วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกาะแกะ

หลังจากได้เห็นความน่ารักน่าหยิกของลิงที่เกาะแม่นิ่มๆ กับความเศร้าแซ้ดของลิงที่เกาะแม่แข็งๆ ไปแล้ว นายฮาร์โลวยังสังเกตอะไรอีกอยากนึง ไอ้ลิงที่ได้เกาะแม่นิ่มๆ มันจะชอบออกไปเดินเพ่นพ่านดูโน่นดูนี่ โลดโผน โจนทะยานไปเรื่อย แต่ว่าไอ้ลิงที่เกาะแม่แข็งจะไม่เซลฟ์เท่า จะออกไปเขย่อแขย่ง ไม่ค่อยกล้าออกไปผจญภัยเท่าไร นายฮาร์โลวเลยไปคุยกับนักจิตวิทยาพัฒนาการแล้วถามว่าเด็กมันเป็นอย่างนี้เหมือนกันรึเปล่า อื่ม... นักจิตวิทยาพัฒนาการก็ออกบอกว่า เอ ก็ไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน แต่ว่าเป็นธรรมชาติของเด็กที่จะออกไปวิ่งเล่น ผจญภัยไปเรื่อย แต่อาจเป็นเพราะว่าเด็กที่เห็นคือเด็กที่มีพ่อแม่ปกติทั่วไป อื้ม ลองมาทำการทดลองดีกว่า มากันดิ๊ว่าเด็กจะทำตัวยังไงถ้าจู่ๆ พ่อแม่หายไปแว้บนึงแล้วกลับเข้ามา เด็กยังจะคลานออกไปเล่น คุ้ยเขี่ยอะไรอยู่เหมือนเดิมรึเปล่า

การทดลองนี้คลาสสิคทีเดียว การทดลองนี้ดังมากมีชื่อว่าสถานการณ์แปลกวิสัย (Strange situation) การทดลองนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนขนาดนั้น แต่ว่าอาศัยมีการจัดฉากเล็กน้อย
ฉากแรก
แม่อุ้มเด็กเข้ามาในห้องที่มีของเล่นมากมาย ปล่อยเด็กให้คลานไปเอาของเล่นมาเล่น กลิ้งไปกลิ้งมา
ฉากที่สอง
แม่ก็บอกว่า ลูกจ๋าเดี๋ยวสักพักแม่กลับมานะจ๊ะ ว่าแล้วพี่เลี้ยงที่เป็นผู้ช่วยนักจิตวิทยาก็เดินเข้าเปลี่ยนมือกับแม่
ฉากที่สาม
ปล่อยให้เด็กอยู่กับพี่เลี้ยงคนนั้นไปสักแป๊บนึง
ฉากที่สี่
แม่กลับเข้ามาเปลี่ยนมือกับพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงก็แอบย่องออกไปปล่อยให้แม่กับเด็กอยู่ด้วยกันสองคน

แน่นอนว่าทั้งหมดนี้นักจิตวิทยาก็แอบมองผ่านกระจกแล้วก็จดๆ พฤติกรรมเด็กในแต่ละฉาก การทดลองแบบนี้เป็นการทดลองแบบสำรวจ ไม่มีการทำสถิติหรืออะไรอย่างการทดลองที่เคยผ่านมา นักจิตวิทยาก็แค่ดูเฉยๆ แล้วก็สรุปว่าเห็นอะไรบ้าง เอ้าเห็นอะไรบ้างล่ะ

ฉากแรก
เด็กก็วิ่งพล่านไปทั่วหยิบหาของเล่นมาเล่นกับแม่อะไรก็ว่าไป ดูความสุขน่ารักคิกขุไปงั้นเอง
ฉากที่สอง
เด็กเริ่มเหวอ หวา แม่หายไปแล้ว ไปไหนล่ะเนี่ย ไปไหนละเนี่ย
ฉากที่สาม กับฉากที่สี่นี่แหละครับที่น่าสนใจ เด็กแต่ละคนก็ต่างกันไปแต่ว่า ดูเหมือนว่าพฤติกรรมจะมีอยู่สามรูปแบบด้วยกัน

รูปแบบแรก: เกาะติดเหนียวแน่น (Secure)
เพราะแม่หายไปก็เหวอเล็กน้อย ไม่ยอมเล่นของเล่นอีกต่อไป พี่เลี้ยงมาปลอบก็ไม่ฟังไม่สนใจ พอแม่กลับเข้ามาก็รีบกระโดดเกาะแม่ ให้แม่อุ้มว่าเข้าไปนั่น เด็กประมาณ 70% แสดงพฤติกรรมอยู่ในรูปแบบแรก อื่มก็คือเด็กส่วนใหญ่บ้านๆ ทั่วไปนั่นเอง แล้วอีก 30% ที่เหลือล่ะ..

รูปแบบที่สอง:  เกาะติดไม่เหนียวแบบปลีกตัว (Insecure-avoidant)
เด็กกลุ่มนี้ครับ พอแม่หายไปปุ๊บก็ร้องไห้ลั่นเลย แต่ว่าพอแม่กลับเข้ามาก็ทำเป็นหยิ่งไม่มองหน้า หันหลังเข้าใส่ ดูรมณ์บ่จอย ไม่พอใจเท่าไร... เด็ก 20% อยู่ในกลุ่มนี้ อื่มแปลกดี

รูปแบบที่สาม: เกาะติดไม่เหนียวแบบต่อต้าน (Insecure-resistant)
เด็กพวกนี้เป็นพวกไม่เหนียวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพอแม่หายไปปุ๊บก็ร้องลั่นเหมือนกัน แต่พอแม่กลับเข้ามา จะมาโอ๋มาอุ้มก็ไม่ให้อุ้มดิ้น คลานหนีตลอด เด็ก 10% ที่เหลืออยู่ในกลุ่มนี้ครับ

นักจิตวิทยาก็ตั้งสมมติฐานกันต่อไปว่า สไตล์การเกาะติดนี่ส่งผลไปถึงตอนโตด้วยรึเปล่า ผลปรากฎว่าเด็กที่เกาะติดแบบเหนียวแน่นจะมีเพื่อนเยอะ เข้าสังคมได้เป็นปกติ มีคนรักใคร่ ปรับตัวเข้ากับผู้คนได้ เวลามีปัญหาก็คุยกับพ่อแม่ คนรัก เพื่อนฝูงเพื่อให้ช่วยหาทางแก้ปัญหา
แต่เด็กในรูปแบบที่สอง โตขึ้นแล้วคบแฟนกี่คนๆ ก็เข้ากันไม่ได้สักที เพราะว่าไม่ค่อยอยากทุ่มเทอารมณ์ความรักความรู้สึกให้คนรอบตัวเท่าไร เพื่อนก็จะมีไม่มาก ความรักก็ไม่ค่อยมี เวลามีปัญหาอะไรก็จะไม่ค่อยบอกให้คนอื่นรู้
เด็กในรูปแบบที่สาม โตขึ้นจะไม่ค่อยอยากสนิทสนมกับใคร กังวลว่าคนอื่นไม่ชอบเรา รังเกียจเรา พอเพื่อนตีตัวออกห่างหน่อยนึง หรือเลิกกับแฟนก็จะเครียดมาก

แน่นอนครับว่าคนเรามันเปลี่ยนแปลงกันได้ เด็กอายุขวบนึงกว่าจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็ใช้เวลานานอยู่ ก็ได้เรียนรู้จากการพูดคุย คลุกคลีกับผู้คนรอบตัว อาจทำให้นิสัยและบุคลิกภาพเปลี่ยนไปได้ แต่ว่าการผลการวิจัยได้สรุปว่าคนส่วนใหญ่นั้นสไตล์การเกาะติดไม่ค่อยเปลี่ยนไปมากเท่าไรเลย

แต่ว่าแค่เราเห็นบุคลิกภาพเด็กอายุแค่ขวบนิดๆ ก็พอจะเดาอนาคตได้แล้วเหรอเนี่ย แล้วสาเหตุของบุคลิกภาพพวกนี้มาจากไหนกันล่ะ ได้มาตั้งแต่เกิด หรือว่าได้มาหลังเกิด เดี๋ยวมาคุยให้ฟังตอนหน้าครับ