วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ห้าเจ้าพ่อ ตอนสาม

หลังจากนั่งเก็บข้อมูล ทำสถิติกันมาหลายสิบปี นักจิตวิทยาก็ได้เครื่องมือหลักในการวัดบุคลิกภาพเป็นที่เรียบร้อย เอ... งานวิจัยพวกนี้เป็นภาษาอังกฤษทั้งนั้นเลยนิ่ จะวัดบุคลิกภาพคนทีนึงก็ต้องมานั่งแปลความ ตีความกัน ก่อนที่แบบสอบถามพวกนี้จะเอามาใช้แพร่หลายได้ นี่คือปัญหาหลักขององค์ประกอบทั้งห้า อย่าลืมว่าองค์ประกอบทั้งห้าเริ่มต้นมาจากนายกอร์ดอน ออลพอร์ทกล่าวว่าบุคลิกภาพนั้นต้องถอดรหัสออกมาจากภาษา ตอนนี้ถอดรหัสมาจากภาษาอังกฤษแล้ว ต้องมาถอดรหัสจากภาษาอื่นกันต่ออีก ตอนนี้ขอข้ามทวีปมาดูงานวิจัยบ้านเราดีกว่า

ขอทบทวนอีกทีว่าแบบสอบถามนี้ได้มายังไง ได้มาจากการเอาคำจากดิกทั้งหมดมาย่อยให้เหลือ 17,000 คำ เสร็จแล้วย่อยลงมาให้เหลือน้อยกว่านั้นอีกโดยดูว่าคำไหนใช้บ่อยในชีวิตจริง แล้วทำแบบสอบถามขึ้นแล้วมาทดสอบกับคนทุกกลุ่มอายุ ทุกอาชีพ แล้วค่อยสรุปว่าแบบทดสอบนั้นมีมาตรฐานเชื่อถือได้จริง เฮ่อ ฟังแล้วก็น่าเหนื่อยแต่โชคดีครับว่าคนไทยไม่ต้องไปเริ่มใหม่ตั้งแต่ต้น เราไปหยิบแบบสอบถามที่ใช้วัดห้าเจ้าพ่อองค์ประกอบบุคลิกภาพมาจากฝรั่งเค้า ที่นิยมสุดก็คือ NEO-FFI (หลายคนคงเคยได้ทำกันในคาบแนะแนว) เสร็จก็เอามาแปลเลยครับ เอามาแปลให้ดีๆ เนี้ยบๆ เสร็จแล้วคราวนี้ก็ต้องเอามาทดสอบกับคนทุกกลุ่มทุกอายุ... แปลแบบสอบถามแป๊บเดียวก็เสร็จเพราะมีอยู่แค่ประมาณหกสิบข้อ แต่ว่าเก็บข้อมูลอันนี้น่าเหนื่อยครับ เพราะต้องไปหาคนมา แล้วก็ต้องหาเพื่อนๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองมาอีก ตอนนี้ NEO-FFI มีแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้วแต่ว่าการวิจัยยังดำเนินต่อไปครับ เพราะว่ายังเก็บตัวอย่างได้ไม่ครบ ไม่เต็มที่ อันนี้ก็ต้องรอกันต่อไป

วัดบุคลิกภาพ วัดไปทำไมกัน ไม่ได้วัดไปสนุกๆครับ เราอยากรู้ว่าบุคลิกภาพคนมีผลต่อชีวิตภายภาคหน้าของคนในด้านไหนบ้าง มากน้อยแค่ไหน ห้าเจ้าพ่อนี่เจ๋งมากครับเพราะว่าได้ผลออกมาเป็นตัวเลขคะแนนของแต่ละมิติ เพราะฉะนั้นสามารถเอามาดูเปรียบเทียบกับอย่างอื่นได้ เช่น มีคนเคยศึกษาว่า คนที่ได้คะแนนจาก Neuroticism (ความหวาดระแวง อารมณ์ไม่สม่ำเสมอ) สูง และคะแนนจาก Openness (ความเปิดอกเปิดใจ) ต่ำมีโอกาสเป็นโรคทางประสาทสูง เพราะฉะนั้นมีประโยชน์สำหรับพวกนักจิตวิทยาคลินิคไว้ตรวจคนไข้ได้ อีกตัวอย่างนึงก็คือคนที่ได้คะแนนจาก Conscientiousness (การรู้สติ รู้ผิดชอบ) สูงและ Openness สูงมีโอกาสประสบความสำเร็จทางการเรียนสูง อะไรอย่างงี้ ครูแนะแนวเลยสามารถเอามาใช้ได้ พวกนักบริหารทรัพยากรบุคคลก็เอาใช้ได้

แต่ว่าชีวิตคนไม่ราบรื่นเสมอไป ต้องมีคนออกมาแย้ง คราวนี้ใครออกมาครับ แอ่นแอ๊น นักจิตวิทยาสังคมนั่นเอง มีนักจิตวิทยาสังคมนายนึงออกมาพูดว่า ..อื่ม ลองเดาสิว่าพูดว่าอะไร บุคลิกภาพวัดไม่ได้โดยตรง เพราะว่าบุคลิกภาพนั้นขึ้นอยู่กับคนรอบข้างและสถานการณ์รอบตัว เพราะฉะนั้นจะจับคนมานั่งทำแบบสอบถามแบบนี้ไม่เวิร์คแน่นอน

แต่ว่าลองคิดง่ายนะครับ คนทั้งโลกมีเยอะมาก แค่แบบสอบถามไม่กี่ข้อ จะแยกคนได้แค่ไหนกันเชียว แปลว่าอะไร แปลว่าถ้าเกิดจับคนมั่วๆ มาร้อยคนมาทำแบบสอบถามที่มีไม่กี่ข้อ ผลออกมาคือจะมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะได้คนที่มีบุคลิกภาพเหมือนกันเป๊ะสองคน สองคนจากร้อยคน อะโหยบ้าคลั่ง ถ้างี้ทั้งประเทศก็มีคนมีบุคลิกภาพเหมือนกับเราเป๊ะหกแสนกว่าคนเลยเรอะ ไม่ประหลาดไปหน่อยหรือเนี่ย เอแต่ว่าไอ้แบบสอบถามเนี่ยก็ทดสอบกันมาตั้งเยอะตั้งแยะนิ่หน่าไม่น่าจะผิด

สรุปได้ก็คือว่า แบบสอบถามที่มาจากหลักขององค์ประกอบห้าเจ้าพ่อนั้นค่อนข้างหยาบอยู่ สามารถแยกคนได้ในระดับนึงแต่ว่าไม่ได้เยอะขนาดนั้นเพราะว่าบุคลิกภาพคนมันซับซ้อนมาก อิทธิพลของสถานการณ์ก็มากระทบอีก ทำให้เราต้องมาดูว่าบุคลิกภาพโต้ตอบกับสถานการณ์ยังไงบ้าง
แล้วก็จุดอ่อนที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ แบบทดสอบนั้่นใช้ภาษาคน คนเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นจะตั้งใจตอบให้เป็นอีกทางนึงไปเลยก็ได้ ถึงแม้แถบด้านบนกระดาษจะเขียนว่า กรุณาตอบให้ตรงความจริงที่สุด

พวกนั้นคือข้อด้อยที่เราเห็นได้จากการเอาแบบสอบถามไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ถ้าเราตั้งคำถามใหม่ว่า บุคลิกภาพด้านต่างๆพัฒนาช่วงไหนของวัย อันนี้ฟรอยด์ยิ้มเลยครับ เพราะว่าทฤษฎีของฟรอยด์พูดตรงๆ เลยว่าบุคลิกภาพตอนโตได้มาจากไหน เพราะอะไร ตอนไหน แต่ว่าทฤษฎีของห้าเจ้าพ่อบอกอะไรไม่ได้เลยครับ

อีกประเด็นก็คือ เด็กครับ เด็ก เด็กทารก เด็กแต่ละคนร้องไห้ไม่เท่ากัน ดื้อไม่เท่ากัน แสดงว่าเด็กมีบุคลิกภาพตั้งแต่เกิดมาแล้ว จะเอาอะไรมาวัดบุคลิกภาพล่ะเนี่ย เด็กยังพูดไม่ได้ อ่านไม่ออกเลย จะจับมาทำแบบสอบถามก็ไม่ได้ จะจับมาคุยลุงฟรอยด์ก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่อง ตอนหน้าดูกันว่าเราจะศึกษาบุคลิกภาพเด็กกันได้ยังไง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น