วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

อุ่น

ถ้าวันนึงมีคนมาเคาะประตู แล้วบอกว่า พี่ครับ ช่วยเลี้ยงข้าวผมหน่อยหิวเหลือเกิน คุณก็อาจจะอะหยวนๆ สงสารมันเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
แต่พออีกวันนึง มาเคาะประตูอีก แล้วบอกว่า พี่ครับ ช่วยเลี้ยงข้าวผมสามมื้อต่อวันหน่อยนะครับ แล้วก็หาที่นอนให้ด้วย ขอเสื้อผ้าให้ด้วย แล้วก็ขอหนังสือให้อ่าน เอิ่ม แต่พี่อาจจะไม่รู้ว่าผมชอบเสื้อผ้าแบบไหน ชอบอ่านหนังสืออะไร งั้นผมขอตังค์ใช้แทนละกันนะครับ ของี้สักยี่สิบปีก็พอครับ
อุ้ย..งง... เอางี้เลยหรอ

ที่จริงฟังดูแล้วไม่ค่อยน่าแปลกใจสักเท่าไรนะเนี่ย พอเกิดมาเราก็เคาะประตูขอพ่อแม่เราแบบนี้ทั้งนั้นเลย ผมคิดทีไรก็ยังงงอยู่ดีว่าผมจะทำใจเลี้ยงคนอีกคนนึงยี่สิบกว่าปีได้ยังไง (อาจจะมากกว่ายี่สิบปีด้วยซ้ำถ้าลูกขี้เกียจหางานทำ)

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตอนเกิดมาต้องการความดูแลจากใครสักคนนึง ไม่เหมือนเต่าที่แม่ไข่ไว้ตามหาดแล้วก็แฉล็บเดิน เชิดหน้าหนีไม่สนใจ

หื่ม... แปลกจังเรามักจะนึกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่เหนือกว่าสัตว์ชนิดอื่น แต่ว่าทำไมเวลาเราเกิดมาแล้วทำไมถึงไม่มีความสามารถที่จะเอาตัวรอดด้วยตัวเองได้ล่ะเนี่ย ที่จริงแล้วการที่เกิดมาช่วยตัวเองยังไม่ได้นี่แหละ ที่ทำให้มนุษย์น่าสนใจกว่าเต่่ากว่าปลา

คนเราเกิดมาอย่างแรกที่เราต้องการคือความสนใจจากพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ก็ไม่อยู่ก็ร้องไห้ แหกปาก แต่ว่าหน้าที่ของนักจิตวิทยาคือพยายามศึกษาว่าอะไรเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมที่เราเห็น ทำไมถึงร้องไห้แหกปากอย่างงั้นล่ะเนี่ย

อื่ม... ลองคิดกันง่ายๆ เด็กอาจจะคิดว่า อะจ้าก ถ้าพ่อแม่หนีไปฉันตายชัวร์เลย จะไปหานมกิน ข้าวกินยังไงน่ะเนี่ยก็เลยกลัว หื่ม... จริงเหรอเนี่ย มีนักจิตวิทยากลุ่มนึงสงสัยว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้คนยึดติดผูกพันกับพ่อแม่พี่เลี้ยงตอนยังเป็นเด็ก ทฤษฎีที่นักจิตพวกนี้ตั้งขึ้นมาเรียกว่าทฤษฎีการยึดติดผูกพัน (Attachment Theory) การทดลองแรกๆที่เกี่ยวกับทฤษฎีนี้มาจากห้องแล็บของนายแฮรี ฮาร์โลว (Harry Harlow) นายฮาร์โลวคิดว่าถ้าลองให้เด็กเลือกอยู่กับพ่อแม่ที่ให้แต่อาหารอย่่างเดียว แต่ไม่ให้ความรักความอบอุ่นเช่นไม่กอด ไม่อุ้ม ไม่ห่มผ้าให้ กับพ่อแม่ที่ให้ความอบอุ่นอย่างเดียว แต่ไม่ให้อาหารเด็กจะเลือกแบบไหน และจะส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็กในอนาคตยังไง

นายฮาร์โลวก็เลยจับเด็กมาให้เลือกระหว่างพี่เลี้ยงสองคน คนแรกให้ผ้าห่ม กอดรัด ให้ความรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย ส่วนพี่เลี้ยงอีกคนป้อนนมให้อย่างเดียว เด็กจะเลือกแบบไหน เอ...ฟังทะแม่งๆ ถ้าทำงี้กับคนจริง ก็แย่เหมือนกันนะเนี่ย กฎหมายเรื่องการเอามนุษย์มาทดลองที่เมกามันเคร่งมาก การทดลองแบบนี้ผิดกฎหมาย ทำไปถูกขังคุก นายโบวลบีเลยใช้ลูกลิงแทน เพราะว่าลิงใกล้กับคนมาก มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เราศึกษาจากคนไม่ได้เพราะว่ามันโหดเกิน แต่ว่ากฎหมายปล่อยให้เราโหดกับลิงได้ เพราะฉะนั้นมีนักจิตบางกลุ่มที่ไม่ใช้คนในการทดลองเลยใช้ลิงเพื่อศึกษาคนนั่นเอง เดี๋ยวจะได้เห็นตัวอย่างอีกเยอะตอนพูดถึงประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience)

นายฮาร์โลวแย่งลูกลิงมาจากแม่จริงแล้วก็ฝากลิงไว้กับแม่เลี้ยงสองตัว แม่ตัวแรกทำมาจากผ้านุ่มๆซุกกอดแล้วก็รู้สึกอบอุ่นขยุ่นขยี้ ส่วนแม่อีกตัวทำจากลวดแต่ว่ามีขวดนมโผล่ออกมาทำให้เหมือนเต้านมลิง แต่ว่าแม่ทั้งสองตัวไม่ใช่ลิงแต่ว่าเอามาแต่งให้เหมือนลิง แบบรูปข้างล่าง



ผลการทดลองก็เห็นๆกันอยู่ในรุปครับลิงชอบแม่ที่ทำจากผ้ามากกว่า ถึงแม้ว่าบางทีจะแฉล็บไปขโมยนมจากแม่อีกตัวนึงบ้างเป็นระยะๆ แต่ว่าพอมีเสียงดัง มีอะไรกระทบกรงหน่อย เจ้าลูกลิงก็จะกระโดดหาแม่ที่ทำจากผ้าทันที พอแกล้งเอาแม่ที่ทำจากผ้าไปซ่อน ลูกลิงก็คลั่งหาแม่ร้องไห้ ดูดนิ้ว วิ่งพล่านหาแม่ เพราะฉะนั้นทำให้เรารู้ว่าลูกลิงยึดติดผูกพันกับกับแม่ที่ให้ความอบอุ่น เพราะฉะนั้นเราจึงแอบสรุปไปได้ว่า ตอนเราเด็กๆที่เรายึดติดผูกพันกับพ่อแม่ไม่ก็พี่เลี้ยงก็เพราะว่าเราได้รับความรัก ความอบอุ่น ไม่ใช่เพราะว่าพ่อแม่พี่เลี้ยงหาข้าวให้กินเพียงอย่างเดียว

นายฮาร์โลวยังไม่หยุดแค่นั้น นายคนนี้ยังสงสัยต่อไปอีกว่าทำไมลูกลิงถึงอยากได้ความรักความอบอุ่น ไม่ได้ก็ไม่ตายนิ่ แต่ว่าถ้าไม่ได้อาหารนี่ตายแน่นอน นายฮาร์โลวเลยเอาลิงมาอยู่กับแม่ที่ทำจากลวดเหล็กแล้วมีขวดนมติดไว้ แล้วมาดูว่าตอนโตมาแล้วจะเป็นยังไง

ปรากฎว่าลูกลิงที่ขาดความอบอุ่นแต่เล็กๆ จะไม่ค่อยไปเล่นกับลิงตัวอื่นๆ ขี้กลัว เห็นอะไรก็จะหวาดระแวงไปหมด กินข้าวก็ไม่ค่อยลง แล้วก็ท้องเสียบ่อยกว่าลิงปกติด้วย

ผลการทดลองจากนายฮาร์โลวเป็นการทดลองแรกที่พิสูจน์ว่าความรัก ความผูกพันในวัยเด็กนั้นสำคัญมากต่อการที่เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต ผมคิดถึงการทดลองนี้ทีไรก็รู้สึกจั๊กจี๋ใจขึ้นมาทุกทีเลย รู้สึกว่าโชคดีที่มากเกิดเติบโตมามีพ่อแม่รักผมประคบประหงมอย่างดีมาโดยตลอดมาเลย แล้วลองนึกถึงเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าสิครับ เด็กเหล่านั้นได้กินข้าวบ้าง ไม่ได้กินบ้างรึเปล่า อันนี้ผมไม่ทราบ แต่ว่าสิ่งที่ชัดเจนคือ เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงหรือใครเลย ผลการทดลองนี้อาจจะช่วยสะท้อนว่าสังคมหยิบยื่นอะไรที่ขาดไปรึเปล่าสำหรับเด็กเหล่านี้

รักพ่อแม่มากๆนะครับ :)

1 ความคิดเห็น: