วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2552

อะไรอยู่ใต้พรม

จากตอนที่แล้วไม่มั่นใจว่าได้ลองทำแบบทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยกันรึเปล่า ถ้ามีเวลาน่าจะลองทำกันดูนะครับ หนึ่งเพราะผมขี้เกียจอธิบายว่ามันเป็นยังไง แล้วอีกอย่างก็คือไม่ลองก็จะไม่รู้เองว่ามันรู้สึกยังไง (ที่จริงมันแอบสนุกอยู่) ลิงค์อยู่ที่นี่

แบบทดสอบนี้กำลังฮอตทีเดียว เพิ่งออกมาเมื่อสิบปีที่แล้วเอง เพื่อแยกทัศนคติเปิดเผย ออกจากทัศนคติเคลือบแฝง ไอเดียมาจากพวกเมกันพยายามส่งเสริมความเป็นตัวของตัวเอง คนเป็นอย่างเค้าเป็นเพราะว่าตัวของเค้าเอง ไม่เกี่ยวกับเพศ สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา เพราะฉะนั้นถ้าถามคนเมกันทั่วๆไป ว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิงจริงมั้ย ก็จะตอบว่า โอ้ยไม่จริงหรอกนั่นเป็นแค่ความคิดพิมพ์เดียวติดหัว นั่นคือทัศนคติเปิดเผย แต่ว่าทัศนคติเคลือบแฝงที่แท้จริงเป็นไงเราไม่รู้

การทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยเอาวิธีของพวกจิตวิทยาปัญญาความคิด (ที่จริงผมเชี่ยวทางด้านจิตวิทยาปัญญาความคิดมากกว่าจิตวิทยาสังคมมากๆ แต่ผมขอเก็บของดีไว้ตอนหลังละกัน) พวกนักจิตวิทยาปัญญาความคิดศึกษาความคิดอ่านอารมณ์ของคนโดยหลักที่ว่าความคิดที่เชื่อมโยงกันอย่างดีคนจะไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน จะโต้ตอบได้อย่างเร็ว พูดแบบนี้อาจจะงง ตัวอย่างเช่นในแบบทดสอบนี้ ถ้าเราเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เราจะโต้ตอบเร็วกว่าเวลาเกมวางผู้ชายกับคณิตศาสตร์ไว้ข้างเดียวกัน เพราะฉะนั้นแค่ดูที่เวลาตอบสนอง เราก็จะสามารถเห็นทัศนคติเคลือบแฝงของคนนั้นได้แล้ว อื่มฉลาดใช่มั้ยล่ะ

แต่ว่าแล้วไงล่ะ รู้แล้วไง พอแบบทดสอบนี้ออกมาปุ๊บคนก็เริ่มสงสัย ทัศนคติเคลือบแฝงมันมีผลยังไง ทำไมเราต้องแคร์ด้วยในเมื่อมันเป็นความคิดที่อยู่ใต้พรม อาจจะไม่มีผลต่อพฤติกรรมเลยก็ได้ ในเมื่อเราสามารถคิดและแก้ไขพฤติกรรมเราได้ นักจิตวิทยาสังคมสงสัยก็เลยทำการทดลองนึงขึ้นมา ง่ายมากๆ เพื่อทดสอบว่าทัศนคติเคลือบแฝงมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมรึเปล่า เลือกคนที่ทำมีทัศนคติเคลือบแฝงว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิงโดยให้ทำแบบทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัย การทดลองแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเราให้ผู้เข้าร่วมการทดลองนั่งทำเลขคนเดียวในห้อง (ศัพท์เทคนิค เรียกว่ากลุ่มควบคุม) กลุ่มที่สองเราให้ผู้เข้าร่วมการทดลองนั่งทำเลขเหมือนกับกลุ่มแรก (ศัพท์เทคนิค เรียกว่ากลุ่มการทดลอง) แต่ว่าให้มีหน้ามาที่เป็นเพศตรงข้ามนั่งทำเลขชุดเดียวกันอยู่ในห้องด้วย ผลออกมาก็คือ



สำหรับคนมีทัศนคติเคลือบแฝงว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิง ถ้าเกิดไม่มีคนอื่นอยู่ในห้อง ผู้ชายกับผู้หญิงจะได้คะแนนเท่ากัน แต่ว่าผู้หญิงจะทำเลขได้แย่ลงถ้ามีผู้ชายอยู่ในห้อง อื่มน่าสนใจผู้ชายที่อยู่ในห้องสอบด้วยกันไม่ได้หว่านเสน่ห์ให้สาวหลง ทำเลขไม่ทันหรือว่าอะไรเลย แค่อยู่ในห้องสอบด้วยกันเฉยๆก็ทำให้ผู้หญิงทำได้แย่ลงแล้ว นี่คือพิษภัยของความคิดพิมพ์เดียวที่อยู่ในทัศนคติเคลือบแฝง ภาษาอังกฤษเรียกว่า stereotype threat นักจิตวิทยาสังคมลองทำการทดลองคล้ายๆกันนี้กับความคิดพิมพ์เดียวเรื่องอื่น เช่น คนขาวฉลาดกว่าคนดำ คนขาวฉลาดกว่าคนอินเดียนแดง ผลออกมาคล้ายๆกับการทดลองนี้เลย ทำให้เราพอเข้าใจว่าทำไมวงจรอุบาทว์ของความคิดพิมพ์เดียวมันถึงอยู่มาได้นานแสนนาน คนเมกันเลยพยายามอย่างมากที่จะลบความคิดพิมพ์เดียวนี้ออกไป โดยพยายามส่งเสริมให้้ผู้หญิงเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยการลด แลก แจก แถมเต็มที่ ผู้หญิงแข่งเลขก็จะพยายามให้รางวัลพิเศษผู้หญิง ถ้าใครสมัครปริญญาเอกสาขาที่ผู้หญิงขาดแคลน เช่นพวกวิศวะ ฟิสิกส์ ก็จะพยายามให้โอกาสผู้หญิงให้เข้าได้มากกว่า ไม่เลวทีเดียว

เจ๋งดีๆ แต่ว่าคนก็สงสัยกันอีก ว่าเฮ้ย ไอ้แบบทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยนี่มันเวิร์คจริงๆ เหรอ ให้ผลอะไรออกมามั่วๆรึเปล่าเนี่ย คนคิดแบบทดสอบนี้ก็เลยไปทำการศึกษาหาหลักฐานมามากมาย ยกตัวอย่างอันนึงก็คือ ก่อนการเลือกตั้ง ถ้าเอาคนที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกพรรคไหน มาทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัยของแต่ละพรรค ปรากฎว่าเราสามารถทำนายได้เลยว่าคนนั้นจะเลือกพรรคไหน โดยดูแค่ความคิดเชื่อมโยงโดยนัยนั้นเอนไปทางพรรคไหนมากกว่า ถ้าเอามาเป็นแบบคนไทย ถ้าจับคนเสื้อแดง เสื้อเหลือง มาถอดเสื้อทิ้งกองไว้ข้างห้อง แล้วให้ทำแบบทดสอบนี้ เราก็จะพอหยิบเสื้อคืนได้ถูกสี แสดงว่าความเชื่อมโยงโดยนัยก็เวิร์คใช้ได้ทีเดียว

ตอนนี้เราก็จะพอเข้าใจหลักสำคัญๆที่คนใช้เพื่อจะเข้าใจพฤติกรรมของคนอื่น เรายังเหลือว่าคนใช้หลักอะไรในการทำความเข้าใจสถานการณ์รอบตัวเรา โปรดติดตามตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น