วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

เมืองคนบาป? ตอนหนึ่ง

กาลครั้งหนึ่งเมื่อประมาณสี่สิบปีที่แล้ว มีเด็กหนุ่มคนนึงที่ใช้ชีวิตปกติธรรมดาท่ามกลางฝูงคนในมหานครนิวยอร์ค เด็กคนนั้นชื่อเด็กชายแอนดรู แอนดรูนั่งรถไฟใต้ดินไปโรงเรียนทุกวัน เป็นเด็กดีเพื่อนๆ รักใคร่ เหมือนเด็กอื่นๆ ทั่วไปในโลก มาอยู่วันหนึ่งแอนดรูนั่งรถไฟใต้ดินกลับบ้านตามปกติ แต่ว่าวันนั้นโชคไม่ค่อยดีเท่าไร ในรถไฟที่แอนดรูนั่งอยู่ มีกลุ่มเด็กผู้ชายสามคนเมาๆ ไม่สบอารมณ์ คนอื่นก็หนีเขยิบหนีพวกนั้น ไม่ก็แกล้งอ่านหนังสือพิมพ์ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น สองนาทีต่อมา แอนดรูถูกแทงเต็มตัว กระโหลกแตกจมกองเลือด ผู้โดยสารคนอื่นยังแกล้งอ่านหนังสือพิมพ์ต่อไป แล้วก็เผ่นออกสถานีหน้า มีคนเห็นเหตุการณ์สิบคน ไม่มีคนไหนโทรเรียกตำรวจเลย สุดท้ายแอนดรูนอนตายอยู่ในรถไฟ

เราพอจะเข้าใจแล้ววว่าทำไมคนถึงทำสิ่งแย่ๆ ตอนนี้เราจะถามคำถามกลับกัน ทำไมคนถึงไม่ช่วยเหลือกัน ไม่ยอมทำสิ่งดีๆ ถ้าคนในรถไฟขบวนนั้นเรียกเจ้าหน้าที่ เรียกตำรวจสถานีต่อไป แอนดรูอาจจะไม่ตายก็ได้ มันเกิดอะไรกันขึ้นล่ะเนี่ย เหตุการณ์นี้เขย่าขวัญคนเมืองนิวยอร์คไม่น้อย คนก็คิดกันไปว่า คนเมืองเย็นชา ไม่มีความรู้สึกต่อกัน โหดเหี้ยม สู้คนชนบทไม่ได้ แต่ว่าจริงเหรอคนมันจะเย็นชาได้ขนาดว่าเห็นคนนอนตายไปต่อหน้าต่อตาขนาดนั้นเลยเหรอ จริงอยู่คนเมืองทำงานหนัก เครียด แต่ว่าคงไม่ถึงขนาดนั้นล่ะม้าง หรือว่าทุกเมืองกลายเป็นเมืองคนบาปไปแล้ว

นักจิตวิทยาสังคมก็ขอมาทำไมหน้าที่ตอบคำถาม โดยอ้างถึงหลักที่ว่าพฤติกรรมที่เห็นนั้นควรจะได้รับอิทธิพลมาจากสังคมรอบตัว เค้าสังเกตว่าเวลาอยู่ในเมืองเนี่ยคนมันเยอะมาก มองไปทางไหนก็คน อยู่ตรงไหนก็มีคน นักจิตวิทยาสังคมเลยสันนิษฐานว่าการที่มีคนอยู่มากๆนั่นแหละทำให้คนไม่ได้คิดจะช่วยเหลือกัน ลองใช้หลักการนี้มาวิเคราะห์สถานการณ์ของแอนดรูกัน

สิ่งแรกที่นักจิตวิทยาสังคมคิดถึงก็คือ การที่คนเยอะแล้วต่างคนต่างไม่รู้สึกตกใจหรืออะไรทำให้คิดว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่คือสมมติฐานของเค้า แล้วจะทดสอบยังไงล่ะ มีการทดลองสนุกๆ อีกแล้ว เราให้เลขาสาวสวยไปรับผู้เข้าร่วมการทดลองเข้ามา แล้วหลอกว่าเราเรียกให้มาทำแบบสอบถามเฉยๆ เลขาก็ยื่นแบบสอบถามให้ แล้วก็บอกว่า จะนั่งทำงานอยู่หลังม่านนี้นะคะ เสร็จก็เดินเฉิดฉายแล้วก็รูดม่านปิด (เพื่อให้รู้ว่าถ้าจะเข้ามาก็เข้ามาได้ง่ายๆ) คุณเธอก็แกล้งทำเสียงเรียงกระดาษ ปิดลิ้นชัก คุยโทรศัพท์ว่าไป สักพักนึงก็เปิดเทปที่เตรียมไว้ คนตอบแบบสอบถามก็ตอบไปแล้วก็ได้ยินเสียง(จากเทป) เหมือนชั้นหนังสือถล่มลงมา แล้วก็มีเสียงเลขาร้องโอดโอย โอ๊ยเจ็บจังเลยค่ะ ไม่ไหวแล้ว ชั้นหนังสือนี่มันหนักจัง โอย โอย โอย โอดครวญอยู่ได้สักพักนึง แล้วก็ทำเสียงเหมือนคลานๆ ออกจากห้องปิดประตูไป เรามาแอบดูว่าคนที่ทำแบบสอบถามนี่จะเข้ามาช่วยหรือร้องขอความช่วยเหลือรึเปล่า ปรากฎว่าคนประมาณ 70% เข้ามาช่วยเลขาสาวก่อนเธอจะออกไปนอกห้อง อื่ม...ฟังดูดีคนช่วยเหลือกัน แต่ว่าถ้าทำการทดลองเดียวกันนี้ แต่ให้มีหน้าม้านั่งทำแบบสอบถามอยู่ในห้องเดียวกันกับคนเข้าร่วมการทดลองแต่หน้าม้าไม่ได้ทำเหมือนตกใจหรือทำท่าจะช่วยเหลือ ปรากฎว่า คนแค่ 20% เท่านั้นที่ออกมาช่วยเลขาสาว ถ้ามีหน้าม้าในห้องมากกว่านั้นอีก แทบจะไม่มีใครช่วยเลขาสาวเลย ผลการทดลองทำให้รู้ว่าคนที่เข้าร่วมการทดลองไม่ได้มาจากพรหมพิราม หรือเมืองคนบาปหรืออะไร เพราะทุกคนมาจากเมืองเดียวกัน แต่ว่าบางคนเข้าช่วยเลขาสาว แต่บางคนไม่ พอถามคนเข้าร่วมการทดลองที่ไม่ได้เข้าช่วยเหลือเลขาสาวว่าทำไมถึงไม่ช่วย ส่วนใหญ่บอกกันว่า ไม่คิดว่าน่าจะมีอะไร เพราะคนอื่นก็ดูเหมือนไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไร นักจิตวิทยาเรียกผลการทดลองนี้ว่า Pluralistic ignorance แปลตรงๆ คือ พหุโมหะ แปลอีกทีก็คือ คนเขลาเป็นกลุ่ม เพราะว่าเราพยายามเข้าใจสถานการณ์รอบตัวโดยการดูจากคนอื่นๆ ทั้งที่ๆ คนอื่นก็ไม่ได้รู้ดีกว่าเรา สรุปไม่มีใครเห็นว่าควรเข้าช่วยเหลือเลย ก็เลยไม่มีใครสังเกตเห็นสิ่งร้ายๆที่คนอื่นกำลังเผชิญอยู่ เมื่อสังเกตเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่เห็น ก็เลยไม่ได้เข้าช่วยเหลือ

ฟังดูดี มีหลักการ แต่เอ ถ้าเราลองมองกลับในสถานการณ์ของแอนดรู ทุกคนเห็นชัดๆว่าเค้ากำลังถูกรุมแทงอยู่ จะบอกว่าไม่เห็นว่าเป็นเหตุจำเป็นต้องเข้าช่วยก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะสรุปได้รึยังว่า คนที่อยู่บนรถไฟขบวนนั้นเป็นคนเย็นชา ใจไม้ไส้ระกำ นักจิตวิทยายังแย้งต่อว่าคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นคนบาปประเภทนั้นแต่อย่างใด ยังมีการทดลองสนุกๆ อีก เพื่อหาคำตอบให้กับคดีนี้ ตามอ่านกันตอนต่อไปครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. อาจจะกลัวลูกหลง -___-"

    ตอบลบ
  2. นึกถึงอีกเคสที่เป็นผู้หญิงโดนแทงในเมืองเหมือนกัน

    พอเรียนเคสพวกนี้ เราเลยพยายามทำตัวให้ไวต่อสัญญาณขอความช่วยเหลือมากขึ้น

    ตอบลบ