วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

อุ่น

ถ้าวันนึงมีคนมาเคาะประตู แล้วบอกว่า พี่ครับ ช่วยเลี้ยงข้าวผมหน่อยหิวเหลือเกิน คุณก็อาจจะอะหยวนๆ สงสารมันเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แต่พออีกวันนึง มาเคาะประตูอีก แล้วบอกว่า พี่ครับ ช่วยเลี้ยงข้าวผมสามมื้อต่อวันหน่อยนะครับ แล้วก็หาที่นอนให้ด้วย ขอเสื้อผ้าให้ด้วย แล้วก็ขอหนังสือให้อ่าน เอิ่ม แต่พี่อาจจะไม่รู้ว่าผมชอบเสื้อผ้าแบบไหน ชอบอ่านหนังสืออะไร งั้นผมขอตังค์ใช้แทนละกันนะครับ ของี้สักยี่สิบปีก็พอครับ
อุ้ย..งง... เอางี้เลยหรอ

ที่จริงฟังดูแล้วไม่ค่อยน่าแปลกใจสักเท่าไรนะเนี่ย พอเกิดมาเราก็เคาะประตูขอพ่อแม่เราแบบนี้ทั้งนั้นเลย ผมคิดทีไรก็ยังงงอยู่ดีว่าผมจะทำใจเลี้ยงคนอีกคนนึงยี่สิบกว่าปีได้ยังไง (อาจจะมากกว่ายี่สิบปีด้วยซ้ำถ้าลูกขี้เกียจหางานทำ)

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตอนเกิดมาต้องการความดูแลจากใครสักคนนึง ไม่เหมือนเต่าที่แม่ไข่ไว้ตามหาดแล้วก็แฉล็บเดิน เชิดหน้าหนีไม่สนใจ

หื่ม... แปลกจังเรามักจะนึกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่เหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่น แต่ว่าทำไมเวลาเราเกิดมาแล้วทำไมถึงไม่มีความสามารถที่จะเอาตัวรอดด้วยตัวเองได้ล่ะเนี่ย ที่จริงแล้วการที่เกิดมาช่วยตัวเองยังไม่ได้นี่แหละ ที่ทำให้มนุษย์น่าสนใจกว่าเต่่ากว่าปลา

คนเราเกิดมาอย่างแรกที่เราต้องการคือความสนใจจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ก็ไม่อยู่ก็ร้องไห้ แหกปาก แต่ว่าหน้าที่ของนักจิตวิทยาคือพยายามศึกษาว่าอะไรเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมที่เราเห็น ทำไมถึงร้องไห้แหกปากอย่างงั้นล่ะเนี่ย

อื่ม... ลองคิดกันง่ายๆ เด็กอาจจะคิดว่า อะจ้าก ถ้าพ่อแม่หนีไปฉันตายชัวร์เลย จะไปหานมกิน ข้าวกินยังไงน่ะเนี่ยก็เลยกลัว หื่ม... จริงเหรอเนี่ย มีนักจิตวิทยากลุ่มนึงสงสัยว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนยึดติดผูกพันกับพ่อแม่พี่เลี้ยงตอนยังเป็นเด็ก ทฤษฎีที่นักจิตพวกนี้ตั้งขึ้นมาเรียกว่าทฤษฎีการยึดติดผูกพัน (Attachment Theory) การทดลองแรกๆที่เกี่ยวกับทฤษฎีนี้มาจากห้องแล็บของนายแฮรี ฮาร์โลว (Harry Harlow) นายฮาร์โลวคิดว่าถ้าลองให้เด็กเลือกอยู่กับพ่อแม่ที่ให้แต่อาหารอย่่างเดียว แต่ไม่ให้ความรักความอบอุ่นเช่นไม่กอด ไม่อุ้ม ไม่ห่มผ้าให้ กับพ่อแม่ที่ให้ความอบอุ่นอย่างเดียว แต่ไม่ให้อาหารเด็กจะเลือกแบบไหน และจะส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็กในอนาคตยังไง

นายฮาร์โลวก็เลยจับเด็กมาให้เลือกระหว่างพี่เลี้ยงสองคน คนแรกให้ผ้าห่ม กอดรัด ให้ความรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย ส่วนพี่เลี้ยงอีกคนป้อนนมให้อย่างเดียว เด็กจะเลือกแบบไหน เอ...ฟังทะแม่งๆ ถ้าทำงี้กับคนจริง ก็แย่เหมือนกันนะเนี่ย กฎหมายเรื่องการเอามนุษย์มาทดลองที่เมกามันเคร่งมาก การทดลองแบบนี้ผิดกฎหมาย ทำไปถูกขังคุก นายโบวลบีเลยใช้ลูกลิงแทน เพราะว่าลิงใกล้กับคนมาก มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เราศึกษาจากคนไม่ได้เพราะว่ามันโหดเกิน แต่ว่ากฎหมายปล่อยให้เราโหดกับลิงได้ เพราะฉะนั้นมีนักจิตบางกลุ่มที่ไม่ใช้คนในการทดลองเลยใช้ลิงเพื่อศึกษาคนนั่นเอง เดี๋ยวจะได้เห็นตัวอย่างอีกเยอะตอนพูดถึงประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience)

นายฮาร์โลวแย่งลูกลิงมาจากแม่จริงแล้วก็ฝากลิงไว้กับแม่เลี้ยงสองตัว แม่ตัวแรกทำมาจากผ้านุ่มๆซุกกอดแล้วก็รู้สึกอบอุ่นขยุ่นขยี้ ส่วนแม่อีกตัวทำจากลวดแต่ว่ามีขวดนมโผล่ออกมาทำให้เหมือนเต้านมลิง แต่ว่าแม่ทั้งสองตัวไม่ใช่ลิงแต่ว่าเอามาแต่งให้เหมือนลิง แบบรูปข้างล่าง



ผลการทดลองก็เห็นๆกันอยู่ในรุปครับลิงชอบแม่ที่ทำจากผ้ามากกว่า ถึงแม้ว่าบางทีจะแฉล็บไปขโมยนมจากแม่อีกตัวนึงบ้างเป็นระยะๆ แต่ว่าพอมีเสียงดัง มีอะไรกระทบกรงหน่อย เจ้าลูกลิงก็จะกระโดดหาแม่ที่ทำจากผ้าทันที พอแกล้งเอาแม่ที่ทำจากผ้าไปซ่อน ลูกลิงก็คลั่งหาแม่ร้องไห้ ดูดนิ้ว วิ่งพล่านหาแม่ เพราะฉะนั้นทำให้เรารู้ว่าลูกลิงยึดติดผูกพันกับกับแม่ที่ให้ความอบอุ่น เพราะฉะนั้นเราจึงแอบสรุปไปได้ว่า ตอนเราเด็กๆที่เรายึดติดผูกพันกับพ่อแม่ไม่ก็พี่เลี้ยงก็เพราะว่าเราได้รับความรัก ความอบอุ่น ไม่ใช่เพราะว่าพ่อแม่พี่เลี้ยงหาข้าวให้กินเพียงอย่างเดียว

นายฮาร์โลวยังไม่หยุดแค่นั้น นายคนนี้ยังสงสัยต่อไปอีกว่าทำไมลูกลิงถึงอยากได้ความรักความอบอุ่น ไม่ได้ก็ไม่ตายนิ่ แต่ว่าถ้าไม่ได้อาหารนี่ตายแน่นอน นายฮาร์โลวเลยเอาลิงมาอยู่กับแม่ที่ทำจากลวดเหล็กแล้วมีขวดนมติดไว้ แล้วมาดูว่าตอนโตมาแล้วจะเป็นยังไง

ปรากฎว่าลูกลิงที่ขาดความอบอุ่นแต่เล็กๆ จะไม่ค่อยไปเล่นกับลิงตัวอื่นๆ ขี้กลัว เห็นอะไรก็จะหวาดระแวงไปหมด กินข้าวก็ไม่ค่อยลง แล้วก็ท้องเสียบ่อยกว่าลิงปกติด้วย

ผลการทดลองจากนายฮาร์โลวเป็นการทดลองแรกที่พิสูจน์ว่าความรัก ความผูกพันในวัยเด็กนั้นสำคัญมากต่อการที่เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต ผมคิดถึงการทดลองนี้ทีไรก็รู้สึกจั๊กจี๋ใจขึ้นมาทุกทีเลย รู้สึกว่าโชคดีที่มากเกิดเติบโตมามีพ่อแม่รักผมประคบประหงมอย่างดีมาโดยตลอดมาเลย แล้วลองนึกถึงเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าสิครับ เด็กเหล่านั้นได้กินข้าวบ้าง ไม่ได้กินบ้างรึเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ แต่ว่าสิ่งที่ชัดเจนคือ เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงหรือใครเลย ผลการทดลองนี้อาจจะช่วยสะท้อนว่าสังคมหยิบยื่นอะไรที่ขาดไปรึเปล่าสำหรับเด็กเหล่านี้

รักพ่อแม่มากๆนะครับ :)

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ห้าเจ้าพ่อ ตอนสาม

หลังจากนั่งเก็บข้อมูล ทำสถิติกันมาหลายสิบปี นักจิตวิทยาก็ได้เครื่องมือหลักในการวัดบุคลิกภาพเป็นที่เรียบร้อย เอ... งานวิจัยพวกนี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้นเลยนิ่ จะวัดบุคลิกภาพคนทีนึงก็ต้องมานั่งแปลความ ตีความกัน ก่อนที่แบบสอบถามพวกนี้จะเอามาใช้แพร่หลายได้ นี่คือปัญหาหลักขององค์ประกอบทั้งห้า อย่าลืมว่าองค์ประกอบทั้งห้าเริ่มต้นมาจากนายกอร์ดอน ออลพอร์ทกล่าวว่าบุคลิกภาพนั้นต้องถอดรหัสออกมาจากภาษา ตอนนี้ถอดรหัสมาจากภาษาอังกฤษแล้ว ต้องมาถอดรหัสจากภาษาอื่นกันต่ออีก ตอนนี้ขอข้ามทวีปมาดูงานวิจัยบ้านเราดีกว่า

ขอทบทวนอีกทีว่าแบบสอบถามนี้ได้มายังไง ได้มาจากการเอาคำจากดิกทั้งหมดมาย่อยให้เหลือ 17,000 คำ เสร็จแล้วย่อยลงมาให้เหลือน้อยกว่านั้นอีกโดยดูว่าคำไหนใช้บ่อยในชีวิตจริง แล้วทำแบบสอบถามขึ้นแล้วมาทดสอบกับคนทุกกลุ่มอายุ ทุกอาชีพ แล้วค่อยสรุปว่าแบบทดสอบนั้นมีมาตรฐานเชื่อถือได้จริง เฮ่อ ฟังแล้วก็น่าเหนื่อยแต่โชคดีครับว่าคนไทยไม่ต้องไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น เราไปหยิบแบบสอบถามที่ใช้วัดห้าเจ้าพ่อองค์ประกอบบุคลิกภาพมาจากฝรั่งเค้า ที่นิยมสุดก็คือ NEO-FFI (หลายคนคงเคยได้ทำกันในคาบแนะแนว) เสร็จก็เอามาแปลเลยครับ เอามาแปลให้ดีๆ เนี้ยบๆ เสร็จแล้วคราวนี้ก็ต้องเอามาทดสอบกับคนทุกกลุ่มทุกอายุ... แปลแบบสอบถามแป๊บเดียวก็เสร็จเพราะมีอยู่แค่ประมาณหกสิบข้อ แต่ว่าเก็บข้อมูลอันนี้น่าเหนื่อยครับ เพราะต้องไปหาคนมา แล้วก็ต้องหาเพื่อนๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองมาอีก ตอนนี้ NEO-FFI มีแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้วแต่ว่าการวิจัยยังดำเนินต่อไปครับ เพราะว่ายังเก็บตัวอย่างได้ไม่ครบ ไม่เต็มที่ อันนี้ก็ต้องรอกันต่อไป

วัดบุคลิกภาพ วัดไปทำไมกัน ไม่ได้วัดไปสนุกๆครับ เราอยากรู้ว่าบุคลิกภาพคนมีผลต่อชีวิตภายภาคหน้าของคนในด้านไหนบ้าง มากน้อยแค่ไหน ห้าเจ้าพ่อนี่เจ๋งมากครับเพราะว่าได้ผลออกมาเป็นตัวเลขคะแนนของแต่ละมิติ เพราะฉะนั้นสามารถเอามาดูเปรียบเทียบกับอย่างอื่นได้ เช่น มีคนเคยศึกษาว่า คนที่ได้คะแนนจาก Neuroticism (ความหวาดระแวง อารมณ์ไม่สม่ำเสมอ) สูง และคะแนนจาก Openness (ความเปิดอกเปิดใจ) ต่ำมีโอกาสเป็นโรคทางประสาทสูง เพราะฉะนั้นมีประโยชน์สำหรับพวกนักจิตวิทยาคลินิคไว้ตรวจคนไข้ได้ อีกตัวอย่างนึงก็คือคนที่ได้คะแนนจาก Conscientiousness (การรู้สติ รู้ผิดชอบ) สูงและ Openness สูงมีโอกาสประสบความสำเร็จทางการเรียนสูง อะไรอย่างงี้ ครูแนะแนวเลยสามารถเอามาใช้ได้ พวกนักบริหารทรัพยากรบุคคลก็เอาใช้ได้

แต่ว่าชีวิตคนไม่ราบรื่นเสมอไป ต้องมีคนออกมาแย้ง คราวนี้ใครออกมาครับ แอ่นแอ๊น นักจิตวิทยาสังคมนั่นเอง มีนักจิตวิทยาสังคมนายนึงออกมาพูดว่า ..อื่ม ลองเดาสิว่าพูดว่าอะไร บุคลิกภาพวัดไม่ได้โดยตรง เพราะว่าบุคลิกภาพนั้นขึ้นอยู่กับคนรอบข้างและสถานการณ์รอบตัว เพราะฉะนั้นจะจับคนมานั่งทำแบบสอบถามแบบนี้ไม่เวิร์คแน่นอน

แต่ว่าลองคิดง่ายนะครับ คนทั้งโลกมีเยอะมาก แค่แบบสอบถามไม่กี่ข้อ จะแยกคนได้แค่ไหนกันเชียว แปลว่าอะไร แปลว่าถ้าเกิดจับคนมั่วๆ มาร้อยคนมาทำแบบสอบถามที่มีไม่กี่ข้อ ผลออกมาคือจะมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะได้คนที่มีบุคลิกภาพเหมือนกันเป๊ะสองคน สองคนจากร้อยคน อะโหยบ้าคลั่ง ถ้างี้ทั้งประเทศก็มีคนมีบุคลิกภาพเหมือนกับเราเป๊ะหกแสนกว่าคนเลยเรอะ ไม่ประหลาดไปหน่อยหรือเนี่ย เอแต่ว่าไอ้แบบสอบถามเนี่ยก็ทดสอบกันมาตั้งเยอะตั้งแยะนิ่หน่าไม่น่าจะผิด

สรุปได้ก็คือว่า แบบสอบถามที่มาจากหลักขององค์ประกอบห้าเจ้าพ่อนั้นค่อนข้างหยาบอยู่ สามารถแยกคนได้ในระดับนึงแต่ว่าไม่ได้เยอะขนาดนั้นเพราะว่าบุคลิกภาพคนมันซับซ้อนมาก อิทธิพลของสถานการณ์ก็มากระทบอีก ทำให้เราต้องมาดูว่าบุคลิกภาพโต้ตอบกับสถานการณ์ยังไงบ้าง
แล้วก็จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ แบบทดสอบนั้่นใช้ภาษาคน คนเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นจะตั้งใจตอบให้เป็นอีกทางนึงไปเลยก็ได้ ถึงแม้แถบด้านบนกระดาษจะเขียนว่า กรุณาตอบให้ตรงความจริงที่สุด

พวกนั้นคือข้อด้อยที่เราเห็นได้จากการเอาแบบสอบถามไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ถ้าเราตั้งคำถามใหม่ว่า บุคลิกภาพด้านต่างๆพัฒนาช่วงไหนของวัย อันนี้ฟรอยด์ยิ้มเลยครับ เพราะว่าทฤษฎีของฟรอยด์พูดตรงๆ เลยว่าบุคลิกภาพตอนโตได้มาจากไหน เพราะอะไร ตอนไหน แต่ว่าทฤษฎีของห้าเจ้าพ่อบอกอะไรไม่ได้เลยครับ

อีกประเด็นก็คือ เด็กครับ เด็ก เด็กทารก เด็กแต่ละคนร้องไห้ไม่เท่ากัน ดื้อไม่เท่ากัน แสดงว่าเด็กมีบุคลิกภาพตั้งแต่เกิดมาแล้ว จะเอาอะไรมาวัดบุคลิกภาพล่ะเนี่ย เด็กยังพูดไม่ได้ อ่านไม่ออกเลย จะจับมาทำแบบสอบถามก็ไม่ได้ จะจับมาคุยลุงฟรอยด์ก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ตอนหน้าดูกันว่าเราจะศึกษาบุคลิกภาพเด็กกันได้ยังไง

วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ห้าเจ้าพ่อ ตอนสอง

รู้สึกว่าตอนที่แล้วแอบรวบรัดตัดความไปนิดนึงว่าจู่ๆจับพลัดจับผลูมาเป็นห้าเจ้าพ่อ หรือชื่อตามหนังสือเรียกว่าองค์ประกอบทั้งห้า (Big Five หรือ Five Factors) ตอนนี้จะขอถอยหลังกลับนิดนึงครับ กลับไปยุคที่นักจิตวิทยาเริ่มหยิบๆคำจาก 17,000 คำมาย่อยๆ ให้มันเป็นเหลือน้อยลง แล้วทำแบบทดสอบขึ้นมา แบบทดสอบก็ถามง่ายๆว่า ในแต่ละคำต่อไปนี้ คุณคิดว่าตรงกับบุคลิกภาพของคุณมากแค่ไหน เพื่อจะทดสอบว่าแบบทดสอบน่าเชื่อถือได้แค่ไหนก็ต้องให้ลองทำแบบทดสอบหลายๆครั้ง แล้วดูว่าผลออกมามันเหมือนเดิมรึเปล่า แต่ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้สิ เพราะว่าสมมติเราทำแบบทดสอบไปแล้ว ให้ทำอีกทีก็แอบจำคำตอบได้ ผลออกมาก็ต้องเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นวิธีที่นักจิตวิทยาบุคลิกภาพชอบมากคือให้เพื่อนฝูง เจ้านาย พ่อแม่ จิตแพทย์ประจำตัว ลองทำแบบทดสอบด้วย แล้วดูว่าผลออกมาตรงกับเจ้าตัวมั้ย แล้วก็ลองทำแบบนี้กับคำหลายๆกลุ่ม ตาสี ตาสา ช่างก่อสร้าง แม่ค้าตลาด นักเรียน ทหาร ตำรวจ และอื่นๆ อีกมาก นักจิตวิทยากลุ่มนี้เก็บข้อมูลมาเป็นตั้งๆ เยอะๆ ทีเดียว

อื่มตอนนี้มีข้อมูลเยอะแยะใส่ในคอมพิวเตอร์ (เทคโนโลยีใหม่ของยุค) แล้วทำยังไงต่อล่ะ มีนักจิตวิทยาอีกสาขาที่เรียกว่า นักจิตวิทยาเชิงคำนวณ (Quantitative psychologists) ที่คอยคิดเทคนิควิธีทางสถิติที่จะมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางจิตวิทยาโดยเฉพาะ มีนักจิตเชิงคำนวณกลุ่มนึงคิดค้นวิธีที่ชื่อว่า การวิเคราะห์องค์ประกอบแฝง (Factor analysis) เป็นวิธีการที่ใช้พวกทฤษฎีเมทริกซ์ (Matrix theory) ลองยกตัวอย่างดีกว่าว่านักจิตบุคลิกภาพเอามาใช้วิเคราะห์ข้อมูลกองเบ้อเริ่มยังไง

ไอเดียแรก ก็คือคนมีความหลากหลาย คนแต่ละคนไม่เหมือนกัน(คนมีบุคลิกภาพเป็นของตัวเอง) เราอยากรู้ว่าคำถามไหนสามารถช่วยแยกแยะคนออกจากกันได้ ถ้าแบบสอบถามแยกแยะคนไม่ได้ แล้วจะให้ทำไปทำไมตัวเองนั่งทำเองอยู่บ้านก็ได้คำตอบเหมือนกับให้คนอื่นทำ ทั้งๆที่บุคลิกภาพของเรากับของคนอื่นต่างกัน

ไอเดียที่สอง ก็คือความหลากหลายของคนสามารถแยกออกมาได้เป็นองค์ประกอบย่อยๆ เราอยากรู้ว่าคำถามไหนแยกแยะคนในมิติเดียวกัน ว่าง่ายๆ ก็คือคำถามที่แยกคนในมิติเดียวกันมีองค์ประกอบของความหลายหลายเดียวกัน เช่น ถ้ามีสี่คำถาม

คุณชอบทักษิณมากน้อยแค่ไหน
คุณชอบกินไอติมมากน้อยแค่ไหน
คุณชอบกินคุกกี้มากน้อยแค่ไหน
คุณชอบสนธิมากน้อยแค่ไหน

คำถามที่ 1 กับ 4 มีอำนาจในการแยกแยะคนในมิติของการเมือง เพราะดูคำตอบแล้วเราแยกแยะคนในองค์ประกอบของความคิดเห็นทางการเมืองของคนกลุ่มนั้น
คำถามที่ 2 กับ 3 มีอำนาจในการแยกแยะคนในมิติของขนมหวาน เพราะดูคำตอบแล้วเราแยกแยะคนในองค์ประกอบของความคิดเห็นทางความหวานของคนกลุ่มนั้น


นั่นคือสองไอเดียหลักของการแยกองค์ประกอบ เทคนิคนี้ช่วยให้เรารู้ว่าคำถามไหนบ้างมีอำนาจในการแยกแยะคนในมิติเดียวกัน แล้วก็สามารถแยกแยะคนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าใช้เทคนิคนี้กับข้อมูลที่ได้มาจากการให้คนตอบแบบสอบถามทางจิตวิทยาที่เราเก็บมา เราก็จะรู้ว่าคำศัพท์คำไหนบ้างในแบบสอบถามที่แยกแยะคนในมิติเดียวกับ มีอำนาจในการแยกแยะคนมากแค่ไหน

ปรากฎว่าจากคำศัพท์ตั้งเยอะตั้งแยะเราสามารถแยกออกมาได้เป็นห้าองค์ประกอบที่สามารถอธิบายความหลากหลายของบุคลิกภาพคนได้ ห้าองค์ประกอบนั้นก็คือห้าเจ้าพ่อที่เรารู้ๆกันนั่นเอง จากนั้นมาก็มีนักจิตหลายกลุ่มที่ทดสอบแบบสอบถามทางจิตวิทยาของตัวเองแล้วลองใช้การแยกองค์ประกอบ แล้วก็ได้ห้าเจ้าพ่อ ทำกี่ทีๆ กี่แบบก็ได้ห้าเจ้าพ่อ ทำให้เรารู้ว่าองค์ประกอบหลักๆของบุคลิกภาพคนสามารถแยกออกมาได้ห้าองค์ประกอบครับผม

อื่มฟังดูดี แต่ว่าทุกอย่างในโลกมีข้อเด่น ข้อด้อย ตอนหน้ามาดูกันว่าทำไมคนถึงใช้ห้าเจ้าพ่อกันเยอะแยะ แต่ว่าไม่เยอะขนาดนั้น