วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ยอดชายนายซิมบาโด้ ตอนหนึ่ง


ถ้าให้คนไทยบอกชื่อนักจิตวิทยาที่รู้จักมาสักคนนึง คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่ก็คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ หมอนี่ดังมากเพราะว่าสร้างทฤษฎีทะลึ่ง สะดุ้งได้สะใจ แล้วก็นักสะกดจิตด้วย ว่าง่ายถ้านึกถึงนักจิตวิทยาก็จะนึกถึงคนนี้ก่อนเลย (อื่มดร.วัลลภก็เป็นนักจิตวิทยา แต่ตัวผมเองยังไม่รู้เลยว่าเค้าทำงานด้านไหน) โอเค แต่ถ้าถามคนเมกัน มันก็จะตอบว่าฟรอยด์เหมือนกัน แต่ว่าล่าสุดนี้คนจะเริ่มตอบว่า ซิมบาโด้ นายซิมบาโด้หน้าตาเหมือนรูปข้างล่างนี้ เคยสอนอยู่แสตนฟอร์ด อยู่พักใหญ่ๆ แต่ว่าเกษียรไปเรียบร้อยแล้ว ออกไปตอนผมเข้าแสตนฟอร์ดพอดี หมอนี่จู่ๆ ดังขึ้นมาได้เพราะหลายสาเหตุอยู่ มาดูกันเลยดีกว่าว่าเพราะอะไร

ดังเพราะการทดลอง

ตอนที่แล้วเราค้างไว้เรื่องจิตวิทยาความชั่ว คนทำความชั่วเพราะอะไร นายมิลแกรมก็บอกให้โลกรู้แล้วว่าคนมักทำชั่วตามที่บุคคลที่อำนาจบอกไว้ ทั้งๆที่คนนั้นอาจจะไม่ได้มีอำนาจเลยก็ตามที นายซิมบาโด้ มาขยายต่อ (โดยไม่ค่อยได้ตั้งใจเท่าไร) มาฟังการทดลองที่ทำให้นายซิมบาโด้ดังมากในเมกา หมอนี่เป็นนักจิตวิทยาในยุคนั้นที่ชอบจับคนมาทำอะไรแปลกๆ แต่ก็มาสรุปเอาทีหลังว่าการทดลองที่ทำ ทำไปทำไม ไม่มีการวางแผนวางแปลนอะไรทั้งนั้น มีอยู่การทดลองนึง การทดลองนี้ชื่อว่าการทดลองเรือนจำแสตนฟอร์ดซึ่งเป็นการทดลองที่ดังมาก นายซิมบาโด้ออกไปประกาศหาอาสาสมัครมาเข้าร่วมการทดลองนี้ โดยให้อาสาสมัครเป็นคนคุมคุกหรือไม่ก็นักโทษ อาสาสมัครไม่มีสิทธิเรือกว่าจะเป็นอะไร นายซิมบาโด้จะจัดเองว่าใครเป็นใคร เริ่มการทดลองโดยการจ้างตำรวจปลอมไปจับอาสาสมัครที่จะเข้าร่วมการทดลองจากบ้าน เหมือนจริงเลย จับสั่งกรงขัง มีเสื้อผ้านักโทษ มีหมายเลขผุ้ต้องขังเรียบร้อย ส่วนคนคุมคุกนั้นนายซิมบาโด้ ก็จัดหาเสื้อคนคุมคุก แว่นตาดำ กระบอง และอุปกรณ์ทุกอย่าง แล้วก็อนุญาตให้คนคุมคุกสามารถกลั่นแกล้งนักโทษได้ตามสมควร สร้างบรรยากาศให้เหมือนว่าชีวิตนักโทษอยู่ภายใต้ระบบของเรือนจำ ระบบของกฎหมาย กฎหมู่ของคุก ผลก็คือ คนคุมคุกกลั่นแกล้งนักโทษสารพัดอย่าง ให้นอนหนาวโดยไม่มีผ้าห่ม ไม่ให้ใส่เสื้อผ้านอน ไม่ให้เอาถังฉี่ไปเททิ้ง ไม่ให้ขี้ไม่ให้เยี่ยว นักโทษก็เริ่มประท้วงด้วยวิธีต่างๆ นักโทษบางคนก็เริ่มออกอาการบ้า เลยถูกเชิญให้ออกจากการทดลอง มีอยู่วันนึงนักโทษทลายคุก คนคุมคุกเลยต้องสร้างคุกขึ้นมาใหม่เลยโมโหกลั่นแกล้งนักโทษหนักขึ้นไปอีก ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเวลาแค่หกวัน จากนั้นการทดลองก็ถูกยกเลิกทันทีทั้งๆที่กะว่าจะปล่อยไว้สองอาทิตย์ จับคนมาใส่ชุดนักโทษปลอมๆ ในคุกปลอมๆ มาเกือบอาทิตย์สรุปอะไรได้บ้างล่ะเนี่ย นายซิมบาโด้ขอสรุปว่าสถานการณ์ และบรรยากาศที่สร้างขึ้นสามารถเปลี่ยนชาวบ้านธรรมดาๆ มาเป็นนักคุมคุกใจโหดได้ วิธีที่จะทำให้คนกลายเป็นคนชั่วไปได้ มีอยู่อย่างน้อยสามวิธี

วิธีแรก คือ ทำให้คนไม่ใช่คน อื่ม...ยังไงกันล่ะ ตัวอย่างเช่นการทดลองของนายมิลแกรมจากตอนที่แล้ว (ถ้านึกไม่ออกให้กลับไปอ่านช็อต) เราสามารถวัดได้ว่าคนจะกระทำรุนแรงกับอีกคนนึงได้มากน้อยแค่ไหนโดยดูที่ไฟช็อตแรงสุดที่เท่าไรโดยเฉลี่ย แต่ในสถานการณ์นี้คนคุมการทดลองแกล้งพูดให้คนกดปุ่มช็อตได้ยินว่า นักเรียนที่อยู่อีกห้องนึงน่ะเหมือนหมาเลย เท่านั้นแหละครับ ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น นักเรียนถูกช็อตแรงกว่าถ้าเทียบกับสถานการณ์ปกติที่คนคุมการทดลองไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับนักเรียน ในการทดลองคุกแสตนฟอร์ดก็มีการใช้แผนนี้เหมือนกัน คนคุมคุกด้วยกันเริ่มเรียกแทนนักโทษว่า มัน หรือ เรียกว่าไอ้นี่ ไอ้นั่นแทนที่จะเรียกว่าคนนี้หรือคนนั้น บวกกับนักโทษแต่ละคนไม่ได้ถูกเรียกตามชื่อ ถูกเรียกตามหมายเลข ยิ่งทำให้ห่างจากความเป็นคนออกไป

วิธีที่สอง คือ ทำให้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร (พยายามแปลมาจาก deinviduation) ไม่รู้เรื่องทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษเลย มาดูตัวอย่างกันดีกว่า การทดลองนึงให้เด็กประถมจับกลุ่มเล่นกัน แล้วลองสังเกตดูว่าเด็กตีกัน หรือเล่นเจ็บๆกันกี่ครั้ง เสร็จแล้วจับเด็กใส่เสื้อผ้าแปลกๆไป แล้วที่สำคัญให้ใส่หน้ากากทุกคน จะได้ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แล้วนับอีกว่าตีกันกี่ครั้ง เล่นสักพักให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดเดิมแล้วก็เอาหน้ากากออก แล้วปล่อยให้ไปเล่น นับอีกว่าตีกันกี่ครั้ง ปรากฎว่าตอนใส่หน้ากากเด็กตีกันเยอะว่าตอนไม่ใส่หน้ากากเยอะมาก แผนนี้ก็ถูกใช้ในคุกแสตนฟอร์ด โดยคนคุมคุกจะใส่แว่นตาดำใหญ่ๆตลอด แล้วก็ไม่เคยบอกชื่อให้นักโทษรู้เลย

วิธีที่สาม คือ ทำให้คนสั่งเหมือนมีอำนาจสั่งการ ไอเดียนี้ใกล้ๆกับการทดลองของมิลแกรมจากตอนที่แล้ว แต่ในการทดลองนี้นายซิมบาโด้คือเป็นคนสั่งการเอง คนคุมคุกถูกซิมบาโด้ด่าเป็นระยะๆ ว่าไม่ยอมทำให้สถานการณ์ในคุกสงบ คนคุมคุกเลยเหมือนแค่ทำตามคำสั่งของคนที่สูงกว่าอีกที สาเหตุที่แผนนี้มันใช้ได้ก็คือว่า ความรับผิดชอบจะตกอยู่กับคนที่อำนาจสูงกว่า คนคุมคุกเลยจะทำบ้าอะไรก็ได้ เพราะก็แอบรู้ในใจว่าถ้ามันมีอะไรผิดประหลาดเกิดขึ้นจริงๆ เดี๋ยวซิมบาโด้ก็จะรับผิดชอบเอง

เอาล่ะตอนนี้เราเริ่มรู้รากของความชั่วกันแล้ว ตอนหน้ามาดูกันต่อว่า ทำให้การทดลองนี้ทำไมมันถึงดังเป็นพิเศษ

ป.ล. ขออภัยที่โพสต์ช้ามาก เพราะว่าคนเขียนป่วย แล้วก็กำลังย้ายบ้าน (ในเวลาเดียวกัน)

1 ความคิดเห็น:

  1. เคยฟังงานวิจัยชิ้นนี้จากอ.ที่สอนสังคมวิทยาสมัยเรียนป.โท สักสิบปีมาแล้ว ขอบคุณที่ทำให้ได้ทบทวนความรู้เดิมอีกครั้งค่ะ

    ตอบลบ