วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

คัมภีร์ชีวิต

ถ้าโดเรมอนให้วุ้นแปลภาษาที่ทำให้อ่านออกเขียนได้อีกหนึ่งภาษาตลอดกาล จะขอภาษาอะไร

ภาษาจีน

ทำไมถึงภาษาจีน จะไปจีบหมวย หรือหาติ่มซำกินหรืออะไร แล้วมาเกี่ยวกับบุคลิกภาพที่พูดถึงตอนที่แล้วยังไงตามอ่านกันเลย

เรารู้กันมาแล้วว่าเด็กเริ่มมีนิสัยบุคลิกภาพตั้งแต่ยังเล็กๆ แล้ว อื่ม..เด็กได้บุคลิกภาพพวกนี้มาจากไหนกันล่ะ มีอยู่สองทฤษฎีด้วยกัน ทฤษฎีแรก บุคลิกภาพนั้นได้มาตั้งแต่ก่อนเกิด ทฤษฎีที่สองบุคลิกภาพนั้นได้มาตอนหลังเกิด

ทฤษฎีแรก ว่ากันง่ายๆ คือ บุคลิกภาพนี่ได้มาจากกรรมพันธุ์ แปลอีกที แปลว่า บุคลิกภาพเนี่ยได้มาจากพ่อแม่ ลองคิดง่ายๆ ก็คือลูกมักจะนิสัยคล้ายๆ พ่อแม่ แล้วก็พี่น้องก็นิสัยคล้ายๆ กัน อื่ม ฟังดูดี เมคเซนส์ นิสัยพ่อแม่มาติดอยู่กับลูกได้ยังไงล่ะเนี่ย มันต้องมีอะไรสักอย่่างที่ซีร็อกซ์บุคลิกภาพของพ่อแม่แล้วก็แปะๆ รวมกันกลายเป็นบุคลิกภาพของเรา หลายคนคงรู้แล้วว่าวิชาที่ศึกษาว่า อะไรที่เป็นคนซีร็อกส์พ่อแม่แล้วมาแปะใส่เรา วิชานี้เรียกว่าพันธุศาสตร์นั่นเอง ขออธิบายง่ายๆ ละกัน ถ้าคนไหนรู้แล้วก็ข้ามไปซะ

ผมอธิบายพันธุศาสตร์ด้วยประโยคเดียวว่า

จีนคือตัวกำหนดว่าเด็กเกิดมาจะออกมาหน้าตา ตับไต ไส้พุง เป็นยังไง

พี่ชายคุณ กับคุณหน้าตาคล้ายๆ กันก็เพราะว่าจีนคล้ายๆกัน ลูกคุณกับลูกคนข้างบ้านหน้าตาไม่คล้ายกันก็เพราะว่ายีนไม่คล้ายกัน ง่ายๆ แค่นั้นเอง ลองนึกว่าไข่กับอสุจิผสมกันปุ๊บก็ให้คัมภีร์ขึ้นมากระบอกนึงซึ่งเรียกว่า จีโนม ให้นึกถึงคัมภีร์ในหนังกำลังภายใน คือเป็นม้วนยาวๆ มีตัวหนังสือจีนที่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง หน้าตาเป็นแบบนี้

ATGGTCCGATCGATCGCCGAGCTCGGATCGATCGAT...

ภาษาจีนที่ว่านี้ไม่ใช่ภาษาที่อาหมวย อาตี๋ อาม่า อาอี๊พูดกัน ภาษาจีนที่ว่าคือภาษาที่คัมภีร์จีโนมใช้ คิดว่าตัวหนังสือจีนพวกนั้นเปรียบได้กับ จีนที่อยู่ในตัวคน นั่นเอง (อะโหย เผอิญซะ) คัมภีร์นี้ไม่ได้สอนวิชาหมัดสะท้านฟ้า แต่ว่าคัมภีร์นี้บอกว่า นี่ๆ เอาเท้าไปติดกับขานะ ทำจมูกให้บี้ๆ ทำตาให้มีสองชั้น เอาตาไปติดกับหน้าอย่าเอาไปติดกับเอว คัมภีร์นี้คือพิมพ์เขียวของชีวิตที่กำลังจะเกิดมาใหม่นั่นเอง

อย่าคิดว่าคนเท่านี้ที่มีคัมภีร์สะท้านฟ้านี้ไว้ครอบครอง สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีเหมือนกันหมด ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบคัมภีร์จีโนมของสิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิดเลย รวมถึง รวมถึง สตรอเบอร์รี
นักพันธุกรรมก็คิดไปว่า เอ ตอนสมัยอยู่มัธยมเคยไปจิ๊กเอาสมุดพกตัวเอง แล้วมาแก้คะแนน สุดท้ายปลายปีคะแนนก็เลยพุ่งกระฉูด ถ้าเกิดเอาคัมภีร์จีโนมของสตรอเบอร์รีมาแก้ทำให้ลูกเท่าบ้าน โตกลางทะเลทรายได้ ก็คงดีได้อร่อยกันทั้งปี นักพันธุกรรมก็เลยหาวิธีถอดคัมภีร์จีโนมสตรอเบอร์รีแล่้วแอบแก้ ปรากฎว่าสตรอเบอร์รีก็ออกมาลูกเท่าบ้าน แล้วก็โตได้ทุกฤดูจริงๆ นี่คือที่มาของอาหารที่ถูกดัดแปลงทางพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอ (Genetically modified organism)

เพราะฉะนั้นคัมภีร์จีโนมนั้นกำหนดทุกชีวิต ถ้าเราอ่านภาษาจีนออก เขียนภาษาจีนได้ เราสามารถควบคุมทุกชีวิตบนโลกนี้ได้ เพราะฉะนั้นโดเรมอนให้วุ้นแปลภาษามา นักพันธุศาสตร์จะขอตะครุบเรียนภาษาจีน ตอนนี้เราพอจะอ่านจีโนมได้บ้างแล้ว

อื่มมีอะไรให้พูดได้อีกเยอะทีเดียวเกี่ยวกับคัมภีร์จีโนม แต่ว่าขอยกไปพูดตอนหลังๆที่พูดถึงประสาทวิทยาศาสตร์ละกัน (เหะ แอบเรียนสาขานี้อยู่ ไม่แอบพูดถึงก็ไม่ได้)

กลับมาที่บุคลิกภาพของเรากับพ่อแม่เรา คัมภีร์ของเราคือ ซีร็อกซ์คัมภีร์ของแม่ส่วนนึง ของพ่อส่วนนึงแล้วเอามาแปะๆใส่คัมภีร์เรา โดยที่เครื่องซีร็อกซ์ไม่ค่อยชัดบางทีก็ซีผิดซีถูก ตัวหนังสือหายไปบ้าง เพราะฉะนั้นเราเลยไม่ค่อยเหมือนกับพ่อแม่เราทุกประการก็เพราะว่าเครื่องซีร็อกซ์มันแอบเพี้ยนนั่นเอง นักจิตวิทยาบุคลิกภาพส่วนนึงเชื่อว่า บุคลิกภาพนี่ก็ถูกระบุไว้ในคัมภีร์เหมือนกัน เอ แต่จะไปบอกคนอื่นได้ยังไงว่าจริง ในเมื่อเราอ่านคัมภีร์นี้ไม่ค่อยออก นักจิตวิทยาใช้ทฤษฎีที่ว่า คัมภีร์ของฝาแฝดแท้ (ฝาแฝดที่หน้าตาเหมือนกับเปี๊ยบ) จะเหมือนกันเปี๊ยบถ้าเครื่องซีร็อกซ์ไม่ซีเพี้ยนไปสักนิดเลย ถ้าฝาแฝดแท้มีอะไรที่เหมือนกันเกือบทุกประการแสดงว่าลักษณะนั้นถูกกำหนดโดยจีนนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น ถ้าแฝดฝานึงชอบสูบบุหรี่ แฝดอีกฝานึงมักจะชอบสูบบุหรี่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นแสดงว่าต้องมีจีนที่คอยกำหนดว่าคนๆนั้นชอบสูบบุหรี่ หรือชอบกลิ่นบุหรี่ หรือชอบนิโคตินอะไรก็ว่าไป
อีกตัวอย่างนึงที่น่าสนใจกว่า ถ้าแฝดฝานึงมีลักษณะนิสัยการเกาะติดแบบไม่เหนียว (ถ้าไม่เข้าใจแปลว่าอะไร ให้ไปอ่านต่อนที่แล้ว) แฝดอีกฝานึงมีโอกาส 70% ที่จะมีลักษณะการเกาะติดแบบไม่เหนียวเช่นกัน แต่ถ้าเป็นพี่น้องกันเฉยๆ หรือเป็นแฝดคนละฝา (เกิดจากไข่คนละใบ หน้าตาไม่เหมือนกัน อาจจะไม่ใช่เพศเดียวกัน) จะมีโอกาสแค่ 50% ที่จะมีลักษณะเกาะติดแบบไม่เหนียวเช่นเดียวกับพี่หรือน้อง แสดงว่ากรรมพันธุ์มีผลต่อบุคลิกภาพลักษณะนิสัย

เขียนๆไปชักยาว จบแค่ละกัน

อ้อ สวัสดีปีใหม่ครับ ขอบคุณที่ติดตามอ่าน

1 ความคิดเห็น: