วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

พิมพ์เดียวกันหมด

ผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิง ผู้หญิงต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ผู้ชายต้องออกนอกบ้านหางานทำ ความคิดพวกนี้มาติดอยู่ในหัวได้ยังไง แล้วมาติดอยู่ในหัวทำไมกัน ความคิดพวกนี้ติดอยู่ในหัวตั้งแต่เกิดมาเลยรึเปล่า มาดูอีกการทดลองนึงเลย เค้าต้องการอยากรู้ว่าคนเรามีความคิดติดหัวมาตั้งแต่ตอนอายุเท่าไร การทดลองพวกนี้จะประหลาดหน่อยนึง เพราะว่าเด็กมันเด็กมากเลยเราถามอะไรตรงๆไม่ได้เลย ต้องวัดความคิดของเด็กโดยวิธีอ้อมๆ นักจิตวิทยาพวกนี้เรียกว่านักจิตวิทยาพัฒนาการ เพราะว่าเค้าต้องการศึกษาว่าคนเราพัฒนาขึ้นมาได้ยังไง (พวกนักจิตวิทยาพัฒนาการนี้ต้องเป็นพวกรักเด็ก เพราะว่าต้องเล่นกับเด็กตลอด) การทดลองเป็นแบบนี้ เรามีของเล่นเด็กสี่อย่าง ตุ๊กตาผู้ชาย ตุ๊กตาผู้หญิง รถดับเพลิงของเล่น แล้วก็เครื่องดูดฝุ่นของเล่นแล้วดูกันว่าเด็กจะเล่นของเล่นเหล่านั้นยังไง ถ้าเด็กมีความคิดติดหัวว่าผู้ชายควรจะทำอาชีพอะไร ผู้หญิงควรจะทำอาชีพอะไร เด็กควรจะจับรถดับเพลิงของเล่นมาเล่นกับตุ๊กตาผู้ชาย แล้วเอาเครื่องดูดฝุ่นของเล่นมาเล่นกับตุ๊กตาผู้หญิง นักจิตวิทยาจับเด็กอายุสองขวบมาทดลอง ปรากฎว่าเด็กผู้หญิงเล่นของเล่นตามความคิดพิมพ์เดียวเกี่ยวกับอาชีพของผู้ชายและผู้หญิง แต่ว่าเด็กผู้ชายไม่ได้เล่นตามนั้น อื่ม... เค้าเลยลองทำการทดลองเดียวกันนี้้กับเด็กอายุสองขวบครึ่ง คราวนี้ทั้งเด็กผู้ชาย เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่เล่นของเล่นตามความคิดพิมพ์เดียวเกี่ยวกับอาชีพ เราเลยสรุปได้ว่าความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ไม่ได้ติดมาตั้งแต่เกิด แต่ว่ามันมาติดอยู่ในหัวตั้งแต่อายุขวบนึงแล้ว แต่ก็ยังสงสัยกันอยู่ว่าทำไมเด็กผู้ชายได้ความคิดพวกนี้มาทีหลังเด็กผู้หญิง แต่ว่านักจิตวิทยาก็สันนิฐานไปว่าอาจเป็นเพราะเด็กผู้ชายไม่ค่อยได้เล่นกับตุ๊กตา เราเลยไม่ได้เห็นผลชัดอะไรประมาณนั้น แต่ว่าที่สำคัญกว่านั้นคือว่า เรายังสรุปไม่ได้ว่าทำไมเด็กถึงมีความคิดพวกนี้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนด้วยซ้ำไป นักจิตวิทยาพัฒนาการเลยพยายามคิดวิเคราะห์สาเหตุต่อไป ...​เอ เด็กพวกนี้เป็นเด็กฝรั่ง เด็กฝรั่งทำอะไรกันตอนสองขวบ อ๋อดูการ์ตูนดิสนีย์ ซึ่งตัวพระเอกส่วนใหญ่ก็จะตัวใหญ่ แมนๆ ต่อสู้เก่ง เป็นฮีโร่อะไรก็ว่าไป แต่ว่าตัวนางเอกจะตัวเล็กอ้อนแอ้น อ่อนแอ พระเอกต้องปกป้อง เค้าเลยคิดไปว่าคงเป็นเพราะสื่อพวกนี้ที่เด็กเห็นทุกวันๆ ซึ่งอันนี้ฟังดูมีเหตุผล ลองนึกถึงความคิดพิมพ์เดียวอย่างอื่นที่เรามี อันนี้ประสบการณ์ตรงตอนผมอยู่เมกา เดินๆ อยู่ดึกแล้วถ้ามีคนดำเดินผ่านก็จะรู้สึกขนลุกประหลาด เพราะว่าเรามีความคิดพิมพ์เดียวติดหัวมาว่า คนดำน่ากลัว อาจจะเป็นโจรมาปล้นเราก็ได้ ทั้งๆที่ผมแทบไม่ค่อยได้พบปะคนดำมากขนาดนั้นก่อนมาเมกา แล้วได้ความคิดนี้มาจากไหนล่ะ ก็จากหนังฝรั่งที่ดูๆกันมานั่นแหละ ผู้ร้ายมักจะเป็นคนดำน่ากลัวๆ เราก็หยิบความคิดนี้มา แต่ว่าถ้ามาดูตามสถิติแล้ว จริงๆ สถิติคนดำที่เป็นอาชญากรนั้นสูงกว่าคนขาวในบางพื้นที่ในบางเมืองของเมกา เพราะฉะนั้นที่จริงก็อาจจะดีก็ได้ที่เราสร้างความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ขึ้นมา

ฟังมาทั้งหมดนี้แล้วสรุปว่าไงกันล่ะ สรุปว่าความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้มันดีหรือไม่ดี ลองกลับคิดถึงหัวข้อที่เราพูดถึงเมื่อตอนที่แล้ว คือคนเราพยายามจะเข้าใจพฤติกรรมและความคิดของคนอื่น แต่ว่าปัญหาก็คือคนที่เราไม่รู้จักน่ะมีเยอะกว่าคนที่เรารู้จักมากๆ ความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นได้ในระดับนึง เพราะฉะนั้นมันคือความคิดทางลัดนั่นเอง ง่าย สะดวก รวดเร็ว ลองคิดถึงสถานการณ์ว่าเดินคนเดียวเปลี่ยวๆ แล้วเห็นคนดำเดินสวนมา ความคิดเราก็คงแบบ โอ้เฮ้ย มันจะปล้นตูเปล่าเนี่ย ต้องระวังหน่อยละวุ้ย ตรงนี้แหละที่การที่เราพยายามเข้าใจความคิดของคนอื่นอาจช่วยให้เราพ้นภัยได้ แต่ว่ามันยุติธรรมกับคนดำมั้ยที่ต้องถูกคิดในแง่นี้ตลอดเวลา คนเมกาเค้าพยายามต่อต้านความคิดพิมพ์เดียวติดหัวพวกนี้อย่างมากก็เพราะอย่างงี้นั่นเอง

ความคิดพิมพ์เดียวยังทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคมอีก อย่างเช่นคนมีความคิดติดหัวว่าผู้ชายจะต้องเก่งวิทย์และคณิตมากกว่าเด็กผู้หญิง ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ก็คือ

เด็กผู้หญิงได้ความคิดติดหัวนี้มา เสร็จแล้วเลยไม่สนใจวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ครูก็ไม่สนใจพยายามส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงหันมาเรียนเลขกับวิทย์กันเยอะ เด็กผู้หญิงก็เลยไม่เก่งเลขกับวิทย์ เด็กรุ่นต่อมาก็เลยได้เห็นตัวอย่างแล้วสืบความคิดว่าเด็กผู้หญิงไม่เก่งเลขกับวิทย์มาอีก แล้วก็วนต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ ผู้หญิงก็เลยไม่สนใจเลขกับวิทย์มากเท่าเด็กผู้ชาย แล้วก็รู้ๆกันอยู่ว่าเลขกับวิทย์นั้นทำให้ได้งานทำที่ดีกว่า จ่ายเยอะกว่า ผู้ชายก็เลยดูเหมือนจะมีความสามารถมากกว่าผู้หญิงทั้งๆที่อาจจะไม่จริงทั้งๆที่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แน่ชัดว่าผู้ชายเก่งเลขกว่าผู้หญิงจริง (เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากซึ่งผมจะให้เขียนหนึ่งตอนเต็มเกี่ยวกับเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป) อันนี้แหละที่ความคิดพิมพ์เดียวเริ่มสร้างปัญหาสังคม

ผมมีอีกประสบการณ์นึงเกี่ยวกับความคิดพิมพ์เดียวเนี่ยแหละ ตอนเรียนไฮสกูลที่นี่ ผมเรียนเลขได้ดีกว่าเพื่อนฝรั่งแถวนั้น เพื่อนมันก็แซวว่า อื้อ แน่ล่ะแกคนเป็นเอเชียนิ่ก็ต้องเก่งเลขมากกว่า อื่ม... เหมือนจะเป็นคำชม แต่ว่าผมอยากจะตวาดไปว่า เฮ่ยข้าเก่งเลขกว่าแก เพราะตัวข้าเองไม่เกี่ยวกับว่าข้าเป็นคนเอเชียหัวดำ ข้าเก่งกว่าแกเพราะข้าฉลาดกว่า ไม่ขี้เกียจตัวเป็นขนเหมือนแก ... ความคิดพิมพ์เดียวบางทีเหมือนจะเป็นคำชมได้ แต่ว่ามันก็น่ารำคาญเพราะเหตุนี้นั่นเอง

คนเมกันพยายามจะปราบความคิดพิมพ์เดียวพวกนี้ออกไป แต่กลายเป็นว่าคนกลับเอาไปคิดเงียบๆ เพราะว่าถ้าพูดออกไปแล้วจะถูกด่า กลายเป็นว่าเอาปัญหาไปเก็บไว้ใต้พรมอีก พวกนักจิตวิทยาเลยสร้างเกมขึ้นมาเพื่อศึกษาเจตคติโดยนัย(ความคิดพิมพ์เดียวที่ถูกปัดไปไว้ใต้พรม) เป็นเกมสั้นๆ ที่สามารถลองเล่นดูได้ ก่อนจบก็เอาไปลองเล่นดูละกัน เกมนี้เรียกว่าการทดสอบความเชื่อมโยงโดยนัย เป็นภาษาไทยซะด้วยลองเล่นดูครับ แล้วจะอธิบายตอนหน้าว่ามีอะไรสนุกๆ เกิดขึ้นบ้างตอนที่ให้คนดำลองเล่นเกมนี้เพื่อดูเจตคติโดยนัยเกี่ยวกับคนดำกันเอง

ป.ล. โทษทีตอนนี้แอบยาวอีกแล้ว ตอนหน้าจะพยายามให้กะทัดรัด ตัดความกว่านี้ละกัน

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ยาวไปนะ ยังอ่านไหวๆ

    มีพี่ที่คณะทำเรื่องเด็กเลือกของเล่นเหมือนกัน แต่เป็นเด็กอนุบาลแล้วอ่ะ
    อิทธิพลอื่นๆ เริ่มส่งผลไม่น้อยอยู่ คงไม่น่าสนเท่าเด็กสองขวบ

    ตอบลบ
  2. ไม่เห็นยาว
    เดี๋ยวลองตามลิงค์ไปดูดีกว่า..

    ตอบลบ