วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ห้าเจ้าพ่อ ตอนสอง

รู้สึกว่าตอนที่แล้วแอบรวบรัดตัดความไปนิดนึงว่าจู่ๆจับพลัดจับผลูมาเป็นห้าเจ้าพ่อ หรือชื่อตามหนังสือเรียกว่าองค์ประกอบทั้งห้า (Big Five หรือ Five Factors) ตอนนี้จะขอถอยหลังกลับนิดนึงครับ กลับไปยุคที่นักจิตวิทยาเริ่มหยิบๆคำจาก 17,000 คำมาย่อยๆ ให้มันเป็นเหลือน้อยลง แล้วทำแบบทดสอบขึ้นมา แบบทดสอบก็ถามง่ายๆว่า ในแต่ละคำต่อไปนี้ คุณคิดว่าตรงกับบุคลิกภาพของคุณมากแค่ไหน เพื่อจะทดสอบว่าแบบทดสอบน่าเชื่อถือได้แค่ไหนก็ต้องให้ลองทำแบบทดสอบหลายๆครั้ง แล้วดูว่าผลออกมามันเหมือนเดิมรึเปล่า แต่ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้สิ เพราะว่าสมมติเราทำแบบทดสอบไปแล้ว ให้ทำอีกทีก็แอบจำคำตอบได้ ผลออกมาก็ต้องเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นวิธีที่นักจิตวิทยาบุคลิกภาพชอบมากคือให้เพื่อนฝูง เจ้านาย พ่อแม่ จิตแพทย์ประจำตัว ลองทำแบบทดสอบด้วย แล้วดูว่าผลออกมาตรงกับเจ้าตัวมั้ย แล้วก็ลองทำแบบนี้กับคำหลายๆกลุ่ม ตาสี ตาสา ช่างก่อสร้าง แม่ค้าตลาด นักเรียน ทหาร ตำรวจ และอื่นๆ อีกมาก นักจิตวิทยากลุ่มนี้เก็บข้อมูลมาเป็นตั้งๆ เยอะๆ ทีเดียว

อื่มตอนนี้มีข้อมูลเยอะแยะใส่ในคอมพิวเตอร์ (เทคโนโลยีใหม่ของยุค) แล้วทำยังไงต่อล่ะ มีนักจิตวิทยาอีกสาขาที่เรียกว่า นักจิตวิทยาเชิงคำนวณ (Quantitative psychologists) ที่คอยคิดเทคนิควิธีทางสถิติที่จะมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทางจิตวิทยาโดยเฉพาะ มีนักจิตเชิงคำนวณกลุ่มนึงคิดค้นวิธีที่ชื่อว่า การวิเคราะห์องค์ประกอบแฝง (Factor analysis) เป็นวิธีการที่ใช้พวกทฤษฎีเมทริกซ์ (Matrix theory) ลองยกตัวอย่างดีกว่าว่านักจิตบุคลิกภาพเอามาใช้วิเคราะห์ข้อมูลกองเบ้อเริ่มยังไง

ไอเดียแรก ก็คือคนมีความหลากหลาย คนแต่ละคนไม่เหมือนกัน(คนมีบุคลิกภาพเป็นของตัวเอง) เราอยากรู้ว่าคำถามไหนสามารถช่วยแยกแยะคนออกจากกันได้ ถ้าแบบสอบถามแยกแยะคนไม่ได้ แล้วจะให้ทำไปทำไมตัวเองนั่งทำเองอยู่บ้านก็ได้คำตอบเหมือนกับให้คนอื่นทำ ทั้งๆที่บุคลิกภาพของเรากับของคนอื่นต่างกัน

ไอเดียที่สอง ก็คือความหลากหลายของคนสามารถแยกออกมาได้เป็นองค์ประกอบย่อยๆ เราอยากรู้ว่าคำถามไหนแยกแยะคนในมิติเดียวกัน ว่าง่ายๆ ก็คือคำถามที่แยกคนในมิติเดียวกันมีองค์ประกอบของความหลายหลายเดียวกัน เช่น ถ้ามีสี่คำถาม

คุณชอบทักษิณมากน้อยแค่ไหน
คุณชอบกินไอติมมากน้อยแค่ไหน
คุณชอบกินคุกกี้มากน้อยแค่ไหน
คุณชอบสนธิมากน้อยแค่ไหน

คำถามที่ 1 กับ 4 มีอำนาจในการแยกแยะคนในมิติของการเมือง เพราะดูคำตอบแล้วเราแยกแยะคนในองค์ประกอบของความคิดเห็นทางการเมืองของคนกลุ่มนั้น
คำถามที่ 2 กับ 3 มีอำนาจในการแยกแยะคนในมิติของขนมหวาน เพราะดูคำตอบแล้วเราแยกแยะคนในองค์ประกอบของความคิดเห็นทางความหวานของคนกลุ่มนั้น


นั่นคือสองไอเดียหลักของการแยกองค์ประกอบ เทคนิคนี้ช่วยให้เรารู้ว่าคำถามไหนบ้างมีอำนาจในการแยกแยะคนในมิติเดียวกัน แล้วก็สามารถแยกแยะคนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าใช้เทคนิคนี้กับข้อมูลที่ได้มาจากการให้คนตอบแบบสอบถามทางจิตวิทยาที่เราเก็บมา เราก็จะรู้ว่าคำศัพท์คำไหนบ้างในแบบสอบถามที่แยกแยะคนในมิติเดียวกับ มีอำนาจในการแยกแยะคนมากแค่ไหน

ปรากฎว่าจากคำศัพท์ตั้งเยอะตั้งแยะเราสามารถแยกออกมาได้เป็นห้าองค์ประกอบที่สามารถอธิบายความหลากหลายของบุคลิกภาพคนได้ ห้าองค์ประกอบนั้นก็คือห้าเจ้าพ่อที่เรารู้ๆกันนั่นเอง จากนั้นมาก็มีนักจิตหลายกลุ่มที่ทดสอบแบบสอบถามทางจิตวิทยาของตัวเองแล้วลองใช้การแยกองค์ประกอบ แล้วก็ได้ห้าเจ้าพ่อ ทำกี่ทีๆ กี่แบบก็ได้ห้าเจ้าพ่อ ทำให้เรารู้ว่าองค์ประกอบหลักๆของบุคลิกภาพคนสามารถแยกออกมาได้ห้าองค์ประกอบครับผม

อื่มฟังดูดี แต่ว่าทุกอย่างในโลกมีข้อเด่น ข้อด้อย ตอนหน้ามาดูกันว่าทำไมคนถึงใช้ห้าเจ้าพ่อกันเยอะแยะ แต่ว่าไม่เยอะขนาดนั้น

1 ความคิดเห็น:

  1. เดี๋ยวนี้ไม่ขึ้นใน facebook แล้วหรอเต้
    เขียนอีกๆ จะรออ่าน

    ตอบลบ