณสามขวบกว่า ระดับที่สามคือระดับจู๋ ใช่แล้วครับจู๋ในความหมายชาวบ้านๆ นี่แหละ น้องแน็ตเริ่มเล่นจู๋ อะโหยสนุกเหลือเกิน เริ่มเรียนรู้ว่าตัวเองเป็นผู้ชาย และมีจู๋ และจู๋สามารถตั้งแข็งขึ้นมาได้ น้องแน็ตช่วงนี้เริ่มอยากได้แม่มาครอบครองคนเดียว ก็เลยอิจฉาพ่อเพราะพ่ออยู่กับแม่ นอนกับแม่ตลอดเลย ปมปัญหานี้เรียกว่า ปมเอดิปัส (Oedipus complex) ปัญหาจริงๆ ก็คือพ่อตัวใหญ่แข็งแรงเหลือเกิน แย่งแม่มาจากพ่อไม่ไหว เลยกลัวไปอีกว่าพ่อจะมาตัดจู๋ทิ้ง ถ้าถูกตัดจู๋ ก็ไม่รู้จะเล่นกับอะไร อดสืบพันธุ์อีกต่างหาก น้องแน็ตเลยหวาดวิตกมากไม่รู้ทำไงดี เลยพยายามทำให้พ่อเป็นต้นแบบ และเรียนรู้ลักษณะนิสัยต่างๆจากพ่อ เพื่อให้ตนเองพ้นจากการถูกตัดจู๋ ถ้าเกิดปมนี้ไม่ถูกแก้ เหะเหะมุขเดิม น้องแน็ตจะถูกตรึงในระดับจู๋ พอโตขึ้นมาก็จะมีนิสัยหยิ่งผยอง เพื่อชดเชยกับการที่ไม่ได้แม่มาครองในช่วงระดับจู๋
เอ แต่ถ้าน้องแน็ตเป็นผู้หญิงล่ะ ผู้หญิงไม่มีจู๋ล่ะ จะมีปมอะไรบ้างมั้ย คำตอบคือ มี เรียกว่าปมอิเล็กตรา เด็กผู้หญิงก็อยากได้แม่มาครอบครองแต่เพียงผู้เดียวเหมือนกัน แต่ว่าเด็กผู้้หญิงไม่มีจู๋เลยคิดว่าคงเอาแม่มาครองคนเดียวไม่ได้ถ้าไม่มีจู๋ เลยเกิดอิจฉาจู๋พ่อขึ้นมา เด็กผู้หญิงเลยแก้ปัญหาโดยพยายามทำให้แม่เป็นต้นแบบ เพราะว่าแม่ก็ไม่มีจู๋เหมือนกัน แต่ว่าเด็กห่างเหินแม่ ไม่มีโอกาสได้เห็นแม่เป็นแบบอย่างก็จะถูกตรึงไว้ โตขึ้นมาก็จะร่านอยากได้จู๋ นอนกับผู้ชายไม่เลือก หรือไม่ก็พยายามทำให้ตัวเองเหนือกว่าผู้ชายให้ได้

เฮ่อ น้องแน็ตบอก...เหนื่อยโว้ยไหนจะห้ามไม่ให้เล่นขี้ ไหนจะกลัวถูกตัดจู๋ ลุงซิกีเลยให้น้องแน็ตพักนิดนึง ระดับต่อไปคือระดับเฉื่อย ใช่แล้วครับ ระดับเฉื่อย ช่วงนี้น้องแน็ตได้ปิดเทอมนิดนึง ก่อนที่จะก้าวสู่ระดับต่อไป ในระดับเฉื่อยไม่มีปมประหลาดอะไรให้น้องแน็ตต้องแก้

น้องแน็ตสิบขวบเลย เหลือด่านสุดท้าย นั่นก็คือระดับความต้องการทางเพศ เฮ่อเพศอีกแล้ว แต่ว่าคราวนี้น้องแน็ตโตแล้ว ความคิดอ่านเริ่มถูกควบคุมโดยอีโกได้เต็มที่ แต่ว่าระดับสุดท้ายนี้น้องแน็ตต้องพยายามเริ่มไม่พึ่งพาพ่อแม่ และพยายามเสาะแสวงหาความสุขทางเพศจากคนรอบๆตัว แต่ว่าน้องแน็ตเริ่มโตแล้วความสุขทางเพศไม่ได้มาจากการนอนกับผู้หญิงที่โรงเรียนแต่อย่างเดียว ความสุขนั้นมาจากการที่เพื่อนที่โรงเรียนยอมรับ เพื่อนฝูงรักใคร่ ถ้าเกิดไม่ได้ระดับการยอมรับจากเพื่อนๆที่โรงเรียนหรือคนอื่นในสังคม น้องแน็ตโตขึ้นมาก็จะมีชีวิตรักที่กระท่อนกระแท่น เป็นคนเย็นชา หรือไม่ก็กลายเป็นคนไร้สมรรถภาพทางเพศหรือนกเขาไม่ขันไปซะงั้น

อื่ม... จบแล้ว

เอ ฟังดูทะแม่งๆ ทำไมคราวนี้ไม่เห็นมีการทดลองอะไรเลย ทฤษฎีพวกนี้มาจากไหน นายซิกีเอาเด็กมาจับไว้แล้วลองห้ามพ่อแม่สอนลูกใช้ห้องน้ำ แล้วมาวัดนิสัยกันตอนโตอย่างงั้นเรอะ ไม่ได้ๆๆ ทำแบบนั้นไม่ได้เพราะว่ามันผิดหลักศีลธรรม เอาเด็กมาทดลองแบบนั้นไม่ได้ เอ...แล้วนายซิกีไม่นั่งเทียนเอาทฤษฎีประหลาดมาจากไหนเนี่ย คำตอบก็คือ ใช่แล้วครับนายซิกีนั่งเทียนเอา คือหลักฐานจากประสบการณ์นั่งฟังคนไข้ที่เข้ามาปรึกษามาเล่าให้ฟัง แล้วก็ตีความเอามาเป็นหลักการทฏษฎีซะงั้น แต่ว่าทฤษฎีนี้มันเหมือนฟังนิทานโป๊ ฟังแล้วสนุกดีก็เลยฮิตติดชาร์ทไป นักจิตวิทยาสมัยใหม่เลิกศึกษาทฤษฎีของนายซิกีไปเรียบร้อยแล้ว เพราะว่ามันไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์เอาซะเลย

แต่ว่ามีนักวิชาการกลุ่มนึงครับที่นิยมประยุกต์หลักของนายซิกีอยู่เรื่อยๆ คนกลุ่มนั้นคือนักวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ครับ เช่นลองอ่านหนังสือวรรณกรรมแล้วลองมาวิเคราะห์นิสัยตัวละครโดยใช้หลักพัฒนาการทางเพศและจิต เช่น ตัวละครตัวนี้ตอนเด็กๆ มีปัญหากระทบกระทั่งกับพ่อ พ่อชอบตบตีแม่ ตัวละครเลยถูกตรึงในระดับจู๋ ซึ่งส่งผลในท้องเรื่องตอนหลังตัวละครตัวนี้กลายเป็นเลยเย่อหยิ่งจองหอง... เฮ่อว่ากันเข้าไปนั่นไม่จบไม่สิ้นสักที

ตอนที่ผมเรียนทฤษฏีนี้ตอนปริญญาตรี เค้าไม่เน้นเลยให้เราเข้าใจเนื้อหาทฏษฎีของฟรอยด์โดยละเอียด(ตอนผมเริ่มเขียนผมต้องมาเปิดวิกิ มาเปิดตำราเก่าดู) แต่ว่าเค้าหยิบขึ้นมาสอนเพื่อชี้ให้เห็นว่านักจิตวิทยาสมัยใหม่นั้นใช้เพียงแค่วิธีการทางวิทยาศาสตร์และสถิติเท่านั้น อะไรที่ไม่มีหลักฐานการทดลองมายืนยัน เราไม่ถือนั่นคือความรู้ เป็นแค่ทฏษฎีมีพูดขึ้นมาลอยๆ เฉยๆ

บางทีผมก็อดขำไม่ได้ครับ เวลาคนพูดว่า อยากเรียนจิตวิทยาเพราะอยากเก่งแบบซิกมันด์ ฟรอยด์ ตอนนี่้ทุกคนคงเข้าใจผมแล้วนะครับ

ตอนหน้ามาดูกันว่านักจิตวิทยาสมัยใหม่ใช้วิธีอะไรในการศึกษาบุคลิกภาพของคน โทษทีตอนนี้ยาวมากๆเลย ยาวที่สุดเท่าที่เคยเขียนมา

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

จู๋ จิ๋ม และ ซิกี ตอนหนึ่ง

สมมติว่ามีแกะอยู่หน้าบ้านอยู่ฝูงนึง แต่ว่าแกะฝูงนี้เป็นแกะพิเศษ แกะบางตัวชอบศึกษาจิตวิทยามาก เลยเขียนบทความจิตวิทยา ลงวิแกะพีเดียเต็มไปหมดเลย คุณนึกสนุกเลยอยากรู้ว่าจิตวิทยาแกะต่างจากจิตวิทยาคนยังไงบ้าง เลยคลิกเข้าไปที่วิแกะพีเดียแล้วลองหาจิตวิทยาแกะ โอ้วปรากฎว่าแกะนั้นมีความรู้ทางจิตวิทยามีครบทุกสาขาย่อยเลย อะโหยแกะพวกนี้ล้ำมาก แต่เผอิญคุณจำได้ว่าบล๊อกจิตสัญญาว่าจะพูดเรื่องจิตวิทยาบุคลิกภาพ คุณอดใจไม่ไหวเลยอยากลองอ่านจิตวิทยาบุคลิกภาพแกะ ลองกดหาดู ... ไม่มี... ไม่มีครับ เพราะว่าแกะทุกตัวเหมือนกันอย่างกับแกะ ที่คนสนใจศึกษาจิตวิทยาบุคลิกภาพก็เพราะว่าคนทุกคนมีบุคลิกภาพต่างกัน มีลักษณะท่าทาง ความคิด นิสัย ใจคอ อารมณ์ไม่เหมือนกันเลยสักคนเดียว เพราะฉะนั้นอีกจุดหมายนึงของนักจิตวิทยาคืออยากรู้ว่าอะไรกันที่ทำให้คนมีบุคลิกภาพไม่เหมือนกัน ทำยังไงเราถึงจะวัดบุคลิกภาพของคนได้

คำถามพวกนี้น่าสนใจทีเดียวเพราะว่าบุคลิกภาพเป็นสิ่งที่มนุษย์ภูมิใจว่าดีกว่าสัตว์แน่นอน มนุษย์เด่นกว่าสัตว์ตรงที่ว่าเราไม่เหมือนกันเลยเนี่ยแหละ ถ้าเราสามารถเข้าใจว่าอะไรทำให้เราไม่เหมือนกันก็จะทำให้เราเข้าใจเพื่อนมนุษย์กันมากขึ้น แต่ถ้าความไม่เหมือนกันเป็นเรื่องที่ไม่ดีเช่น มีนิสัยจับคนไปกินตับ เราก็จะได้สามารถแก้ไขอะไรได้ทัน อีกหนึ่งประโยชน์ที่ชัดๆ ก็คือถ้าเราสามารถวัดบุคลิกภาพของคนได้ เราก็จะช่วยคนหาคณะเรียนที่คลิกถูกใจ หางานที่เหมาะเหมงได้

มาเริ่มจากทฤษฎีเก่าแก่คลาสสิกเลยดีกว่า ทฤษฎีจิตพลวัตรของนายซิกมันด์ ฟรอยด์ หรือชื่อเล่นว่าซิกี้ ไม่มีใครไม่รู้นักจิตวิทยารายนี้ เพราะว่าทฤษฎีของนายซิกี้ดังมาก ไอเดียก็คือจิตมีพลวัตร ซึ่งแปลว่ามีความเคลื่อนไหว มีแรงขับเคลื่อนถึงแม้ว่าเราจะมองไม่เห็นก็ตาม ทฤษฎีนี้บอกไว้ว่าสิ่งที่ควบคุมจิตและพฤติกรรมเปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง



สิ่งที่เราเห็นก็แค่ปลายเล็กๆที่อยู่เหนือน้ำนั้นเปรียบเหมือนกับจิตสำนึก คือเรารู้ตัวว่าเราคิดอะไรอยู่ สามารถปรับความคิดได้โดยใช้เหตุผลและความรู้ต่างๆ อันนี้ไม่ใช่ประเด็นหลักของทฤษฎี ทฤษฎีนี้บอกไว้อีกว่าจิตพลวัตรของคนนั้นส่วนใหญ่อยู่ใต้สำนึก ส่วนนั้นเปรียบเหมือนก้นมหึมาของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำที่ใหญ่กว่ายอดภูเขาน้ำแข็งมาก (ก็เพราะงี้แหละเรือไททานิคถึงจม) จิตใต้สำนึกแบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกัน

ส่วนที่จมอยู่ใต้ก้นสุดก็คือ อิด(Id) อิดเป็นตัวแสดงถึง ความกระหื้นกระหายความสุขของมนุษย์ ทำยังไงก็ได้ที่จะได้มาซึ่งความสุข หรือความผ่อนคลาย อิดเป็นส่วนของจิตที่พัฒนาขึ้นมาก่อนตอนคนเกิด คือเหมือนเด็กเพิ่งเกิดอยากได้อะไรก็ร้องไห้ อยากได้อะไรก็ร้องหาแม่ตีหนึ่งตีสองก็ร้องไม่มีเกรงใจอะไรทั้งนั้น

ส่วนที่ถัดขึ้นมาก็คือ อีโก (ego) แสดงถึงส่วนของจิตที่อิงหลักความจริง เช่น พอเด็กโตขึ้นมา พอรู้ว่าที่จริงใช่ว่าร้องไห้แล้วจะได้ทุกอย่าง อยากได้ของเล่นก็ใช่ว่าจะตื๊อพ่อแม่ก็ซื้อให้ได้เสมอไป ว่าง่ายๆ ก็คือเริ่มเห็นหลักความเป็นจริงว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขเสมอไป
ถัดมาส่วนที่อยู่เหนืออิด กับ อีโก ก็คือ ซุปเปอร์อีโก (superego) อันนี้แสดงถึงส่วนของจิตที่อิงหลักอุดมการณ์ เช่นเด็กโตขึ้นมาอีกก็เริ่มคิดได้ว่ามีความสุขอยู่คนเดียวไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ทุกๆคนต้องมีความสุขเหมือนกับเรา ส่วนของจิตนี้ก็คือพวกศีลธรรม จรรยาต่างๆ นั่นเอง ซุปเปอร์อีโกผลักดันให้เราทำสิ่งต่างๆเพื่อสนองอุดมการณ์ที่อยู่เหนือแค่ตัวเราขึ้นไป แต่ว่าเราจู่ๆ จะขายบ้าน ขายรถ บริจาคให้การกุศลหมดเลยก็ไม่ได้ อีโกเลยต้องช่วยฉุดลงมาให้มันพอดีๆ

ฟรอยด์บอกว่าลักษณะนิสัยของคนขึ้นอยู่กับการโต้ตอบกันของสามส่วนของจิตนี้ ถ้าจิตเติบโตขึ้นมาโดยที่อิดมีอำนาจเหนือกว่าอีโก กับซุปเปอร์อีโก ก็จะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวเอาแต่ใจ แต่ว่าถ้าซุปเปอร์อีโกแรงมากๆ เราก็จะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย เห็นคนอื่นแย่ไปหมด เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครมีมาตรฐานศีลธรรมจรรยา สูงเท่าตัวเอง

เอ พูดแต่ภูเขาน้ำแข็งมาตั้งนาน ยังไม่ได้พูดถึงจู๋ ถึงจิ๋มเลย จะใช่ฟรอยด์ได้ยังไง รอฟังอยู่ตั้งนาน ตอนหน้ามีจู๋ มีจิ๋มแน่นอน ติดตามตอนต่อไป