วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ห้าเจ้าพ่อ

ความพยายามที่จะค้นหา แกะ ชำแหละบุคลิกภาพมนุษย์ยังคงดำเนินต่อไป ตั้งแต่ทฤษฎีของฟรอยด์ ไปถึงแต้มหมึกรอชแชช ดูเหมือนนักจิตไม่ค่อยพอใจกับงานศึกษาด้านบุคลิกภาพซะเลย เลยมีนักจิตอีกคนยังไม่ยอมถอยครับ ชื่อว่านายกอร์ดอน ออลพอร์ท (Gordon Allport) นายกอร์ดอนคิดได้ว่าไม่ว่าจะใช้ทฤษฎีไหนก็ตามในโลกที่พยายามจะอธิบายลักษณะนิสัยบุคลิกภาพคนก็ต้องใช้คำศัพท์ขึ้นมาอธิบาย ไม่ว่าจะเป็นเห็นแก่ตัว บ้า มองโลกในแง่ร้าย ติงต๊อง ต้องใช้คำทั้งนั้น ว่าง่ายๆคือ ภาษากับบุคลิกภาพเป็นของที่คู่กันกับมนุษย์ เพราะฉะนั้นภาษาจะต้องเป็นสิ่งที่แปลรหัสบุคลิกภาพของมนุษย์ ข้อสังเกตอันนี้ชื่อว่า สมมติฐานพจนานุกรม (Lexical hypothesis) นายกอร์ดอนเลยคิดว่าการวัดผลทางบุคลิกภาพนั้นก็เป็นแค่การหาคำที่เหมาะสมมาใช้อธิบายบุคลิกภาพแค่นั้นเอง คำศัพท์ทุกคำของมนุษย์นั้นอยู่ในพจนานุกรม ถึงแม้มันจะมีเยอะเหลือเกิน แต่ว่าถ้าเราศึกษามันทุกคำ เราจะต้องเข้าใจบุคลิกภาพมนุษย์ได้แน่ๆ เลย เอแต่ว่าถ้ามานั่งทำเองคนเดียวคงไม่ไหว ทำยังไงดีนะ

วันรุ่งขึ้น นายกอร์ดอนเดินไปซื้อพจนานุกรมมา แล้วเอามาแจกให้นักเรียนปริญญาเอกในอาณัติ นักเรียนปริญญาเอกพวกนั้นก็งงกันใหญ่อะไรวะเนี่ย คิดว่าพวกเราอ่านหนังสือไม่ออกหรือยังไงกันเลยเอาพจนานุกรมมาให้ เพี้ยนรึเปล่าเนี่ย แต่ว่าหารู้ไม่ชะตากรรมของนักเรียนปริญญาเอกน่าสงสารเหล่านั้นดูไม่ค่อยดีเอาเสียเลย วันนั้นนายกอร์ดอนบอกว่าให้นักเรียนปริญญาเอกไล่คำศัพท์จากเอถึงแซด แล้วไว้ลอกคำศัพท์ที่สามารถอธิบายบุคลิกภาพในภาษาอังกฤษทุกคำแล้วเอาส่ง ไม่งั้นจะไม่ให้จบเอก

วันแล้ววันเล่าปีแล้วปีเล่า นักเรียนเหล่านั้นไล่คำศัพท์ภาษาอังกฤษ เก้าแสนกว่าคำ เพื่อหาคำบรรยายบุคลิกภาพ นับออกมาแล้วได้ หนึ่งหมื่นเจ็ดพันคำด้วยกัน หลังจากผมได้ฟังเรื่องนี้แล้ว ก็รู้สึกเสียวสันหลังเหมือนกันตอนสมัครปริญญาเอก เพราะไม่รู้ว่าอาจารย์จะให้ทำอะไรบ้าง...

นายกอร์ดอนก็รู้สึกปลาบปลื้มดีใจมากว่าได้คำทุกคำที่น่าจะสามารถแกะรหัสบุคลิกภาพมนุษย์ได้ แต่... เฮ้ย หมื่นเจ็ดพันก็เยอะอยู่นะเนี่ยจะทำยังไงดีล่ะเนี่ย... นายกอร์ดอนก็ทำอะไรไม่ค่อยถูกเหมือนกันก็ได้แต่หยิบเอาคำโน้นคำนี้มาจับเป็นกลุ่มๆ แล้วก็ตีความไปว่ากลุ่มคำศัพท์พวกนั้นสามารถใช้วัดบุคลิกภาพคนได้ แยกแยะคนตามกลุ่มบุคลิกภาพไปได้ แต่ว่าไม่ค่อยมีใครยอมรับเท่าไร เพราะว่าเล่นหยิบคำศัพท์มาตามใจชอบ

จากนั้นมาคำศัพท์หมื่นเจ็ดพันคำพวกนั้นก็แพร่ระบาดที่นักจิตมีเยอะเชียว นักจิตก็พวกนี้ก็ใช้วิธีเดิมๆ หยิบคำมั่วๆ มาจับกลุ่ม ทำอะไรคล้ายๆกันนี้สักประมาณสามสิบ สี่สิบปีได้ จนกระทั่งมาถึงยุคนึงที่การศึกษาบุคลิกภาพมนุษย์เริ่มไฮเทคขึ้น เริ่มเป็นระบบมากขึ้น และสามารถทำอะไรถึกๆได้มากขึ้นโดยไม่ต้องให้นักเรียนปริญญาเอกมานั่งเปิดดิกไล่หาคำศัพท์ มีนักจิตรายนึงคิดวิธีทางสถิติที่จับเอาภาษาของคนจริงในหนังสือพิมพ์ หนังสือนิยาย นิตยสารมารวมกันกับคำศัพท์หมื่นเจ็ดพันคำ รวมกับข้อมูลจากแบบสอบถามเก่าๆ ที่นักจิตคนก่อนๆเก็บไว้คร่ำครึ จับทั้งหมดนี้ยัดใส่คอมพิวเตอร์คำนวณออกมาปรากฎว่ามีคำศัพท์อยู่ ห้ากลุ่มใหญ่ด้วยกันที่อำนาจในการแยกแยะบุคลิกภาพมนุษย์ได้ เรียกว่า Big Five หรือ ห้าเจ้าพ่อ เจ้าทั้งห้านั้นก็คือ

Openness ความเปิดใจ เปิดอก
Conscientiousness การรู้สติ รู้สำนึก
Extraversion การเข้าสมาคม เข้าสังคม
Agreeableness ความน่ารัก น่าคบ
Neuroticism การหวาดวิตก หวาดระแวง

นี่นับว่าเป็นหนึ่งในผลงานยิ่งใหญ่ของวงการจิตวิทยาก็ว่าได้ครับ นักจิตกลุ่มนี้เอาคำที่อยู่ในห้าเจ้าพ่อมาทำเป็นแบบสอบถามจิตวิทยา โดยทฤษฎีของแบบสอบถามนี้ต่างจากแบบทดสอบแต้มหมึกกับวิธีของฟรอยด์ตรงที่ว่าทฤษฎีนี้คิดว่าบุคลิกภาพเป็นสิ่งที่คนสามารถเข้าถึงได้โดยที่ยังรู้สึกตัวอยู่ ไม่ต้องล้วงเข้าไปในจิตไร้สำนึกที่เรายังไม่ค่อยแน่ใจด้วยซ้ำว่ามีจริงรึเปล่า แบบสอบถามนี้ก็ตรงไปตรงมาครับ ก็ถามกันตรงๆว่า คุณคิดว่าคำแต่ละคำตรงกับบุคลิกภาพของคุณมากแค่ไหนหรืออะไรประมาณนั้น จากนั้นก็เอาใส่คะแนนว่า บุคลิกภาพของคนนั้นตรงกับแต่ละเจ้าพ่อ ในห้าเจ้าพ่อได้มากน้อยแค่ไหน

ห้าเจ้าพ่อก็ยังไม่วายโดนจับตามองครับ ตอนหน้ามาดูต่อกันว่าทำไมห้าเจ้าพ่อถึงกลายทฤษฎีใหญ่ยักสมชื่อจนถึงทุกวันนี้ แต่ละเจ้าพ่อมันแปลว่าอะไร ใช้ได้จริงรึเปล่า ตอนหน้าครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น