วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

อ้างเหตุ เจตนา

จิตวิทยาสังคมยังไม่จบแค่นี้ ยังมีอะไรที่น่าสนใจอยู่อีกเยอะทีเดียว ตอนที่ผ่านๆมาเราเห็นมาแล้วว่านักจิตวิทยาสังคมพยายามเข้าใจว่าทำไมคนถึงฆ่ากันได้ ทำไมคนถึงทำสิ่งเลวๆไปได้ ตอนนี้เราจะลองซูมออก แล้วถามคำถามที่ใหญ่กว่าว่าทำไมคนถึงทำอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไมคนดำต้องเต้นแร็บ ทำไมเด็กจีนเก่งเลขกว่าเด็กฝรั่ง ทำไมผู้หญิงซื้อรองเท้าเยอะกว่าผู้ชาย พวกนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำความเข้าใจในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้ปรับตัวได้ดีขึ้น หรือเพื่อจะได้สบายใจ อะไรก็ว่าไปนั่น ถ้าคนเราไม่มีความสามารถในการทำความเข้าใจพฤติกรรมคนอื่นเลย ก็คงงงเต้ก อ้าวเฮ้ยเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนนั้นถึงเดินผ่านไปไม่ทักเรา อีกตัวอย่างนึงมาจากตอนที่แล้วที่เราทิ้งท้ายเรื่องศาลตัดสินจ่าชิป ระบบศาลคงเป็นไปไม่ได้เลยถ้าคนเราไม่มีความพยายามที่จะเข้าใจจุดประสงค์ของแต่ละพฤติกรรม ว่าคนทำอะไรไปทำไม เพื่ออะไร มีอะไรเป็นตัวจุดระเบิด นักจิตวิทยาก็เลยจับจุดนี้ขึ้นมาศึกษาซะเลย ทฤษฎีหลักในวงการนี้ก็คือ ทฤษฎีการอ้างเหตุ (attribution theory) ทฤษฎีนี้บอกว่าคนพยายามอ้างเหตุของพฤติกรรม หรือพยายามอธิบายเหตุผลของพฤติกรรมของคนอื่นในสองระดับ คือระดับลักษณะนิสัยสันดาน และระดับสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น สมมติเดินอยู่สวนลุม แล้วเห็นชายคนนึงกำลังตบแฟนสาวป้าบๆ ป้าบๆ ตะโกนโหวกเหวกด่าสารพัด คนจะคิดว่ายังไง จะพยายามทำความเข้าใจยังไงว่านายนั่นถึงตบตีแฟนได้อย่างนั้น อื่ม... สำหรับคนส่วนใหญ่พอเห็นปุ๊บมักจะคิดว่า อื้มไอ้หมอนั่นมันเลว หน้าตัวผู้ ตบตีผู้หญิงอย่างนั้น เผลอเห็นแล้วอาจจะชวนเพิ่มไปรุมตื้บ นั่นคือการพยายามอธิบายพฤติกรรมของคนอื่นในระดับนิสัยสันดาน ว่าง่ายๆ ป้ายความผิดไปที่ตัวคนๆ นั้น อื่ม.. แต่ว่ามองๆ ไปสักพักคนก็จะคิดได้ว่า อะโหเฮ้ย ทะเลาะกันขนาดนี้ อาจจะแปลว่าผู้หญิงอาจจะไปมีชู้ เผาบ้าน ปล่อยให้ลูกอดนม หรืออะไรอย่างนั้นก็ได้ นี่คือระดับสถานการณ์

ทฤษฎียังบอกอีกว่าระดับนิสัยเนี่ยเป็นความคิดแบบอัตโนมัติ เห็นปุีบคิดได้ปั๊บ ว่าง่ายๆ คือไม่ต้องคิดมาก แต่ว่าระดับบสถานการณ์เนี่ยเป็นความคิดแบบต้องการการควบคุม ว่าง่ายๆ คือต้องมานั่งคิดกันจริงๆ ถึงจะนึกได้ว่าพฤติกรรมคนอาจจะเกิดมาจากสถานการณ์รอบข้าง

อื่ม...ฟังดูดีนะ แต่ว่ารู้ได้ไงล่ะ ว่าคนคิดเป็นสองระดับแบบนี้จริงๆ มีการทดลองนึงซึ่งพยายามพิสูจน์ให้ดู การทดลองนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มการทดลองที่คล้ายๆกัน กลุ่มแรกคนที่เข้าร่วมการทดลองจะต้องฟังเรื่องเล่า และก็ให้พยายามตอบคำถาม เรื่องเล่าก็จะคล้ายๆกับ เรื่องนายหนุ่มตบตีแฟนสาวในสวนลุมนั่นแหละ ส่วนคำถามก็คล้ายๆ กับให้ลองอธิบายว่านายหนุ่มตบตีแฟนสาวทำไม ในกลุ่มที่สองคนที่เข้าร่วมการทดลองทำเหมือนกับกลุ่มแรกทุกอย่าง แต่ว่าในระหว่างที่ฟังเรื่องและตอบคำถามจะต้องดูจอและจำคำศัพท์ที่จะออกมาผุบๆโผล่ๆ ในจอ ผลปรากฎว่าคนที่ฟังเรื่องและตอบคำถามโดยไม่ต้องจำคำศัพท์นั้นจะอธิบายการตบตีด้วยอ้างถึงสถานการณ์รอบตัว มากกว่ากลุ่มที่ต้องจำคำศัพท์ไปด้วย สรุปว่าการอ้างเหตุของพฤติกรรมในระดับสถานกาณ์นั้นต้องใช้ความคิดมากกว่า ที่สรุปอย่างนี้ได้เพราะว่ากลุ่มที่ต้องจำคำศัพท์นั้นมีภาระการคิดมากกว่ากลุ่มที่ไม่ต้องจำศัพท์ เลยฟังเรื่องไม่ค่อยได้ความ แล้วก็ตอบคำถามแบบต้องคิดเรื่องอื่นไปด้วย การที่คนมองข้ามอิทธิพลของสถานการณ์ ตามทฤษฎีนี้เรียกว่าการอ้างเหตุผิดพลาดมูลฐาน (fundamental attribution error) อื่ม... พยายามแปลเต็มที่ อีกตัวอย่างคือศาลตอนตัดสินจ่าชิปอาจจะมองข้าม หรือดูถูกอิทธิพลของสถานการณ์กันไปนั่นเอง

อื่ม.. ดูเหมือนจะฟังดูดี แต่ว่า แต่ว่า.. แต่ว่า การอ้างเหตุในระดับนิสัยสันดานมันอัตโนมัติได้ยังไงล่ะ ความคิดอัติโนมัติพวกนี้มันมาจากไหนกันล่ะ มั่วรึเปล่า ความคิดก็ต้องมีที่มาสิ อื่ม... ลองคิดดูใหม่นะครับ ตอนเห็นผู้ชายตบตีผู้หญิงเรามักเห็นว่าผู้ชายเลว เป็นเพราะอะไร เรามีความคิดติดหัวว่าผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแรงกว่า ผู้ชายที่จะตบตีผู้หญิงเลยต้องเลวเพราะรังแกเพศที่อ่อนแอกว่า ผู้ชายพวกนี้ก็พิมพ์เดียวกันงี้เป๊ะเหมือนกันทุกคน... ความคิดติดหัวจำพวกนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า stereotype ขอแปลว่าความคิดพิมพ์เดียว แต่ว่านั่นก็ยังไม่ตอบคำถามเลยว่า ความคิดอัตโนมัติ ความพิมพ์เดียว มันมาติดอยู่ในหัวได้ยังไงกัน ฟังต่อตอนหน้าแล้วกัน

ป.ล. ถ้าอ่านจนถึงตรงนี้แล้วช่วยคอมเมนต์โดยการพิมพ์คำว่า "จิต" หรือ "จิตจี๊ด" ขอบคุณครับ

3 ความคิดเห็น: