วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แต้มหมึก

ย้อนไปเมื่อ หกปีที่แล้ว ผมเพิ่งเรียนจบม.หก แม่ผมตระเตรียมเอกสารอยู่ปึกนึง จับผมขึ้นรถแล้วบึ่งไปโรงพยาบาลบ้า พอถึงแล้วผมถูกขังอยู่ในห้องกับนักจิตวิทยาคนนึง นักจิตคนนั้นก็ให้ผมดูภาพๆ นี้ แล้วถามว่าเห็นอะไรบ้าง



อื่ม... ซุปเปอร์ไซย่า ต้นไม้ ต้นหญ้า ปูนึ่ง หมี ปอด แล้วให้ภาพอื่นมาแล้วก็ถามคำถามเดียวกันภาพอื่นๆ ที่ดูแล้วไม่ค่อยจะเห็นอะไรมีความหมายเท่าไร เสร็จแล้วผมเดินออกจากห้องตรวจ แล้วนักจิตนั้นก็บอกว่าผมผ่านการทดสอบทางจิตวิทยา ให้เอาเอกสารไปยื่นให้กอพอ เตรียมตัวรับทุนไปเรียนได้ สองปีต่อมาแต้มหมึกมั่วๆ ที่ผมเห็นเมื่อตอนนั้นก็มาปรากฎบนสไลด์ในวิชาจิตวิทยาเบื้องต้นตอนปีหนึ่ง ภาพแต้มหมึกที่ว่านั้นเรียกว่า แบบทดสอบแต้มหมึกรอชแชชตามชื่อเจ้าของแบบทดสอบ

แต้มหมึกรอชแชชคือผลจากความพยายามและหยาดเหงื่อแรงงานของนักจิตวิทยาบุคลิกภาพที่พยายามจะเรียนรู้บุคลิกภาพของคน รวมถึงโรคจิตที่เกิดจากบุคลิกภาพที่คนไม่ปรารถนา แต่นายซิกมันด์ ฟรอยด์ไม่ได้มาเกี่ยวอะไรครับ เลยไม่มีอวัยวะเพศของใครมาเกี่ยวข้อง แต่ว่าหลักมันเหมือนกันตรงที่ว่าต้องการให้คนปล่อยบุคลิกภาพของมาโดยทางอ้อม ทฤษฎีของนายฟรอยด์ให้คนปล่อยบุคลิกภาพบอกมาโดยให้พูดถึงความปรารถนาที่ไม่สมหวังในวัยเด็ก หรือก็ตามที่ถูกเก็บกดไว้

แต่ว่าหลักของแบบทดสอบแต้มหมึกคือให้คนมองภาพที่ไม่มีโครงสร้างชัดเจน รายละเอียดครุมเครือ แล้วให้คนปล่อยบุคลิกภาพออกมาการตีความภาพนั่นเอง นักจิตวิทยาก็จะจดคำตอบไว้ แล้วก็เอาไปวิเคราะห์ นายรอชแชชก็ทำแต้มหมึกที่คล้ายๆกันนี้มาเยอะแยะเลย แล้วก็เก็บข้อมูลจากคนปกติ และคนไข้ แล้วเลือกออกมาสิบภาพที่เค้าคิดว่าสามารถเอามาใช้วินิจฉัยบุคลิกภาพคนได้

ตอนนี้คนสงสัยกันว่าเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ยังไง วิธีวิเคราะห์นั้นซับซ้อนมากต้องให้คนมาฝึกฝนเป็นปีถึงจะใช้แบบทดสอบนี้ได้ถูกต้อง สรุปก็คือผมก็ไม่ค่อยรู้เหมือนกัน แต่ว่าหลักๆก็คือ แต่ละภาพจะมีสื่งที่นำมาใช้พิจารณาต่างๆกันไป บางทีก็ให้นับว่าคนที่ตอบคำถามให้คำตอบมากี่ข้อ อะไรอย่างงี้เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่คือให้นักจิตวิทยาตีความคำตอบ

นักจิตวิทยาใช้แบบทดสอบนี้กันมาเกือบร้อยปีแล้วครับ ถือว่าน่านับถือทีเดียว แต่ว่ามีนักจิตวิทยาหลายกลุ่มที่คิดว่าแบบทดสอบนี้เป็นวิทยาศาสตร์จอมปลอม เกณฑ์ที่คนใช้ตัดสินความเป็นวิทยาศาสตร์ก็คือ ถ้าทำการทดสอบซ้ำๆแล้ว จะต้องได้ผลการทดสอบเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่ปรากฎว่าบางทีผลการทดสอบจากนักจิตวิทยาคนละคนกันบางทีให้ผลออกมาไม่เหมือนกัน เพราะว่าผลการทดสอบเกิดจากการให้นักจิตวิทยามานั่งแปลความ ผลมันก็เลยออกมาแกว่งไปแกว่งมา ไม่ค่อยคงเส้นคงวาเท่าไร ประเด็นนี้พวกนักจิตวิทยาก็ยังตบตี ถกเถียงกันต่อไป
อ่าแต่ก็เป็นไปได้ว่านักจิตวิทยาคุณภาพมันไม่เท่ากันทุกคนนิ่ คนที่มันไม่ค่อยเก่งอาจจะตีความได้ไม่โดนเท่านักจิตวิทยาตัวจริงก็เป็นได้ แต่ว่ามีอีกสาเหตุที่นักจิตบางกลุ่มคิดว่าไอ้แต้มหมึกนี่เป็นวิทยาศาสตร์เทียม ชัดๆว่าถ้าแบบทดสอบนี้ดีจริง ผลวินิจฉัยจะต้องถูกต้อง คิดง่ายๆ ก็คือถ้านำคนไข้โรคจิตมาทำการทดสอบนี้ ผลการทดสอบต้องบอกว่าคนๆนี้เป็นคนไข้จริงๆ ปรากฎว่าผลการทดสอบมันเชื่อถือไม่ค่อยได้เท่าไร เพราะว่าบางทีผลออกมาไม่ถูกต้อง แต่ว่าประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ตบตีถกเถียงกันต่อไป

ที่น่าเป็นห่วงก็คือว่าแบบทดสอบนี้ไม่เหมือนกับดูดวงในสนุกดอทคอม หรือควิซในเฟสบุ๊ค ผลจากแบบทดสอบแต้มหมึกนี้ถูกเอามาใช้ในชั้นศาล ถ้าตอนนั้นนักจิตคนนั้นบอกว่าผมมีอาการทางจิต เท่านั้นแหละผมอาจจะหมดสิทธิรับทุนรัฐบาลเลยก็ได้ อ่าแต่นั่นอาจจะไม่สำคัญเท่าไร ผมอดมาทุนประเทศชาติก็คงไม่ได้เจริญน้อยลงหรือแย่ลง แต่ว่าถ้านักจิตใช้แบบทดสอบนี้วินิจฉัยผุ้ต้องหา แล้ววินิจฉัยผิด บอกว่าผู้ต้องหามีอาการจิต คราวนี้ถือว่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวลไป ซือกงเห็นแล้วกลุ้มใจ

ยังไม่พอครับ ตำราวิธีการวิเคราะห์ผลการทดสอบนั้นสามารถหาซื้อตามแผงหนังสือแถวบ้านทั่วไป ถ้าเกิดคนธรรมดาไปซื้อมาอ่าน แล้วตอบแบบทดสอบเพื่อแกล้งเป็นคนมีอาการทางจิตก็เป็นไปได้เหมือนกัน

สรุปก็คือนักจิตบางกลุ่มเห็นว่าแบบทดสอบนี้ยังมีรอยรั่วอยู่เยอะเลยไม่คิดเอามาใช้ แต่ว่านักจิตบางกลุ่มยังใช้อยู่เป็นชีวิตจิตใจ อันนี้ก็ยังต้องถกเถียงกันต่อไปครับ ผมจะพูดถึงแบบทดสอบแต้มหมึกอีกที ตอนที่เราพูดถึงจิตวิทยาคลินิก ตอนต่อไปมาดูกันต่อครับว่านักจิตจะงัดไม้ตายไหนมาตรวจสอบบุคลิกภาพคนอีก

1 ความคิดเห็น:

  1. ในเมกาหาตำราแปลผลง่ายขนาดนั้นเลยหรอ
    คือถ้าเป็นที่ไทย เรียนจิตวิทยาเค้ายังไม่ยอมให้วิธีแปลโดยละเอียดทั้งหมดเลย -*-

    โดยส่วนตัวเราว่ามันใช้วิธีเชื่อมโยงกันแปลกๆ อ่ะ ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ชอบ TAT มากกว่า

    ตอบลบ